นายกฯมอบกฤษฎีกาดูลต.โมฆะรอกกต.ถกทุกพรรคปมพรฎ.
นายกรัฐมนตรี มอบกฤษฎีกาดูคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ กรณีเลือกตั้งโมฆะ ขอ 'สุเทพ' อย่าขวาง ช่วยกันหาทางออก ลดขัดแย้ง ขณะรอ กกต. ถกทุกพรรคในการออกพระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้งครั้งใหม่
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ระบุว่า รอคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญอย่างเป็นทางการก่อน ในกรณีชี้ให้การเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 2 กุมภาพันธ์ เป็นโมฆะ โดยให้คณะกรรมการกฤษฎีกาดูข้อกฎหมายและรายละเอียด ขณะที่ส่วนตัวมองว่า ขณะนี้คนให้ความสำคัญกับประชาธิปไตย และควรจะนึกถึงความยุติธรรม เชื่อว่าทุกกลุ่ม ทุกสี ล้วนแต่รักประเทศ แต่ถ้าช่วยการรักษาความเสมอภาค จะช่วยหาทางออกลดความขัดแย้งในประเทศลงได้ ส่วนการที่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ยืนยันขัดขวางการเลือกตั้ง นั้น ตนก็ขอให้ทุกฝ่ายช่วยกันหาทางออก ช่วยกันลดความขัดแย้ง เพราะการขัดขวางไม่ช่วยให้เกิดประโยชน์ใดๆ ทั้ง ภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ ไม่มีความก้าวหน้า
สำหรับกรณีที่พรรคเพื่อไทย ประกาศแต่งชุดดำ 7 วัน เพราะไม่ยอมรับคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญนั้น มองว่าทุกคนหวงแหนประชาธิปไตย แต่ก็ต้องอยู่บนหลักความถูกต้องตามครรลอง ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องชี้แจงต่อสังคมให้ได้ ทั้งนี้ต้องรอมติของพรรคเพื่อไทย ว่าจะลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งใหม่หรือไม่ ซึ่งตนอยากเห็นทุกพรรครักษาประชาธิปไตยให้เป็นไปตามกติกา เพื่อให้อำนาจกับประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจ ทั้งนี้ ให้ กกต.เป็นแม่งานในการเชิญทุกพรรคการเมือง มาหารือในการออกพระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้งในครั้งใหม่ ซึ่งข้อสรุปจะออกมาอย่างไรนั้น ต้องเป็นที่ยอมรับและเห็นตรงกัน แต่อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรี ปฏิเสธตอบคำถามว่า เสียดายงบประมาณกว่า 3,000 ล้านบาท ที่เสียไปกับ การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาหรือไม่ ก่อนจะเดินทางกลับ
กกต.เร่งดำเนินการออกพ.ร.ฎ.ใหม่โดยเร็ว
ภายหลังการประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง ร่วมกับที่ปรึกษาด้านกฎหมาย เพื่อกำหนดแนวทางการเลือกตั้งใหม่ หลังศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยให้การเลือกตั้ง ส.ส.เมื่อวันที่ 2 ก.พ.ที่ผ่านมา นั้น ว่า ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ล่าสุด นายศุภชัย สมเจริญ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง ได้แถลงระบุว่า กกต.ต้องเร่งดำเนินการ ให้มีการออกพระราชกฤษฎีกา กำหนดวันเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งใหม่ อย่างรวดเร็วที่สุด เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศ และให้มีรัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศ ตามกรอบของกฎหมาย ส่วนระยะเวลาในการกำหนดให้มีการเลือกตั้งใหม่ นั้น ยอมรับว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุไว้ชัดเจน ต่างจากปี 2549 ซึ่งมีความจำเป็นจะต้องหารือกับฝ่ายต่างๆ ในเรื่องนี้ โดยเฉพาะพรรคการเมือง
ทั้งนี้ เมื่อศาลวินิจฉัยว่า ปัญหาการจัดการเลือกตั้งนั้น เกิดจากการเลือกตั้ง ไม่ได้เป็นวันเดียวกันทั่วทั้งประเทศ ถือว่าขั้นตอนการที่รับสมัครไม่ได้มีปัญหา จึงไม่มีความจำเป็นต้องคืนค่าสมัครเข้ารับการเลือกตั้งให้กับทางผู้ลงสมัครเพราะการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 2 ก.พ.ถือว่าได้ยุติไปแล้ว