รัฐบาลอินโดชี้ขาดสัปดาห์หน้า ชะตากรรมผู้อพยพ โรฮิงญา
กระทรวงต่างประเทศอินโดนีเซีย เผยว่าจะตัดสินใจสัปดาห์หน้า ว่าจะทำอย่างไรกับชาวโรฮิงญา 193 คนที่โดยสารไปกับเรือ "เราต้องพิจารณาเรื่องนี้อย่างระมัดระวังเพราะเกี่ยวข้องกับหลายประเทศ" โฆษกกระทรวงต่างประเทศกล่าว พร้อมเสริมว่าชาวโรฮิงญาได้รับการดูแลอย่างดีที่ฐานทัพเรือซาบังในจังหวัดอาเจะห์ แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้พูดคุยกับสื่อ
สำนักข่าวเอพีรายงานถ้อยแถลงของนายฮัสซัน วิราจูดา รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย ผู้เปิดเผยเมื่อวานนี้ว่า จะปฏิเสธการให้สถานภาพผู้ลี้ภัยทางการเมืองแก่ผู้ลี้ภัย 193 คน จากพม่าและบังคลาเทศ ผู้ซึ่งปัจจุบันถูกควบคุมตัวไว้ที่ฐานทัพเรือซาบัง หลังจากพบเรือ
ของพวกเขาล่องลอยอยู่ในทะเลนอกจังหวัดอาเจะห์ ทางชายฝั่งตะวันออกของอินโดนีเซียเมื่อวันที่ 7 มกราคม และคนส่วนใหญ่ในกลุ่มบอกว่าเป็นชาวโรฮิงญา ชนกลุ่มน้อยผู้นับถือศาสนาอิสลามที่หลบหนีภัยจากพม่า โดยปัจจุบันมีชาวโรฮิงญาหลายหมื่นคนอาศัอยู่ใน
ค่ายผู้ลี้ภัยในบังคลาเทศ
นาววิราดูดาเปิดเผยว่า จะไม่อนุญาตให้ผู้ลี้ภัยเหล่านี้เข้าประเทศ เพราะจากการสอบปากคำพบว่าพวกเขาเป็นผู้ลี้ภัยทางเศรษฐกิจ ไม่ใช่ผู้ลี้ภัยทางการเมือง และว่าอินโดนีเซียกำลังทำงานร่วมกับประเทศที่มาของผู้ลี้ภัยเหล่านี้ รวมทั้งองค์การผู้อพยพระหว่างประเทศ (the International Organization for Migration) เพื่อดำเนินการส่งกลับพวกเขาอย่างเหมาะสม และเสริมว่า ยิ่งเร็วก็ยิ่งดี แต่รายงานข่าวยังไม่ระบุแน่ชัดว่าพวกเขาจะถูกส่งกลับพม่าหรือบังคลาเทศ
ทั้งนี้ หลังจากไปถึงซาบัง นายอิหม่าม ฮูเซน หนึ่งในชาวโรฮิงญา ให้สัมภาษณ์ขณะอยู่ในโรงพยาบาลว่าเขาและชาวโรฮิงญา 580 คนได้โดยสารเรือ 4 ลำจากเมืองมันดูประเทศพม่าเมื่อวันที่ 9 ธค. พร้อมระบุว่าและเขาและสมาชิกบางคนในกลุ่มถูกทุบตีหลังจากขึ้นฝั่งในไทย จากนั้นก็มีการลากเรือไปปล่อยในทะเล แต่กองทัพเรือไทยปฏิเสธข้อกล่าวหา และว่าได้นำอาหารรวมถึงน้ำดื่ม ไปให้ชาวโรฮิงญา กับให้การช่วยเหลือคนเหล่านี้อย่างดี