ไพบูลย์ชี้ศาลรธน.ขยายเวลาไม่กระทบคดีมั่นใจชี้พ้นสภาพ

ไพบูลย์ชี้ศาลรธน.ขยายเวลาไม่กระทบคดีมั่นใจชี้พ้นสภาพ

ไพบูลย์ชี้ศาลรธน.ขยายเวลาไม่กระทบคดีมั่นใจชี้พ้นสภาพ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

'ส.ว.ไพบูลย์' ชี้ ศาลรธน.ขยายเวลา 'ยิ่งลักษณ์' ชี้แจง เป็นเรื่องดีไม่กระทบรูปคดี มั่นใจหลักฐานเอาผิดได้ บอก 'ชัยเกษม' นำคดี 'สมัคร'มาเทียบไม่ได้ ซัด 'เฉลิม' อ้าง ม.7 ไม่ถูกต้อง

นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา ในฐานะผู้ร้องศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาสถานภาพ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จากกรณีโยกย้าย นายถวิล เปลี่ยนศรี มิชอบด้วยกฎหมาย เปิดเผยกับสำนักข่าว INN ว่า การที่ศาลขยายเวลาในการชี้แจงให้กับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นเรื่องดี ไม่กระทบรูปคดี เพราะแสดงว่าได้เปิดโอกาสให้ต่อสู้เต็มที่ ไม่มี 2 มาตรฐาน และเชื่อว่าไม่ใช่การประนีประนอมทางการเมืองอย่างแน่นอน ส่วนตนเองก็จะมีการส่งเอกสารหลักฐานเพิ่ม คือ รายงานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ระบุว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นประธาน และ ครม. มีมติร่วมกันในเรื่องดังกล่าว เพื่อจะโยงว่า ครม.ทั้งคณะ จะต้องรับผิดร่วมกันตาม ม.171และมั่นใจในหลักฐานว่าจะสามารถเอาผิด น.ส.ยิ่งลักษณ์ และคณะรัฐมนตรีได้

นายไพบูลย์ ยังกล่าวถึงกรณีที่ นายชัยเกษม นิติสิริ รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นำผลการตัดสินของศาล รธน. ในคดีของ นายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี มาเปรียบเทียบ และพยายามชี้นำว่า ครม.ทั้งคณะ ไม่ต้องพ้นจากตำแหน่งนั้น ไม่ถูกต้อง เพราะการตัดสินคดีดังกล่าว นายสมัคร ไปเป็นลูกจ้างคนเดียว ครม. ไม่เกี่ยวข้อง จึงตัดสินให้ นายสมัคร มีความผิดคนเดียว แต่กรณีโยกย้าย นายถวิล นั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นผู้เสนอ และ ครม.ทั้งคณะ เป็นผู้มีมติเห็นชอบ ซึ่งถือเป็นการกระทำความผิดร่วมกัน ดังนั้นต้องรับผิดชอบร่วมกัน ซึ่งตนก็หวังว่าศาลจะวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่งด้วย

ส่วนกรณีที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และผู้อำนวยการศูนย์รักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) ประกาศจะทูลเกล้าฯ ขอพระราชวินิจฉัย หากศาล รธน. ตัดสินให้คณะรัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่ง โดยอ้าง ม.7 ว่า เป็นการอ้างที่ไม่ถูกต้อง เพราะการใช้ ม.7 ต้องเป็นเรื่องที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่กรณีคำตัดสินของศาล รธน.นั้น มีการบัญญัติไว้อย่างชัดเจน

โดยเฉพาะ ม.216 วรรค 5 ที่ระบุว่า คำตัดสินของศาล รธน. มีผลผูกพันทุกองค์กร และเป็นที่สิ้นสุด รวมถึงเป็นการกระทำการภายใต้พระปรมาภิไธย ดังนั้น การกระทำดังกล่าวของ ร.ต.อ.เฉลิม จึงเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง เป็นการทำลายหลักนิติรัฐ ระบบนิติธรรม ขัดรัฐธรรมนูญ และเป็นสิ่งระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท เป็นอย่างยิ่ง สมควรถูกตำหนิเป็นอย่างมาก

ขณะเดียวกัน ส.ว.ไพบูลย์ มองว่า การที่อีกฝั่งที่อ้าง ม.7 นั้นพอจะรับฟังได้ เพราะเรื่องการสรรหาตัวนายกรัฐมนตรี หาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ และคณะรัฐมนตรี พ้นตำแหน่งจากคดีดังกล่าว ไม่ได้ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเวลานี้ไม่มีสภาผู้แทนราษฎร และไม่มี ส.ส. นั่นเอง


แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook