นักวิชาการชี้ไทยต้องปฏิรูปทัศนะ-มุมมองการทูต
นักวิชาการเห็นพ้อง ไทยต้องมีการปฏิรูปทัศนคติ และมุมมองทางการทูต เพื่อผลประโยชน์ของมนุษยชาติ
นายวิทิต มันตาภรณ์ ศาสตราภิชานประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ กล่าวในงานเสวนาวิชาการ ชุด “๘ ทศวรรษ อภิวัฒน์สังคมไทย” ครั้งที่ 4 เรื่อง “การต่างประเทศไทยบนเวทีโลก : ปฏิรูปหรือไม่? อย่างไร? เพื่อใคร? ”โดย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่า ไทยยังมีความจำเป็นจะต้องปฏิรูปในเรื่องของทัศนคติและมุมมองทางการทูต โดยคำนึงถึงภูมิปัญญาท้องถิ่นและในการร่วมมือกับนานาประเทศให้มากยิ่งขึ้น เช่น การเข้าไปเป็นอาสาสมัคร การสร้างเครือข่ายประชาชนต่อประชาชน รวมถึงเรื่องของสิทธมนุษยชนในการทำ MOU ร่วมกัน และเรื่องการค้าต่างๆ โดยนโยบายที่วางไว้จะต้องไม่ขึ้นอยู่กับพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง แต่จะต้องขึ้นอยู่กับผลประโยชน์มนุษยชาติ ซึ่งในเรื่องนี้ไทยได้รับคำชื่นชมจากเวทีโลก ในด้านนโยบายที่เป็นคุณ ด้านมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ทางการแพทย์
อย่างไรก็ตาม นายวิทิต กล่าวเพิ่มเติมว่า กฎหมายและหลักเกณฑ์ในทางปฏิบัติของไทย ยังคงมีข้อจำกัด ในการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งหลายครั้งที่การดำเนินการต้องพึ่งพาองค์กรอิสระต่างๆ นับเป็นตัวแปรสำคัญในการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชน