′มาร์ค′กางโรดแมปทางออกประเทศ เสนอ′ปู-ครม.′ลาออก เปิดทางปธ.วุฒิสภาสรรหารบ.เฉพาะกาล

′มาร์ค′กางโรดแมปทางออกประเทศ เสนอ′ปู-ครม.′ลาออก เปิดทางปธ.วุฒิสภาสรรหารบ.เฉพาะกาล

′มาร์ค′กางโรดแมปทางออกประเทศ เสนอ′ปู-ครม.′ลาออก เปิดทางปธ.วุฒิสภาสรรหารบ.เฉพาะกาล
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

วันที่ 3 พฤษภาคม ที่ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมสุโกศล ถนนศรีอยุธยา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) แถลงข่าวนำเสนอแผนเดินหน้าประเทศไทย ′ปฏิรูปภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ′ หลังจากเดินสายนำเสนอและรับฟังข้อเสนอทางออกประเทศจากทุกฝ่ายและพรรคร่วมรัฐบาล

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า จากการทำงานเพื่อแก้ปัญหาสถานการณ์บ้านเมืองโดยเดินสายพบกับฝ่ายต่าง ๆ ใน 10 วันที่ผ่านมา ล่าสุดตนได้ประมวลเป็นแผนเดินหน้าประเทศไทย ′ปฏิรูปภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ′ เพื่อหลีกเลี่ยง 3 อย่างคือ

1. หลีกเลี่ยงการสูญเสียชีวิตของประชาชนเพิ่มเติมจากการขัดแย้งทางการเมือง

2. หลีกเลี่ยงการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายนอกรัฐธรรมนูญ หรือการปฏิวัติรัฐประหาร

3. หลีกเลี่ยงการให้สังคมดึงเอาสถาบันที่อยู่เหนือความขัดแย้ง และศาลเข้ามาอยู่ในวังวนความขัดแย้ง เพราะจะทำให้ต่อไปประเทศไทยจะไม่มีที่พึ่งทางใจร่วมกัน

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ข้อเสนอของตนมีหลักการคือ

1. เดินหน้าปฏิรูปประเทศทันที สร้างความชอบธรรม กระบวนการกติกาเพื่อรองรับให้มีการปฏิรูปต่อเนื่อง เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ผูกมัดและไม่ถูกขัดขวางจากฝ่ายการเมือง ยั่งยืน โดยเป็นไปตามขั้นตอนของรัฐธรรมนูญทุกประการ

2. ระหว่างกระบวนการปฏิรูป มีรัฐบาลและสภา ที่เป็นไปตามกฎหมายและเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย

3.การเลือกตั้งต้องเป็นไปโดยสุจริตเสรีและเที่ยงธรรมเป็นที่ยอมรับของประชาชนและทุกพรรคการเมือง นำไปสู่การได้สภาผู้แทนราษฎรและรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญ

4. คดีความที่มีอยู่ต้องดำเนินไปตามกระบวนการกฎหมายและหลักนิติธรรมเท่าน้น

หัวหน้าปชป.กล่าวอีกว่าทั้งหมดจะมีขั้นตอนในการดำเนินการ 10 ขั้นตอน คือ

1. ขจัดเงื่อนไขที่เป็นอุปสรรคด้วยการชะลอการตราพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง ที่รัฐบาลคิดจะทำในวันที่ 6-8 พฤษภาคมนี้

2.คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องออกระเบียบเพื่อปฏิรูปการบริหารการเลือกตั้ง สร้างความมั่นใจว่าการเลือกตั้งจะสามารถจัดโดยเป็นไปอย่างสุจริตเที่ยงธรรม รวมถึงการใช้นโยบายประชานิยมที่เสียหายต่อประเทศ

3. เครือข่ายเดินหน้าปฏิรูป ร่วมกับคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขหรือกปปส.เป็นแกนนำในการจัดทำข้อเสนอการจัดตั้งสภาปฏิรูป กำหนดประเด็นขอบเขตของการปฏิรูปโดยมีการจัดลำดับความสำคัญ เช่นประเด็นการต่อต้านการทุจริต ไม่มีนิรโทษกรรม การมีส่วนร่วมของประชาชนในการปฏิรูป และกรอบเวลาในการปฏิรูปแต่ละด้าน โดยใช้เวลาประมาณ 15-30 วัน

4.จากนั้นจัดทำประชามติภายใน 90 วัน โดยการสนับสนุนของทุกพรรคการเมือง ให้ประชาชนเห็นชอบ สภาปฏิรูป ประเด็นการปฏิรูป และให้งานของสภาปฏิรูปทั้งก่อนและหลังเลือกตั้งมีผลผูกมัดรัฐบาลและสภาหลังการเลือกตั้ง

5.การจัดทำประชามติจะเป็นการทดสอบความเรียบร้อยของการเลือกตั้งที่จะมีการเลือกตั้งต่อไปโดยทุกฝ่ายต้องเอื้ออำนวยให้ทุกพรรครณรงค์การปฏิรูปได้อย่างเสรี และสร้างบรรยากาศการเลือกตั้งที่ปราศจากการขัดขวางและความรุนแรงต่อไป

6. เปิดทางให้มีรัฐบาลเฉพาะกาลโดยความเห็นพ้องของทุกฝ่าย เพื่อมาบริหารจัดการการทำประชามติและการเลือกตั้ง โดยนายกรัฐมนตรีต้องนำคณะรัฐมนตรี (ครม.)ลาออก หรือปรับครม.ออก จากนั้นนายกฯจึงลาออกก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยคดีความต่าง ๆ เพื่อให้มีการสรรหานายกฯ และครม.ใหม่ ที่ไม่มีนักการเมือง และพรรคการเมือง โดยให้ประธานวุฒิสภาเป็นผู้ดำเนินการ สรรหาบุคคลที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย รวมถึงเป็นที่ยอมรับของรัฐบาลชุดปัจจุบันและกปปส.

7.รัฐบาลที่ได้มาจะไม่มีอำนาจทางนิติบัญญัติไม่มีอำนาจตรากฎหมายเพราะไม่มีองค์กรนิติบัญญัติแต่รัฐบาลจะมีความคล่องตัวกว่ารัฐบาลปัจจุบันเพราะไม่อยู่ภายใต้เงื่อนไขรัฐธรรมนูญมาตรา 181 จะสามารถแก้ปัญหาได้หลายประการ เช่น จำนำข้าว และราคาแก๊สที่พุ่งสูงขึ้น" นายอภิสิทธิ์ กล่าว

8.เมื่อจัดทำประชามติเสร็จ ให้จัดการเลือกตั้ง ภายใน 45-60 วัน โดยทุกพรรคการเมืองต้องยืนยันว่าจะสนับสนุนการทำงานของสภาปฏิรูปหลังการเลือกตั้ง หากไม่ทำตาม ก็ถือว่าเป็นหลอกลวง กระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง และระเบียบของ กกต. มีโทษถึงขั้นถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง และยุบพรรคการเมือง

9.รัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรหลังการเลือกตั้ง มีอำนาจบริหารราชการแผ่นดินตามปกติ แต่ต้องนำข้อเสนอการปฏิรูปที่เกิดจากกสภาปฏิรูป โดยเฉพาะการปฏิรูปการเมือง ดำเนินการให้เเล้วเสร็จภายใน 1 ปี แล้วจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่

10.ประเด็นการปฏิรูปอื่นๆ ให้ดำเนินการต่อไปภายหลังการเลือกตั้งตามวิธีการปกติ

นายอภิสิทธิ์ กล่าวยืนยันว่า ข้อเสนอของตนมีกระบวนการตามกฎหมายรองรับได้ การลาออกและการปรับครม.เป็นสิทธิ์อันชอบธรรมของนายกฯ ตามเงื่อนไขรัฐธรรมนูญมาตรา 182(2)(6) และเคยเกิดขึ้นในช่วงรัฐบาลรักษาการปี 49 ที่นายวิษณุ เครืองาม ลาออกจากรองนายกรัฐมนตรี อีกทั้งยังมีกรณีที่เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช มาแล้วด้วย

ส่วนการสรรหารนายกรัฐมนตรี ก็ป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 180 วรรคท้าย โดยการเสนอให้ประธานวุฒิสภาเป็นผู้ดำเนินการสรรหา อยู่บนหลักของการเทียบเคียงรัฐธรรมนูญที่ปรับใช้ได้ใกล้เคียงที่สุด โดยเทียบเคียงกรณีหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

นอกจากนี้ยังมีนักกฎหมายบางคนระบุว่า กรณีการเกิดสุญญากาศทางการเมืองมีความเป็นไปได้ เช่น ถ้าครม.เดินทางไปแล้วเกิดอุบัติเหตุเสียชีวิตทั้งหมด ทุกอย่างจะเข้าสู่ประเพณีปฏิบัติ คือวุฒิสภาจะต้องดำเนินการพิจารณาต่อไป

"ข้อเสนอนี้ไม่มีฝ่ายไหนจะได้ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ฝ่ายต่าง ๆ จะได้ความต้องการหลักของตัวเอง รัฐบาลจะได้เห็นการเลือกตั้งที่จะเกิดในกรอบเวลาที่ชัดเจน บุคคลในรัฐบาลมีสิทธิ์ลงสมัครรับเลือกตั้งในระยะ 5-6 เดือนข้างหน้า เพียงแต่ผมเสนอให้คนเหล่านั้นถอยออกไปในระยะสั้น ๆ เพียง 5-6 เดือน ส่วนกปปส.จะได้รัฐบาลคนกลาง ได้สภาปฏิรูป ที่มั่นใจได้ว่าการปฏิรูปจะไม่ถูกขัดขวาง เพียงแต่กปปส.ไม่ได้สภานิติบัญญัติ หรือรัฐบาลที่กปปส.จะเสนอต่อไปเท่านั้น แต่ข้อเสนอของผมประเทศชาติจะได้ 100 เปอร์เซ็นต์ คือได้ปฏิรูป ได้การเลือกตั้ง ไม่มีการนองเลือด ไม่มีรัฐประหาร สถาบันหลักไม่ถูกละเมิด เศรษฐกิจแก้ปัญหาได้ ผมไม่มีผลประโยชน์ส่วนตัว และจะไม่รับตำแหน่งหรือมีสถานะการเมืองใด ๆ จะขอเป็นเพียงประชาชน และจะขอมีความสุขจากที่ประเทศเดินหน้าไปได้"

หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวด้วยว่า จะนำข้อเสนอข้อนี้เสนอไปยังสองฝ่าย แต่ต้องเสนอไปยังรัฐบาลก่อน เพื่อให้รัฐบาลตัดสินในสิ่งที่กำลังจะทำ โดยน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สามารถตัดสินใจได้คนเดียวเลย

ขณะที่กปปส. ต้องใช้เวลาในการตัดสินใจเพราะทำในนามมวลชน ดังนั้นตนจะให้คนส่งข้อเสนอนี้เป็นลายลักษณ์อักษรไปให้รัฐบาลในวันอังคารที่ 6 พฤษภาคม เพื่อให้พิจารณา และฟังคำตอบจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ คนเดียว และถ้าจะให้ตนอธิบายอะไรเพิ่มเติมก็ยินดี

"ขอใช้โอกาสนี้สื่อถึงน.ส.ยิ่งลักษณ์ อยากถามว่า ข้อเสนอของผมมันมีตรงไหนที่เสียหายต่อประเทศชาติ อยากถามว่าในฐานะที่เป็นนักการเมือง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ต้องการให้ประเทศเดินหน้าหรือไม่ สิ่งเดียวที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ต้องสละ คือการถอยออกไปจากอำนาจ 5-6 เดือน โดยที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ รู้ตัวอยู่แล้วว่าสถานภาพในขณะนี้อยู่บนความไม่แน่นอน อยากถามว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์ จะถอยไป 5-6 เดือนได้หรือไม่ ผมเป็นนักการเมืองมืออาชีพ ทำงานการเมือง20 กว่าปี นี่คืออาชีพของผม แต่เมื่อบ้านเมืองมาถึงจุดนี้ ผมยังถอยออกจากกการเมืองได้และถอยออกมาแล้วถึง 2 ปีแล้ว น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะถอยออกไปเพื่อประเทศ 5-6 เดือนได้หรือไม่ และผมขอสื่อสารไปถึงนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการกปปส. ถ้ารัฐบาลตอบรับหลักการนี้ นายสุเทพ จะเห็นภาพรัฐบาลคนกลางที่มีการปฏิรูป นั่นคือเป้าหมายการต่อสู้ของนายสุเทพและมวลมหาประชาชน อย่าเพิ่งปฏิเสธข้อเสนอของผม ถ้ารัฐบาลรับหลักการ ขอให้ท่านไปพิจารณาว่าจะเดินหน้าประเทศไทยไปอย่างนี้ด้วยกันหรือไม่" นายอภิสิทธิ์ กล่าวและว่า อยากฝากไปยังสื่อมวลชน นักวิชาการ ประชาชนทุกฝ่าย หากเห็นว่าสิ่งที่ตนเสนอเป็นประโยชน์กับบ้านเมือง ขอให้ออกมาพูด อย่าให้คนจำนวนมากที่ปรารถนาเห็นบ้านเมืองเดินไปด้วยความเรียบร้อยกลายเป็นคนกลุ่มเดียวที่ไม่มีสิทธิ์มีเสียงในการแสดงออกในเรื่องนี้

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่าข้อเสนอนี้ไม่มีกลุ่มคนเสื้อแดงอยู่ในแผนการปฏิรูปเพราะคนเสื้อแดงไม่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงนอกรัฐธรรมนูญ คนเสื้อแดงต้องการรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในขณะนี้มีใครรับประกันได้ว่าการเลือกตั้งจะเรียบร้อยหรือไม่

ส่วนคดีความของน.ส.ยิ่งลักษณ์ในเรื่องการทุจริตโครงการรับจำนำข้าวก็ต้องเดินหน้าไปตามกระบวนการจะไม่มีการเจรจาต่อรองใด ๆ ทั้งสิ้น

ถามว่า คนที่จะเป็นนายกฯในรัฐบาลเฉพาะกาลควรมีพื้นฐานเรื่องการผลักดันการปฏิรูปประเทศหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ ตอบรับว่า ถ้าเป็นอย่างนั้นได้ก็ดี ถามย้ำว่า ขณะนี้มีการมองไปที่นายกิตติพงษ์ กิตติยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ว่าเป็นหนึ่งในผู้ที่เหมาะสม นายอภิสิทธิ์ ไม่ตอบและเดินเลี่ยงออกจากวงสัมภาษณ์

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook