ข้อเสนอ "อภิสิทธิ์" ส่อเค้าแป้ก? หลายเสียงให้ก้อนอิฐมากกว่าดอกไม้

ข้อเสนอ "อภิสิทธิ์" ส่อเค้าแป้ก? หลายเสียงให้ก้อนอิฐมากกว่าดอกไม้

ข้อเสนอ "อภิสิทธิ์" ส่อเค้าแป้ก? หลายเสียงให้ก้อนอิฐมากกว่าดอกไม้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ข้อเสนอ แผนเดินหน้าประเทศไทย "ปฏิรูปภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ" ได้รับการนำเสนอโดย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อช่วงสายวันนี้ โดยขั้นตอนอาจแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน คือ ภายในระยะเวลา 180 วัน ดำเนินการ 2 ด้าน ด้านหนึ่ง คือ เลื่อนการเลือกตั้งที่กำหนดไว้ 20 ก.ค. ออกไป ขณะที่รัฐบาลลาออกก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยสถานภาพของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี เพื่อเปิดทางให้มีรัฐบาลคนกลางที่ไม่อิงกับนักการเมืองผ่านการสรรหาโดยประธานวุฒิสภา เพื่อมาทำหน้าที่ระหว่างการเดินหน้าปฏิรูป


อีกด้านหนึ่งที่อยู่ในห้วงเวลา180 วันเช่นกัน คือ การเสนอให้เครือข่ายเดินหน้าปฏิรูป ที่มีนายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นหัวแรงสำคัญ ทำงานร่วมกับ กปปส. ที่นำโดย นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นแกนหลักจัดทำข้อเสนอจัดตั้งสภาปฏิรูป แล้วกำหนดประเด็นการปฏิรูปทั้งหมดภายใน 15-30 วัน จากนั้น จึงนำข้อเสนอให้ประชนลงประชามติ โดยใช้เวลาขั้นตอนนี้ 90 วัน แล้วจึงจัดเลือกตั้ง

หลังผ่านพ้นทั้ง 2 กระบวนการใน 180 วันแล้ว นายอภิสิทธิ์ เสนอให้ รัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง นำข้อเสนอจากสภาปฏิรูปโดยเฉพาะด้านการเมือง ไปดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี จากนั้น เลือกตั้งใหม่ แล้วเดินหน้าปฏิรุปด้านอื่นๆ ที่เหลือ


ภายหลังข้อเสนอของนายอภิสิทธิ์มีความเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อต่างๆ มติชนออนไลน์ รวบรวมบางส่วนมานำเสนอ


ปฏิกิริยาจากฝ่ายรัฐบาล

นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา ปฏิบัติหน้าที่รองนายกรัฐมนตรี - ข้อเสนอ ของนายอภิสิทธิ์ เหมือนกับ แนวทางกลุ่มกปปส. ซึ่งหากแนวทางของนายอภิสิทธิ์ ไม่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยจะไม่มีทางสำเร็จ ส่วนร่างพระราชกฤษฎีกาแก้ไขเพิ่มเติมกำหนดวันเลือกตั้ง ส.ส. คาดว่า กกต.จะเสนอคณะรัฐมนตรีวันที่ 6พ.ค.นี้ แต่หากไม่ทัน ต้องเรียกประชุม ครม.นัดพิเศษ

นายวราเทพ รัตนากร ปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีประจำสำนักนายก - ข้อเสนอในข้อที่ 3 ของนายอภิสิทธิ์ที่ให้มีรัฐบาลคนกลางเฉพาะกาลมาบริหารจัดการเลือกตั้งในแง่ของกฎหมายไม่สามารถทำได้ เพราะจะไม่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย รวมถึงการยอมรับตัวบุคคลก็ทำได้ยาก เชื่อว่าไม่มีใครยอมเสนอตัวมาเป็นคนกลาง เพราะดูจากหลายๆครั้งที่ผ่านมา

นายจาตุรนต์ ฉายแสง ปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ - เรื่องที่เสนอเป็นเรื่องเนื้อหาเดิม ที่กลุ่มที่ต้องการให้เกิดสุญญากาศทางการเมืองเสนอ ใครที่ยืนยันหลักการประชาธิปไตยก็รับข้อเสนอนี้ไม่ได้ การจะให้นายกฯและครม.ลาออกเพื่อให้เกิดสูญญากาศเป็นไปไม่ได้แน่นอน ถ้าจะให้เกิดสภาพอย่างนั้น ต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินมา ตัดสินผิดๆ ตัดสินขัดรัฐธรรมนูญ อย่างที่เกิดขึ้นแล้วหลายๆครั้ง ให้ทำมาอีก จึงจะเกิดขึ้นได้ การให้ใช้วิธีลาออก ให้คณะรัฐมนตรีชุดนี้ร่วมทำลายประชาธิปไตย ร่วมทำลายหลักการประชาธิปไตย จึงไม่มีทางที่จะร่วมมือได้เลย
ด้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี วันนี้หยุดพักผ่อนไม่มีภารกิจใดๆ มีรายงานข่าวว่าเห็นข้อเสนอแล้ว แต่ยังไม่ขอแสดงความคิดเห็น


ปฏิกิริยาจากฝ่ายพรรคการเมือง

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองโฆษกพรรคเพื่อไทย - ยินดีรับข้อเสนอของทุกภาคส่วนรวมไปถึงข้อเสนอของนายอภิสิทธิ์และพรรคมีมติมอบหมายให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคไปประชุมหารือเพื่อศึกษาข้อเสนอก่อนที่จะกำหนดท่าทีและแนวทางของพรรคแต่พรรคจะไม่สนับสนุนแนวทางที่จะให้มีการระงับยกเว้น หรือยุติการใช้รัฐธรรมนูญ แม้จะยุติโดยชั่วคราวก็ตาม ทั้งนี้มีรายงานว่า จะมีการประชุมคณะกรรมการกิจการพรรคในวันที่ 6 พฤษภาคมนี้

นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา - ข้อเสนอเป็นไปได้ยาก อาทิ ให้ตั้งรัฐบาลกลาง โดยให้ประธานวุฒิสภาเป็นผู้ดำเนินการ เป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ แต่ตนขอให้กำลังใจนายอภิสิทธิ์ต่อการร่วมหาแนวทางออกของวิกฤติประเทศ แต่ขอฝากว่าต้องอยู่บนโลกแห่งความเป็นจริงที่ว่ารัฐธรรมนูญถือเป็นกฎหมายสูงสุดและเป็นกติกาที่บังคับใช้

นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ หัวหน้าพรรครักประเทศไทย - ข้อเสนอของนายอภิสิทธิ์ เป็นไปไม่ได้ และไม่มีสิ่งใหม่ สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่าเป็นขั้วเดียวกันกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ที่มีความต้องการให้ชะลอการเลือกตั้งและให้รัฐบาลรักษาการลาออกจากตำแหน่ง ดังนั้นเชื่อว่าสิ่งที่เสนอมาไม่ใช่ทางออกของประเทศ ส่วนการให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ลาออกแลกให้การเลือกตั้งเดินหน้าเห็นด้วย แต่ นายสุเทพ ก็ต้องเลิกชุมนุม โดยหากต้องการล้มระบอบทักษิณก็ต้องใช้ระบบรัฐสภา


ปฏิกิริยาจากฝ่าย คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง - ข้อเสนอของนายอภิสิทธิ์ ที่ขอให้ชะลอการออกพระราชกฤษฎีกา กำหนดวันเลือกตั้ง 20 ก.ค. ขึ้นกับรัฐบาล เพราะกกต.ได้ข้อสรุปหลังหารือกับรัฐบาลไปแล้ว โดยอยู่ระหว่างการปรับแก้ถ้อยคำในร่างพระราชกฤษฎีกาคาดวันที่6พ.ค.นี้ สามารถส่งให้ครม.ได้

นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการ กกต. - จะนำข้อเสนอของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เข้าสู่ที่ประชุม กกต. ในที่ 6 พ.ค.นี้ เพื่อดูว่า กกต.จะเห็นด้วยหรือไม่กับเรื่องดังกล่าว เนื่องจากเป็นนโยบายที่สำคัญ ส่วนกรณีนายวิรัตน์ กัลยาศิริ อดีต ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ เสนอแนะให้ กกต.เสนอร่างพระราชกฤษฎีกา หลังวันที่ 6 พ.ค. เพื่อรอให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยสถานภาพนายกรัฐมนตรีก่อนนั้น ก็เป็นความคิดเห็นหนึ่ง

ปฏิกิริยาจาก กปปส.และแนวร่วม

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ โฆษก กปปส. - หลักการที่นายอภิสิทธิ์เสนอนั้นตรงกับจุดยืนของกปปส. ที่เห็นว่ารัฐบาลคือสาเหตุของปัญหาที่จำเป็นต้องปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง โดยปราศจากการเมือง สำหรับข้อเสนอที่จะให้รัฐบาลลาออกนั้น ตนคิดว่าเป็นหน้าที่ของพรรคการเมืองที่ต้องไปตกลงกันก่อน แต่ถ้าคุยกับรัฐบาลไม่รู้เรื่องทุกอย่างก็จบ ทั้งนี้ขอยืนยันว่าไม่ว่าจะคุยกันอย่างไร ทางกปปส จะยังเคลื่อนไหวต่อไป ทั้งนี้ยังไม่ได้รับการติดต่อจากนายอภิสิทธิ์ว่าจะนำข้อเสนอมาหารือกับนายสุเทพ ซึ่งหากติดต่อมาทางแกนนำก็ต้องหารืออีกครั้ง

นายนิติธร ล้ำเหลือ ที่ปรึกษา เครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) - คิดว่า ประชาชนส่วนใหญ่จะไม่เห็นด้วย สิ่งที่นายอภิสิทธิ์ควรจะต้องทำเวลานี้คือ ไปชักชวนให้นักการเมืองทั้งหลายเว้นวรรคการเมือง และชักชวนประชาชน ข้าราชการมาร่วมกันปฏิวัติประเทศไทยกันใหม่ ตราบใดที่คนในตระกูลชินวัตรและเครือข่ายยังไม่ยุติบทบาททางการเมืองอย่างเด็ดขาด ก็ยังไม่ถือเป็นชัยชนะของภาคประชาชน

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook