ย้อนสถิติแผ่นดินไหวในไทย สั่นไหวระดับ 6 แมกนิจูด
จากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ขนาด 6.3 แมกนิจูด ที่บริเวณ ต.ทรายขาว อ.พาน จ.เชียงราย เมื่อเวลา 18.08 น. วันที่ 5 พฤษภาคม 2557 นับเป็นเหตุแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในประเทศไทย มีแรงสั่นสะเทือนรุนแรงอีกครั้งหนึ่งในรอบหลายสิบปี สร้างความเสียหายต่อบ้านเรือนประชาชนและสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่ใกล้เคียงจุดศูนย์กลาง
จากสถิติการเกิดแผ่นดินไหวในพื้นที่ภาคเหนือ ตลอดจนตามแนวเทือกเขาตะนาวศรี ทางฝั่งตะวันตกของประเทศไทย มักเกิดขึ้นเหตุแผ่นดินไหวขึ้นอยู่บ่อยครั้ง แต่จะเกิดแรงสั่นสะเทือนที่มนุษย์รับรู้ได้เล็กน้อยในบางครั้งหรือในบางครั้งอาจจะไม่รับรู้เลย
ทั้งนี้เหตุแผ่นดินไหว 6.3 แมกนิจูด ความลึกจากพื้นดินประมาณ 6 กิโลเมตร ที่ขึ้นในพื้นที่ อ.พาน จ.เชียงราย นักวิชาการเชื่อว่าเกิดจากพลังงานการเคลื่อนตัวตามแนวรอยเลื่อนพะเยา เชื่อมต่อกับแนวรอยเลื่อนแม่ทา ซึ่งมีแนวพาดผ่านในหลายพื้นที่ใน จ.เชียงราย รวมทั้งบางส่วนของ จ.พะเยา และ จ.ลำปาง เหตุแผ่นดินไหวครั้งดังกล่าวมีความรุนแรงกว่าปกติ ทำให้นักวิชาการหวั่นเกรงว่า อาจจะส่งผลกระทบต่อพลังงานรอยเลื่อนอื่นๆ ที่อยู่ใกล้เคียง เช่น รอยเลื่อนแม่ทา หรือ รอยเลื่อนแม่จัน เป็นต้น
สำหรับสถิติการเกิดแผ่นดินไหวที่มีศูนย์กลางในประเทศไทยเท่าที่มีการบันทึกไว้ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นทางภาคเหนือ ระดับความรุนแรงประมาณ 5.0 แมกนิจูด เป็นต้นไป อาทิเช่น
วันที่ 21 ธันวาคม 2538 แผ่นดินไหวขนาด 5.2 ที่ อ.พร้าว จ.เชียงใหม่
วันที่ 11 กันยายน 2537 แผ่นดินไหวขนาด 5.1 ที่ อ.พาน จ.เชียงราย
วันที่ 22 เมษายน 2526 แผ่นดินไหวขนาด 5.9 ที่ อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี
วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2518 แผ่นดินไหวขนาด 5.6 ที่ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก
นอกจากนี้ จากข้อมูลบันทึกในอดีตยังพบแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่เกิดขึ้นในประเทศไทยหลายครั้ง อาทิเช่น เมื่อปี 2382 แผ่นดินไหวขนาดประมาณ 6 แมกนิจูด บริเวณชายแดนไทย-พม่า แรงสั่นสะเทือนรับรู้ได้ถึงพระนคร (กรุงเทพฯ) หรือ เมื่อปี 2089 แผ่นดินไหวขนาดประมาณ 5 แมกนิจูด บริเวณภาคเหนือของไทย แรงสั่นสะเทือนรับรู้ได้ถึงกรุงศรีอยุธยา (รัชสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราช)
อย่างไรก็ตาม เหตุแผ่นดินไหว ขนาด 6.3 แมกนิจูด ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2557 นับเป็นเหตุแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงอีกครั้งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งอาจจะเป็นเหตุแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่สุดเท่าที่มีการบันทึกอีกครั้งหนึ่ง
ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา