"ศอ.รส."ดับเครื่องชน!! แถลงการณ์ฉบับ3 แฉกลุ่มบุคคลมุ่งให้เกิดสุญญากาศทางการเมือง

"ศอ.รส."ดับเครื่องชน!! แถลงการณ์ฉบับ3 แฉกลุ่มบุคคลมุ่งให้เกิดสุญญากาศทางการเมือง

"ศอ.รส."ดับเครื่องชน!! แถลงการณ์ฉบับ3 แฉกลุ่มบุคคลมุ่งให้เกิดสุญญากาศทางการเมือง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นายธาริต เพ็งดิษฐ์ ในฐานะเลขานุการศูนย์อำนวยการรักษาความสงบ หรือ ศอ.รส. ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 3 เรื่องข้อเรียกร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ และกลุ่มผู้สนับสนุนกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาความไม่สงบเรียบร้อย จากการประเมินสถานการณ์ในปัจจุบัน มีข้อมูลบ่งชี้ได้ว่าจะเกิดความรุนแรงและเหตุร้ายขึ้น ภายใต้เงื่อนไขสำคัญคือการวินิจฉัยขององค์กร 2 องค์กร ตามรัฐธรรมนูญ คือ คณะกรรมการปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. และศาลรัฐธรรมนูญ

ดังที่ ศอ.รส. ได้มีแถลงการณ์ฉบับที่ 1 และ 2 เสนอข้อเรียกร้องให้ทุกฝ่ายดำเนินการในแนวทาง ประการที่ 1 ในการใช้อำนาจวินิจฉัยคดีของศาลรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา ยังคงใช้วิธีพิจารณาและทำคำวินิจฉัยตามข้อกำหนดของศาลรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ. 2550 ซึ่งเป็นข้อกำหนดที่ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดขึ้นเอง ทั้งๆที่ รัฐธรรมนูญ กำหนดให้ต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ และตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว ให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี ซึ่งตั้งแต่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ วันที่ 24 สิงหาคม 2550 จนถึงปัจจุบัน เป็นเวลาเกือบ 7 ปีแล้ว แต่ศาลรัฐธรรมนูญไม่เคยดำเนินการให้มี ตรา พ.ร.บ.ดังกล่าว เมื่อวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดไว้ในรูปแบบของกฎหมายจึงทำให้สาธารณชน เกิดความสับสนต่อการทำหน้าที่ ว่าเป็นไปตามหลักยุติธรรม และถูกต้องตามหลักความยุติธรรมหรือไม่ และอาจส่งผลให้การวินิจฉัยคดีไม่มีมาตรฐานขาดคความชัดเจนเพราะไม่มีกรอบในการใช้อำนาจ

ประการที่ 2 จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ในคดีสำคัญหลายคดีที่ผ่านมา มักถูกวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมาก ว่ามีปัญหาในเรื่องความยุติธรรม หลายคดีวินิจฉัยก้าวล่วงการใช้อำนาจอธิปไตยขององค์กรอื่นโดยไม่มีอำนาจ ขัดต่อหลักการแบ่งแยกอำนาจ ไม่สอดคล้องกับหลักนิติธรรมในหลายๆคดี อาทิ "คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกรณีการสืบพยานในคดีอุ้มฆ่านาย โมฮัมหมัด อัลลูไวรี่" / "คำวินิจฉัยกรณีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มาของสมาชิกวุฒิสภา" และ "คำวินิจฉัยกรณีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557" รวมทั้ง "กรณีเงินกู้ 2 ล้านล้าน ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ"

ประการที่ 3 ศาลรัฐธรรมนูญอาจจะวินิจฉัยคำร้องขอให้การเป็นรัฐมนตรี ของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สิ้นสุดลง จากการตรวจสอบพบว่าศาลรัฐธรรมนูญ ได้เคยมีคำวินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายสมัคร สุนทรเวช สิ้นสุดลง กรณีเป็นลูกจ้างโดยไม่ได้อ้างกฎหมายแต่อ้างพจนานุกรมและวินิจฉัยว่านายสมัคร กระทำผิด ตามมาตรา 267 เป็นเหตุให้พ้นจากตำแหน่ง ดังนั้นคำร้องทั้งสองกรณีมีลักษณะใกล้เคียงกัน เป็นที่น่าสังเกตุว่าหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่านางสาวยิ่งลักษณ์ กระทำฝ่าฝืนตามมาตรา 266 และ 268 คำวินิจฉัยก็ควรเป็นไปในทิศทางเดียวกันหรือไม่ ซึ่งหากผลแตกต่างกันจะทำให้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์ ถึงการขาดมาตรฐานและน่าเชื่อถือ

ประการที่ 4 ศอ.รส. มีการข่าวพบว่ามีความพยายามของกลุ่มบุคคลที่สนับสนุน แนวทางให้เกิดสุญญากาศทางการเมือง เรียกร้องให้การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคดีของนางสาวยิ่งลักษณ์ เกินเลยไปกว่าที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ถึงขั้นยกเว้นการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา อาทิ มาตรา 181 ถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องและไม่สามารถกระทำได้

ประการที่ 5 จากกรณีที่มี่นักวิชาการ คือนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ได้กล่าวอภิปรายในโครงการสัมมนาทางวิชาการวาระครบรอบ 16 ปี ศาลรัฐธรรมนูญ มีความตอนหนึ่งว่า " คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายผูกพันทุกองค์กร ทั้งรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล" คำอภิปรายนี้มีความมุ่งหมายที่จะแสดงความชอบธรรม มีอำนาจที่จะควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญทุกเรื่อง แม้ว่ารัฐธรรมนูญไม่ได้ให้อำนาจไว้ และเป็นการยืนกรานให้องค์กรอื่นต้องเคารพคำวินิจฉัยนั้น ทั้งนี้จากการตรวจสอบย้อนหลังพบว่า นายบวรศักดิ์ เคยกล่าวไว้ ในปี 2542 ว่า "หากเกิดปัญหา ห้วงเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญขึ้น ผู้ที่จะมีอำนาจวินิจฉัยเรื่องเขตอำนาจก็คือศาลรัฐธรรมนูญนั่นเองในทางกฎหมาย แต่ในเวลาเดียวกัน ในทางการเมือง องค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญ ย่อมมีอำนาจและเอกสิทธิ์ ที่จะพิจารณาการวินิจฉัยเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญว่าชอบหรือไม่ชอบด้วยเจตนารมย์ ของรัฐธรรมนูญ หากเห็นว่ามีคำวินิจฉัยไปในทางขยายเขตอำนาจของตน จนทำลายเขตอำนาจของศาลและองค์กรอื่น องค์กรเหล่านั้นย่อมทรงไว้ซึ่งสิทธิและอำนาจตามรัฐธรรมนูญที่จะดำเนินการให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ" จึงเห็นได้ว่าคำกล่าวของนายบวรศักดิ์ ขัดแย้งกันเอง และมีความมุ่งหมายแสดงความรับรู้การใช้อำนาจตามอำเภอใจ และยกสถานะของศาลรัฐธรรมนูญให้เหนือองค์กรอื่น เป็นการสถาปนาอำนาจตุลาการของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นรัฎฐาธิปัตย์

ประการที่ 6 จากการที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ทำข้อเสนออ้างว่าเป็นทางออกประเทศไทย พร้อมกับอวดอ้างว่าเป็นแนวทางที่ดีที่สุดกับสถานการณ์ในขณะนี้ แต่กลับเสนอวิธีการโดยไม่มีกฎหมายรองรับ โดยเฉพาะการให้นายกรัฐมนตรีและคณะลาออก ข้อเสนอของนายอภิสิทธิ์ แท้จริงแล้วเป็นการปูทางหรือสนับสนุนให้ศาลรัฐธรรมนูญได้พิพากษางดใช้มาตรา 181 ดังนั้นความมุ่งหมายแท้จริงของนายอภิสิทธิ์ มีอย่างเดียวคือ การโน้มน้าวชักจูง ให้ประชาชนหลงเชื่อ โดยเข้าใจผิดไปว่าสิ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญกำลังจะพิพากษาให้เกิดสุญญากาศนั้นเป็นความเหมาะสมที่สามารถกระทำได้ ฉะนั้นแท้จริงแล้วคือ 1 ในกระบวนการที่ทำให้เกิดสุญญากาศทางการเมือง และแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีคนนอกที่ไม่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย และที่สำคัญเป็นการฝ่าฝืนการกระทำนอกรัฐธรรมนูญ

ศอ.รส.จึงขอเรียกร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคดีอย่างตรงไปตรงมา เป็นไปตามบทบัญญัติ โดยยึดถือจริยธรรมตามรัฐธรรมนูญและคำถวายสัตย์ปฎิญญาณที่ได้ให้ไว้ต่อพระมหากษัตริย์ ก่อนเข้ารับหน้าที่และขอให้กลุ่มนักวิชาการและนายอภิสิทธิ์ ที่สนับสนุนแนวทางให้เกิดสูญญากาศ ยุติบทบาทการแสดงความเห็นในประเด็นที่จะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดต่อสาธารณชน ทั้งนี้ ศอ.รส.ไม่มีเจตนาก้าวล่วงหรือกดดันการพิจารณาแต่อย่างใด

แต่ขณะนี้มีกลุ่มมวลชนจำนวนมากทั้งสองฝ่ายกำลังรอคอยผลการพิจารณาซึ่งหากคำพิพากษาไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ย่อมเกิดความไม่พอใจและขยายตัวในวงกว้าง เกิดการใช้กำลังเข้าปะทะกัน โดยแถลงการณ์ครั้งนี้เป็นการป้องกันระงับยับยั้งโดยแก้ไขบรรเทาเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นตามภารกิจที่ไม่สามารถละเลยได้

อย่างไรก็ตามแถลงการณ์ฉบับนี้เป็นความเห็นและการดำเนินการของ ศอ.รส. โดยไม่ได้ขอให้ฝ่ายทหารร่วมมีความเห็นและดำเนินการด้วย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook