ประวัติ สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ประธานวุฒิสภาคนใหม่
สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ประธานวุฒิสภาคนใหม่ หลังที่ประชุมมีการลงมติด้วยคะแนน 96:51
นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย เกิดเมื่อวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2496 จบการศึกษาประถมศึกษาจากโรงเรียนวัดประถมทวีธาภิเษก ระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนอำนวยศิลป์ และระดับปริญญาตรีจากคณะนิติศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และจบการศึกษาหลักสูตรพิเศษจากเนติบัณฑิตไทย สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา[1]
ประสบการณ์
กรรมการปรับปรุงประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง สำนักงานกฤษฎีกา
ประธานคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมวุฒิสภา
กรรมการเนติบัณฑิตยสภา
สมาชิกวุฒิสภาโดยมาจากการสรรหา ภาควิชาการ พ.ศ. 2551
สภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550
ผู้อำนวยการสำนักงานกฎหมายไชยรพี
กรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (คณะสัญญา) สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค
อุปนายกฝ่ายปฏิบัติการ สภาทนายความ
กรรมการบริหาร เนติบัณฑิตยสภา
กรรมการเนติบัณฑิตยสภา (ขอบคุณข้อมูลจากวิกิพีเดีย)
______________________________________________________________
จากเด็กวัดสู่ ประธานวุฒิสภา
สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย
"ผมเป็นคนกรุงเทพฯ เกิดฝั่งธน บ้านอยู่ตรงข้ามกรมอู่ทหารเรือ พ่อแม่มีร้านขายของชำเล็กๆ ด้วยความที่โตมาในครอบครัวค้าขาย ก็ถูกปลูกฝังมาว่าต้องทำงานด้วยเรียนไปด้วย ผมปั่นจักรยานส่งของชำให้แม่ตั้งแต่เด็กๆ"
ในวัยเด็ก "ด.ช.สุรชัย" เรียนโรงเรียนวัดประถมทวีธาภิเศก อยู่ในพื้นที่บริเวณวัดอรุณราชวรารามหรือวัดแจ้ง เมื่ออยู่โรงเรียนวัดจึงหนีไม่พ้นการเป็นเด็กวัด ต้องช่วยล้างบาตร ทำความสะอาด กวาดลานวัด พอจบชั้นประถมศึกษา ก็สอบเข้าโรงเรียนอำนวยศิลป์พระนคร ด้วยเป็นโรงเรียนชายล้วน จึงเกเรบ้างตามประสา แต่ที่นี่ก็ทำให้เขาได้เรียนรู้ชีวิตช่วงเป็นวัยรุ่นทั้งมุมบวกและมุมลบ
ช่วงเรียน ม.ศ.5 "สุรชัย" ต้องเผชิญวิกฤตแรกในชีวิต เมื่อบ้านถูกไฟไหม้จนสิ้นเนื้อประดาตัว เมื่อพบเจอไม่ได้รับความเป็นธรรม เขาจึงมุ่งมั่นที่จะเรียนกฎหมาย เพื่อเป็นทนายความ เอาความรู้ไปช่วยเหลือประชาชน
"เป็นวิกฤตของครอบครัว ถึงกับสิ้นเนื้อประดาตัว ทำให้ได้เรียนรู้ ได้สัมผัสถึงระบบกฎหมายตั้งแต่การเยียวยา การช่วยเหลือจากภาครัฐ สำหรับผู้ประสบภัย การใช้สิทธิเรียกร้องความเสียหาย ว่าทำไมคนอื่นก่อเหตุเพลิงไหม้ แล้วเราต้องมารับผล จนไม่มีแม้แต่บ้านที่จะอยู่กัน ครอบครัวกลับมาอยู่ที่ศูนย์ ไม่เหลืออะไรเลย"
แรงผลักดันจากความสูญเสียส่งผลให้ "สุรชัย" สอบเข้าเรียนคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ และที่
"รั้วแม่โดม" นี้เองเป็นสถานที่บ่มเพาะ แนวคิดทางการเมืองและการเป็นนักกิจกรรม
"ธรรมศาสตร์มีเสรีภาพทุกตารางนิ้ว" เป็นประโยคที่อธิการบดีบอกกับนักศึกษาใหม่ทุกคน "สุรชัย" จดจำและคำนึงว่าสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเป็นสิ่งที่สำคัญนับแต่นั้น
"เมื่อเข้ามาเรียนปีแรกก็เจอเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เมื่ออยู่ ปี 4 ก็เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 จำได้ว่าใส่เสื้อม่อฮ่อมไปแจกใบปลิวที่ธรรมศาสตร์ ช่วยกันขึงผ้า ทำโปสเตอร์ต่อต้านรัฐบาลยุคนั้น เรียกร้องสิทธิเสรีภาพ"
"สุรชัย" เล่าว่า เมื่อเรียนจบ ได้เข้าทำงานเป็นเสมียนทนายความ ที่สำนักงานกฎหมายไชยพัฒน์ ด้วยเงินเดือน 800 บาท ต้องเรียนรู้ชีวิตการเป็นทนายความด้วยตนเอง โดยเดินตามทนายรุ่นพี่ไปว่าความ หิ้วกระเป๋า ทำสำนวน จัดเสื้อครุย คอยจดบันทึก จน 6 เดือน หัวหน้าเริ่มเห็นแวว ให้ว่าความเอง ก็เริ่มจากคดีง่ายๆ คดีแรกที่ทำเป็นการตั้งผู้จัดการมรดก ส่วนในวันเสาร์ทำงานเลิกครึ่งวัน ก็ไปนั่งอ่านหนังสือที่ธรรมศาสตร์เพื่อสอบเนติบัณทิต และสอบได้ในรุ่นที่ 30 ปี 2520
"สุรชัย" เป็นคนที่มองเห็นโอกาส และหยิบฉวยโอกาสนั้นมาสร้างความก้าวหน้าให้อาชีพทนายความได้
"สุรชัย" มองว่า ทนายความที่มีความรู้ด้านภาษีอากรและกฎหมายมหาชนมีน้อย ทั้งที่เป็นเรื่องที่สำคัญเพราะเป็นกฎหมายที่กระทบกับสิทธิและเสรีภาพของคน จึงเรียนต่อกฎหมายมหาชน สาขากฎหมายปกครอง และอบรมกฎหมายภาษีอากร
หลังผ่านการเรียนรู้ เพิ่มเติมในวิชาชีพ และหันมาจับงานด้านภาษีอากร ได้ 3 ปี "สุรชัย" ได้เลื่อนเป็นหัวหน้าคณะในการว่าความ ทำงานอยู่ได้ 7 ปี จึงแยกออกมาเปิดสำนักงานกฎหมายของตนเอง ในชื่อ "สำนักงานกฎหมายไชยรพี" ซึ่งเป็นสำนักงานกฎหมายที่มีชื่อเสียงในปัจจุบัน
ความที่เป็นนักกิจกรรมมาตั้งแต่สมัยเรียน อีกทั้งทำงานเป็นทนายความมากว่า 10 ปี เมื่อมีเวลาพอ "สุรชัย" ได้เข้าไปช่วยงานสภาทนายความ ตั้งแต่ปี 2528 ที่มีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดตั้งสภาทนายความ งานแรกที่ทำคือเป็นกรรมการสืบสวนคดีมรรยาท ตรวจสอบทนายความที่ประพฤติผิด พอทำงานเข้าตา ก็ได้รับคัดเลือกเป็นกรรมการมรรยาท
เวทีการเมืองแรกในชีวิตของ "สุรชัย" คือการสมัครเป็นกรรมการบริหารของสภาทนายความ ในทีมของ สัก กอแสงเรือง อดีตนายกสภาทนายความ ในปี 2543 และชนะการเลือกตั้งยกทีม
บทบาทสำคัญที่ทำในสภาทนายความ คือการริเริ่มทำฐานข้อมูลของสำนักงานทนายความ เพื่อคุ้มครองสิทธิของลูกความ เพราะในสมัยนั้นใครอยากจะเปิดก็เปิดได้ ไม่มีการจดทะเบียน ถือว่าไม่มีระเบียบ ประชาชนจะไม่มีทางรู้ได้เลยว่าสำนักงานไหนจริง หรือเถื่อน แม้จะมีการต่อต้านในช่วงแรก แต่ในที่สุดก็ผลักดันจนสำเร็จ
"สุรชัย" ยอมรับว่าเหนื่อยมาก แต่ถอยไม่ได้
"ถ้าเราทำในสิ่งที่ดี แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงบ้าง จากสะดวกเป็นไม่สะดวก แต่ถ้าสิ่งนั้นเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะและประชาชน ต้องกล้านำเสนอ เขตเลือกตั้งของเราคือเขตประเทศ ทำงานหนักกว่า ส.ส.อีก เพราะต้องเดินสายทำความเข้าใจกับทนายความทั่วประเทศ"
นอกจากนี้ ยังได้รับการคัดเลือกเป็น อุปนายกฝ่ายปฏิบัติการ ทำหน้าที่ดูแลช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมทั่วประเทศ ต้องลงพื้นที่ไปดูปัญหาของประชาชน
การเดินสายพบเจอปัญหาของชาวบ้าน ทำให้ สุรชัย คิดพัฒนาระบบช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย เพราะมองว่า ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ส่วนหนึ่งมาจากความล่าช้าในการพิจารณาคดีของศาล "หลักสูตรการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท" จึงเกิดขึ้นจากแนวคิดนี้
จนเมื่อเกิดเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 รัฐธรรมนูญ (รธน.) ถูกทำลาย ต้องจัดทำ รธน.ขึ้นใหม่ "สุรชัย" เป็นตัวแทนหนึ่งเดียวจากสภาทนายความ ที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) พ.ศ.2550 ทั้งยังเป็นประธานคณะกรรมาธิการภาคกลาง ดูแลพื้นที่ 17 จังหวัด และประธานคณะกรรมาธิการกรุงเทพฯ ที่ต้องทำหน้าที่เผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญตามพื้นที่ที่รับผิดชอบ หน้าที่อันหนักอึ้งและสำคัญนี้ ทำให้ สุรชัย ต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำ อยู่ในพื้นที่เป็นส่วนใหญ่ อยู่บ้านเป็นส่วนน้อย
"แต่ก็เป็นความตั้งใจของผมที่ช่วงหนึ่งของชีวิต เมื่อเราสร้างความมั่นคงส่วนตัวพอแล้ว ผมตั้งใจไว้ว่า เราต้องทำงานทดแทนคืนให้กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กับทดแทนบุญคืนให้กับแผ่นดินซึ่งคือประเทศชาติ"
รธน. ปี 2550 จะถูกโจมตีว่ามาจากรัฐประหาร ไม่ได้มาตามกระบวนการระบอบประชาธิปไตย คำพูดนี้สะท้อนในใจของสุรชัยตลอดเวลา
"ผู้ใหญ่หลายท่านก็ให้กำลังใจว่า คุณทำให้เกิดรัฐประหารรึเปล่าล่ะ เหตุการณ์มันเกิดขึ้นเพราะคนกลุ่มหนึ่ง แต่คุณเป็นคนอีกกลุ่มหนึ่งที่จะมาแก้ไขปัญหาตรงนี้ แม้จุดกำเนิดมันไม่ดี แต่ถ้าคุณทำให้คนเห็นว่าคุณทำมันอย่างดีที่สุด ให้สังคมเขาเห็นว่า รธน. ฉบับนี้เป็นเครื่องมือของสังคมในการที่จะพัฒนาการเมืองของประเทศได้ อดทนไปเถิด วันหนึ่ง จะต้องเป็นที่ยอมรับ" เป็นความในใจที่ "สุรชัย" สะท้อนให้ฟัง
อีกบทบาทสำคัญในการเป็นสมาชิก (ส.ส.ร.) ที่ "สุรชัย" ภูมิใจมาก คือหลายมาตราใน รธน. เป็นการต่อสู้ของเขา จากการแปรญัตติ ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง อาทิ สภาเกษตรกรที่เกิดขึ้น
และจุดเปลี่ยนสำคัญอีกครั้งในชีวิตของ "สุรชัย" ก็เกิดขึ้น เมื่อเขาก้าวเข้าสู่วงการการเมืองอย่างเต็มตัว
เพราะหลังการประกาศใช้ รธน. ปี 2550 แล้ว ต้องเริ่มกระบวนการเลือกตั้ง ส.ส. ส.ว. ที่มีทั้งสายเลือกตั้ง สายสรรหา
"สุรชัย" จึงตัดสินใจลงสมัครเป็น ส.ว.สรรหา และได้รับเลือกเข้ามาเป็น ส.ว.สรรหา ถึง 2 สมัย
เมื่อมาเป็น ส.ว. ก็ได้รับเลือกให้เป็นประธานกรรมาธิการ (กมธ.) ทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา ติดต่อกัน 3 สมัย
จนล่าสุดได้รับความไว้วางใจให้เป็นรองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 ที่อาสาพัฒนางานฐานข้อมูลกฎหมายของวุฒิสภาให้ก้าวหน้า
มาถึงวันนี้ รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 ในวัย 59 ปี ผ่านการทำงาน ในสนามวิชาชีพ วิชาการ และการเมือง มาอย่างโชกโชน
เมื่อครบเทอมการเป็น ส.ว.ในอีก 4 ปีข้างหน้า เขาเองประกาศวางมือ และจะทุ่มเทเวลาให้กับการสอนหนังสือ ซึ่งเป็นอีกงานที่รักมากและทำได้ดีตลอด 20 ที่ผ่านมา
"ผมเป็นคนที่อยู่นิ่งไม่ค่อยได้ ชอบทำงาน โดยเฉพาะสิ่งไหนที่เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองก็จะมีความสุขและภูมิใจอยู่ลึกๆ" สุรชัยกล่าวทิ้งท้าย
(ขอบคุณข้อมูลจาก มติชนออนไลน์ เมื่อวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2555)