โคทม เสนอนายกฯคนกลางนอกมาตรา 7

โคทม เสนอนายกฯคนกลางนอกมาตรา 7

โคทม เสนอนายกฯคนกลางนอกมาตรา 7
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นายโคทม อารียา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติวิธีและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมคณะนักวิชาการ รวม 7 คน ได้เสนอทางออกให้กับสถานการณ์ความขัดแย้งในปัจจุบัน โดยให้มีการพูดคุยกันเพื่อให้มีรักษาการนายกรัฐมนตรีที่เป็นคนกลาง แต่ไม่ได้มาด้วยมาตรา 7 ทั้งนี้นายโคทม เปิดเผยว่า ได้ส่งข้อเสนอดังกล่าวนี้ไปให้นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกฯ ทางอีเมลแล้ว โดยมีเนื้อหาบางช่วงบางตอนระบุว่า

เมื่อมีความขัดแย้ง คนส่วนใหญ่จะใช้วิธีการ คือ 1.หลีกเลี่ยง ไม่เผชิญหน้า หรือชะลอปัญหาไว้ก่อน 2.ใช้วิธีสู้เพื่อให้ได้ชัยชนะ 3. ใช้วิธีให้คู่ขัดแย้งมาร่วมกันคิดหาทางแก้ไขปัญหา โดยวิธีที่ 3 นี้ไม่มุ่งหวังชัยชนะโดยเด็ดขาดของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด หากเป็นชัยชนะร่วมกันที่ทำให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้ วิธีนี้แม้ยังใช้กันน้อยแต่มีโอกาสความยั่งยืนมากกว่า

ขณะที่ ฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์ และ กปปส. เสนอให้มีการใช้มาตรา 7 เพื่อแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีใหม่ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นคนกลาง แล้วเดินหน้าปฏิรูป หรือกำหนดที่มาและอำนาจหน้าที่ขององค์กรปฏิรูปแล้วจึงเลือกตั้ง ส่วนฝ่ายพรรคเพื่อไทย และ นปช. เสนอให้คณะรัฐมนตรีปัจจุบันรักษาการ ตามมาตรา 181 ต่อไป จนกว่าจะเลือกตั้ง โดยไม่เห็นด้วยกับการใช้มาตรา 7 แต่ไม่ขัดข้องในเรื่องการปฏิรูป

หลักคิดที่อาจใช้เป็นจุดเริ่มต้นของการก้าวพ้นความเห็นแย้งข้างต้น แล้วหันมาร่วมกันเปิดบทสนทนา และหาทางแก้ไขปัญหา คือ 1. การอยู่ในกรอบของรัฐธรรมนูญ โดยที่แต่ละฝ่ายยอมรับได้ว่าเป็นเช่นนั้น 2. การมีคนกลางในความหมายของผู้ไม่ฝักใฝ่ (non-partisan) มาทำหน้าที่เป็นหลักในบริหารราชการแผ่นดินในช่วงวิกฤต และ 3. การมีหลักประกันว่าทุกฝ่ายจะมาร่วมกันปฏิรูปการเมือง ถ้ารับข้อเสนอที่เป็นจุดเริ่มต้นนี้ได้ ก็อาจพิจารณาว่า 1. จะไม่ใช้มาตรา 7 ซึ่งมีข้อโต้แย้งกันมากในเรื่องความชอบด้วยรัฐธรรมนูญเพื่อให้ได้มาซึ่งคนกลางดังกล่าว 2. การไม่ใช้มาตรา 7 อาจหมายถึง การที่คนกลางจะไม่เป็นนายกรัฐมนตรีเต็มขั้น แต่เป็นรองนายกรัฐมนตรีผู้รักษาการในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และ 3. จะมีข้อเสนอที่ชัดเจนในเรื่ององค์กรปฏิรูปการเมืองที่มีผลผูกพันรัฐบาลชุดต่อไป โดยเป็นข้อเสนอที่ได้มาก่อนการเลือกตั้ง

ข้อเสนอหนึ่งที่คู่ขัดแย้งควรมาร่วมกันพิจารณา คือ จะสรรหารองนายกรัฐมนตรีผู้รักษาการนายกรัฐมนตรีที่เป็นคนกลางอย่างไร จากนั้นจึงร่วมมือกันสรรหาบุคคลดังกล่าว เมื่อได้ชื่อที่เห็นพ้องกันแล้ว รักษาการนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ก็นำความขึ้นกราบบังคมทูล เพื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นรองนายกรัฐมนตรี จากนั้นคณะรัฐมนตรีก็มีมติให้รองนายกรัฐมนตรีคนกลาง ทำหน้าที่รักษาการนายกรัฐมนตรี แทนคนปัจจุบัน

วิธีหนึ่งในการสรรหารักษาการนายกรัฐมนตรีที่เป็นคนกลาง คือ ให้คู่ขัดแย้งแต่ละฝ่าย ( 2 พรรคการเมือง และ 2 ขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมือง) เสนอชื่อบุคคลที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนดมาจำนวนหนึ่ง เช่น ฝ่ายละ 3 คน แล้วทุกฝ่ายมาประชุมพิจารณาสรรหาจากผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อ ส่วนคุณสมบัติของบุคคลดังกล่าว อาจได้แก่ 1. ไม่มีพฤติกรรม หรือการแสดงออกว่าเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอยู่เสมอ 2. มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ 3. มีความรู้ความสามารถในการบริหารราชการในยามวิกฤต โดยเป็นที่ยอมรับในแวดวงต่างๆ อย่างกว้างขวาง อาทิ แวดวงข้าราชการ แวดวงธุรกิจ วงการต่างประเทศ และภาคประชาสังคม

เมื่อมีรองนายกรัฐมนตรีที่รักษาการนายกรัฐมนตรี และเป็นคนกลางแล้ว อาจมีการปรึกษาหารือกันเพื่อดำเนินการแต่งตั้งรัฐมนตรีคนกลางคนหนึ่ง มาทำหน้าที่ประสานงานการปฏิรูปการเมือง และอาจมีรัฐมนตรีคนอื่นๆ อีก (โดยไม่เกินจำนวนรวม 35 คน) ซึ่งอาจดำเนินการแต่งตั้งจากคนกลาง หรือจากฝ่ายค้านก็ได้ เพื่อมาทำหน้าที่ช่วยคลี่คลายวิกฤตการเมืองครั้งนี้ ทั้งนี้ ขอให้รักษาการนายกรัฐมนตรี เป็นผู้จัดให้มีการปรึกษาหารือดังกล่าว

จากนั้นขอให้ทุกฝ่ายมาร่วมกันคิดเรื่องกระบวนการปฏิรูป และร่วมกันจัดทำข้อเสนอที่ชัดเจนในเรื่องที่มา และอำนาจหน้าที่ขององค์กรปฏิรูป แล้วนำข้อเสนอดังกล่าวไปลงประชามติ ซึ่ง กกต. เป็นผู้จัดอย่างไม่เป็นทางการ ในวันเดียวกันกับวันเลือกตั้ง เพื่อประหยัดงบประมาณ ตลอดจนลดขั้นตอน และเวลา หากผู้ออกเสียงประชามติอย่างไม่เป็นทางการเห็นชอบกับข้อเสนอดังกล่าว ก็จะเป็นข้อผูกพันทางการเมืองต่อผู้มีอำนาจหน้าที่ และรัฐบาลภายหลังการเลือกตั้งต่อไป

อนึ่ง ควรมีการปรึกษาหารือ และตกลงร่วมกันก่อนการเลือกตั้ง ในเรื่องการแบ่งปันอำนาจบริหาร และนิติบัญญัติหลังเลือกตั้ง และการดำรงตำแหน่งเฉพาะกาล เช่น 1 ปี ของรัฐบาลหลังเลือกตั้ง โดยให้มีการยุบสภา และการเลือกตั้งใหม่อีกครั้งเมื่อครบกำหนด 1 ปี

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook