จับตาทางออก หรือเดินหน้า วิกฤตประเทศ

จับตาทางออก หรือเดินหน้า วิกฤตประเทศ

จับตาทางออก หรือเดินหน้า วิกฤตประเทศ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

วันนี้ประเด็นร้อนทางการเมืองที่ยืดเยื้อยาวนานเป็นประวัติการณ์(ในแง่การชุมนุมต่อต้านรัฐบาลที่เกิน193วันที่พธม.ได้สร้างไว้193วัน) เป็นประเด็นที่ต้องจับตาอีกครั้งว่า ณ .จุดนี้ สถานการณ์จะเดินไปสู่ทางออกของวิกฤต หรือ เดินหน้าไปสู่ความรุนแรง

ความพยายามของวุฒิสมาชิก ภายใต้การนำของนาย สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ว่าที่ ประธาน ส.ว.ที่เดินสายระดมความเห็นจากทุกภาคส่วนในการหาทางออกให้กับประเทศ ซึ่ง ท่านว่าที่ประธานย้ำกับสื่อมาหลายครั้งว่า กำลังอยู่บนความเสี่ยงอย่างยิ่งที่จะนำไปสู่ความรุนแรงครั้งใหญ่ได้ เหมือนกับที่หลายภาคส่วนมีการประเมิน

ทั้งนี้ สิ่งที่ต้องจับตาคือ การกำหนดการแถลงผลสรุป ทางออกประเทศ ในช่วงบ่ายวันนี้ว่า จะออกมาอย่างไรและจะเดินหน้าอย่างไร จะเป็นเงื่อนไขไปสู่ทางออกหรือ เดินหน้าไปสู่ความขัดแย้งอย่างไร น่าสนใจยิ่ง

อย่างไรก็ตามจากท่าทีเบื้องต้นหลังจาก กลุ่มส.ว.ได้เดินสายหารือก่อนที่จะประชุมสรุปวันนี้ มีทิศทางที่พอมองเห็นประเด็นคือ

จากการเปิดเผยของ พล.อ.อ.วีรวิท คงศักดิ์ ส.ว.สรรหา ซึ่งเปิดเผยต่อสื่อ เมื่อวานนี้ว่า จากการหารือหัวหน้าส่วนราชการ และตัวแทนเหล่าทัพ 25 หน่วยงาน รวมทั้งกลุ่มสื่อมวลชนและภาคประชาสังคมเพื่อร่วมหาทางออกประเทศว่า
"ที่ประชุมเห็นตรงกันว่าควรมีนายกฯที่มีอำนาจเต็มมาแก้ปัญหา แต่ไม่ได้พูดถึงการตั้งนายกฯตามมาตรา 7 เพียงแต่พูดถึงกระบวนการในการสรรหาบุคคลว่า จะต้องทำอย่างไร ซึ่งอาจจะต้องมีการกำหนดคุณสมบัติขั้นพื้นฐาน"
โดยวันนี้ ในช่วงเข้าคณะทำงานจะมีการเดินทางไปพบ "กฤษฎีกา"และจากนั้นจะกลับมาประชุมที่รัฐสภา เวลา 13.30 น.
"สิ่งที่จะต้องเดินคือต้องหาวิธีตามกฎหมายและเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ซึ่งไม่ใช่นายกฯคนกลาง แต่ต้องมีนายกฯอำนาจเต็มเพื่อมาแก้ปัญหาในการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งกรอบเวลานั้นยังไม่ได้มีการพูดกัน แต่เบื้องต้นนั้นมี 2 ขั้นตอนของกระบวนการว่า จะได้มาอย่างไรอธิบายได้ด้วยข้อกฎหมายใดและการสรรหาตัวบุคคล มีข้อเสนอว่ามีการกำหนดคุณสมบัติพื้นฐานโดยอาจจะมีการเสนอชื่อจากภาคส่วนต่างๆแล้วนำมาคัดสรรในที่ประชุมวุฒิสภาต่อไป"

นอกจากนี้ ทางออกที่คณะทำงานมองเห็นก็คือ การจัดตั้ง "รัฐบาลเฉพาะกิจ" ขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ตามกรอบเวลา โดย พล.อ.อ.วีรวิท อธิบายว่า รัฐบาลเฉพาะกิจ ที่ตั้งขึ้นมาเพราะ
"รัฐบาลชุดนี้ไม่ใช่รัฐบาลรักษาการ แต่เป็นรัฐบาลที่ทำหน้าที่อยู่ในตำแหน่งตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 180 และในวรรคท้ายของมาตรา 180 ระบุว่า จะต้องให้มีดำเนินการตามมาตรา 172 ภายใน 30 วัน"
"ดังนั้น เมื่อกระบวนการหานายกฯใหม่ เป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ หากได้รับการโปรดเกล้าฯรัฐบาลชุดปัจจุบันก็ถือว่าสิ้นสุดลง จึงถือว่าดำเนินการได้ไม่เป็นการทับซ้อนและเป็นไปตามกฏหมาย"

สำหรับแนวทาง ที่จะนำมาสู่เป้าหมายการตั้งนายกเฉพาะกิจมี 2 ทาง คือ ตามมาตรา 7 และกฎหมายเทียบเคียงคือ มาตรา 180 วรรคท้าย ที่ให้สรรหานายกฯตามาตรา 172 มาตรา 173 โดยอนุโลมได้

นั้นคือท่าทีในส่วนของวุฒิสภา แต่ แนวทางนี้ จะได้รับการตอบรับจากคู่ขัดแย้งหลัก คือ กปปส.และ รัฐบาล พรรคเพื่อไทย และ กลุ่มนปช.หรือไม่อย่างไร

หากดูทิศทางการเคลื่อนไหวของซีกพรรคเพื่อไทย และนปช.แล้ว ค่อนข้างชัดเจนว่า ไม่รับกับแนวทางตามที่ ส.ว.พยายามหาพิมพ์เขียวดังกล่าว โดยพยายามมุ่งเป้าหมายอย่างชัดเจนว่า "จะต้องเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้งโดยเร็วเท่านั้น" จึงจะเป็นทางออก โดยพยายามอธิบายถึงหลักการปกครองของระบบประชาธิปไตยและภายใต้กฏหมายรัฐธรรมนูญ สิ่งที่รองรับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองก็คือ การคืนอำนาจการตัดสินใจการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองผ่านกระบวนการเลือกตั้งเท่านั้น
และชัดเจน เมื่อ นายจตุพร พรหมพันธ์ ประธานนปช. ประกาศกร้าว ในการชุมนุมที่ถนนอักษะโดยอ้างว่า หากวุฒิสภา เดินหน้าเพื่อตั้งรัฐบาลเฉพาะกิจ หรือ เสนอตั้งนายกเฉพาะกิจขึ้นมา จะระดมมวลชนครั้งใหญ่เพื่อต่อต้านอย่างถึงที่สุด เพื่อปกป้องประชาธิปไตยด้วยชีวิต
ในส่วนของกปปส. ชัดเจนว่า แนวทาง ที่วุฒิสภา พยายามหาทางออก ค่อนข้างไปในทิศทางเดียวกัน โดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ และแกนนำ พยายามเรียกร้องให้ รัฐบาลรักษาการลาออก เพื่อเปิดโอกาสให้มีการตั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลขึ้นมาทำหน้าที่ในการปฏิรูปในกรอบระยะเวลาที่กำหนด ก่อนจะจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่

ด้วยท่าทีของสองคู่ขัดแย้งปัจจุบัน จึงยังมองไม่เห็นจุดร่วมในการจะหาทางออกจากวิกฤตทางการเมืองได้ ดังนั้น การแถลงผลสรุปของ ส.ว.ช่วงบ่ายวันนี้จึงเป็นที่น่าจับตายิ่งว่า จะสามารถหาจุดร่วมเพื่อฝ่าวิกฤตการเมืองได้หรือไม่ หรือ จะเป็นจุดที่ชี้ชัดการเข้าสู่วิกฤตครั้งใหญ่

อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์ที่สุ่มเสี่ยงครั้งนี้ การออกมาแถลงการณ์ 7 ข้อ ของกองทัพบกเมื่อวานนี้ จึงเป็นประเด็นที่ต้องจับตาบทบาทของกองทัพว่า จะเข้ามามีบทบาทในการแก้ไขความขัดแย้งครั้งนี้อย่างไร เพราะนักวิเคราะห์การเมืองหลายคนต่างมองว่า นี่คือการออกมาปราม ที่ชัดเจนที่สุด ว่า "ทหาร"จะเข้ามามีบทบาทในการแก้ไขสถานการณ์ความขัดแย้งครั้งนี้ และเมื่อถึงจุดนั้น สถานการณ์จะพลิกพันไปในทิศทางใด เป็นสิ่งที่น่าจับตาอย่างยิ่ง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook