คสช.กางโรดแม็ปเศรษฐกิจใช้ระบบเศรษฐกิจเสรี ลุยปรับโครงสร้างภาษี ทบทวนกองทุนนอกงบ
นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) เปิดเผยว่า ในการประชุมระหว่างหน่วยงานด้านเศรษฐกิจทั้งภาครัฐและเอกชนกับพล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เมื่อวันที่ 25 พ.ค.ที่ผ่านมา
คสช.ประกาศนโยบายทางด้านเศรษฐกิจหลายระยะ โดยระยะเร่งด่วนทางด้านเศรษฐกิจคือแก้ไขปัญหาหนี้ค้างชำระแก่ชาวนาในโครงการจำนำข้าว เร่งแก้ไขปัญหาการขอใบอนุญาตโรงงานอุตสาหกรรมที่ล่าช้า เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน เร่งการเบิกจ่ายงบลงทุนปี 2557 ที่ยังค้างท่อซึ่งขณะนี้ มีอยู่จำนวนประมาณ 7 พันล้านบาท
พร้อมทั้งเริ่มกระบวนการลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น เช่น ระบบรถไฟรางคู่ และ รถไฟฟ้าสายต่างๆในเขตกทม.และปริมาณฑล ที่สำคัญคือเร่งจัดทำงบประมาณรายจ่ายปี 2558 ให้แล้วเสร็จก่อนเดือนกันยายนนี้ เพื่อให้ทันเบิกใช้วันแรกของปีงบ คือ 1 ตุลาคม 2557
ส่วนนโยบายที่ต้องทำควบคู่ไปกับนโยบายเร่งด่วน
1.ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมและขจัดปัญหาการทุจริต
2.ปฏิรูปโครงสร้างภาษีอย่างเป็นธรรม
3.ทบทวนโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยเน้นให้มีการจัดเก็บภาษีจากคนที่มีรายได้สูงมากขึ้น และดึงผู้มีรายได้เข้ามาในระบบมากขึ้น
4.ส่งเสริมการค้าชายแดน ผ่านการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ
5.ส่งเสริมและพัฒนาสินค้าขั้นกลางและขั้นปลายเพื่อการส่งออกให้มากขึ้น
6.ทบทวนกองทุนนอกงบประมาณต่างๆ เช่น กองทุนหมู่บ้าน กองทุนสตรี โดยหากเป็นกองทุนที่ไม่เป็นประโยชน์ก็พร้อมที่จะทบทวน
7.ส่งเสริมให้มีการดูแลเกษตรกรชาวนาอย่างเป็นระบบ
ทั้งนี้คสช.ได้กำหนดโรดแม็ปด้านเศรษฐกิจประกอบด้วย
1.จะเน้นการบริหารระบบเศรษฐกิจแบบเสรี ซึ่งจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยภาคเอกชนเป็นหลัก
2.ให้การเคลื่อนย้ายเงินทุนเป็นไปอย่างเสรี
3.ส่งเสริมนโยบายการค้าเสรี
4.ลดบทบาทรัฐวิสาหกิจที่ภาคเอกชนสามารถดำเนินการได้
5.ขจัดอุปสรรคการค้าต่างประเทศให้คล่องตัว ทั้งนี้ คสช.เสนอให้มีการจัดตั้งคณะทำงานขึ้นมาหนึ่งชุดเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เออีซี)
6.ส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศและสนับสนุนการลงทุนในต่างประเทศ
7.สนับสนุนการลงทุนระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม โดยเฉพาะในส่วนที่ประชาชนไม่มีความสงสัย ส่วนที่ยังสงสัยให้มีการศึกษาโดยละเอียด
8.ไม่ก่อหนี้เกินตัวและรักษาวินัยการคลัง
9.ขจัดความไม่เป็นธรรมในระบบพ่อค้าคนกลาง
10.แก้ไขปัญหาแรงงานอย่างบูรณาการ