ศาลทหาร คืออะไร
"ศาลทหาร" กลายเป็นที่มีผู้สนใจและให้ความสำคัญเมื่อ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ออกประกาศฉบับที่ 37/2557 เรื่อง ความผิดที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหาร โดยมีสาระสำคัญ คือ ให้บรรดาคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ได้แก่ ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตั้งแต่มาตรา 107-112 และความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ตั้งแต่มาตรา 113-118 และความผิดตามประกาศหรือคำสั่ง คสช. ให้การกระทำผิดเกิดขึ้นในเขตราชอาณาจักร และในระหว่างที่ประกาศนี้ใช้บังคับ อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหาร ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลงนั้น
หลายคนที่ได้ฟังคำประกาศของ คสช.อาจจะไม่เข้าใจว่า "ศาลทหาร" คืออะไร วันนี้เรามีคำตอบมาฝาก
ตามรัฐธรรมนูญได้กำหนดให้มีศาล ๔ประเภท ได้แก่ ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง และศาลทหาร โดยศาลแต่ละประเภทจะมีอำนาจในการพิจารณาคดีแต่ละประเภทแตกต่างกันไป ทั้งนี้ตามที่รัฐธรรมนูญ และกฎหมายจัดตั้งศาลนั้นๆจะได้กำหนด กล่าวคือ ศาลรัฐธรรมนูญ จะมีอำนาจพิจารณาและวินิจฉัยคดีที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรมก็จะรับพิจารณาและวินิจฉัยในเรื่องของกระบวนการยุติธรรมทางแพ่งและทางอาญาทั่วไป ส่วนศาลปกครองจะรับพิจารณาและวินิจฉัยคดีเกี่ยวกับการปกครองระหว่างรัฐหรือองค์กรของรัฐกับประชาชน
สำหรับศาลทหารนั้นรัฐธรรมนูญกำหนด ให้มีอำนาจพิจารณาคดีอาญาทหารและคดีอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ และพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.๒๔๙๘ มาตรา ๑๓ กำหนดให้ ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาและพิพากษาลงโทษทางอาญาต่อบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหาร ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหาร ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้นั้น หมายถึงข้าราชการทหารทั่ว ๆไปนั่นเอง
ศาลทหาร จัดตั้งขึ้นตาม พระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. ๒๔๙๘ นอกจากจะมีลักษณะเช่นเดียวกับพระธรรมนูญศาลยุติธรรมที่จัดตั้ง ศาลยุติธรรมแล้ว พระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหารยังมีบทบัญญัติในส่วนที่เกี่ยวกับวิธีพิจารณาความในศาลทหาร รวมไปถึงบทบัญญัติในเรื่องการแต่งตั้งและถอดถอนตุลาการอีกด้วย จึงเป็นการนำเอาบทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวกับระบบศาลและตุลาการ(ในศาลพลเรือนเรียกว่า "ผู้พิพากษา") ทั้งหมดมารวมไว้ในกฎหมายฉบับเดียวกัน ซึ่งถ้าหากเทียบเป็นกฎหมายในปัจจุบันก็คงเรียกชื่อว่าพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทหารและวิธีพิจารณาความในศาลทหาร เช่นเดียวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง
ประเภทของศาลทหาร
ศาลทหารสามารถแบ่งได้เป็น ๓ ประเภท คือ
(๑) ศาลทหารในเวลาปกติ
(๒) ศาลทหารในเวลาไม่ปกติ
(๓) ศาลอาญาศึก
ศาลทหารในเวลาปกติ
ศาลทหารในเวลาปกติ คือ ศาลทหารที่ดำเนินการอยู่ในช่วงเวลาที่บ้านเมืองสงบสุขไม่มีศึกสงคราม โดยศาลทหารในเวลาปกติจะมีการพิจารณาพิพากษาคดีที่สามารถอุทธรณ์ และฎีกาได้สามชั้น ดังนั้นศาลทหารในเวลาปกติจึงประกอบด้วย
ก. ศาลทหารชั้นต้น
ข. ศาลทหารกลาง (ชั้นอุทธรณ์)
ค. ศาลทหารสูงสุด (ชั้นฎีกา)
ศาลทหารในเวลาไม่ปกติ
ในเวลาไม่ปกติ หมายถึง ในเวลาที่มีการรบ หรือสถานะการณ์สงคราม หรือได้ประกาศใช้ กฎอัยการศึก ศาลทหารซึ่งมีอยู่แล้วในเวลาปกติคงพิจารณาพิพากษาคดีอาญาได้ตามอำนาจ แต่ถ้าผู้มีอำนาจประกาศใช้กฎอัยการศึกได้ประกาศ หรือผู้บัญชาการทหารสูงสุดได้สั่งตามกฎหมายว่าด้วยกฎอัยการศึก ให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาใด ๆ อีก ก็ให้ศาลทหารพิจารณาพิพากษาคดีอาญาตามประกาศ หรือคำสั่งนั้นได้ด้วย
เมื่อหมดภาวะการรบ หรือสถานะสงคราม หรือเลิกใช้กฎอัยการศึก ศาลทหาร ยังคงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่ค้างอยู่ในศาล หรือที่ยังมิได้ฟ้องโดยมีอำนาจแต่งตั้งตุลาการ หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมมีอำนาจสั่งโอนคดี หรือส่งผู้ต้องหาไปดำเนินคดียังศาลทหารแห่งอื่นได้และให้การพิจารณาพิพากษาคดีเช่นนี้มีอำนาจและหน้าที่ดังศาลทหารในเวลาไม่ปกติ
ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร มาตรา ๓๖
ศาลอาญาศึก
ศาลอาญาศึกเป็นศาลทหารอีกประเภทหนึ่งที่ได้แยกออกมาต่างหากจากศาลทหารในเวลาปกติและศาลทหารในเวลาไม่ปกติ การตั้งศาลอาญาศึกจะเกิดขึ้นได้เมื่อเข้าหลักเกณฑ์ดังนี้
(๑) เมื่อมีการรบเกิดขึ้น โดยได้มีการกำหนดเขตยุทธบริเวณ
(๒)ในเขตยุทธบริเวณดังกล่าว มีกำลังทหารไม่น้อยกว่าหนึ่งกองพัน หรือมีเรือรบ ป้อม หรือที่มั่นอย่างใด ๆ ของทหาร
(๓) ผู้บังคับบัญชาของกองกำลังทหารที่ไม่น้อยกว่าหนึ่งกองพัน หรือผู้บังคับบัญชาประจำเรือรบ ป้อม หรือที่มั่นดังกล่าวตามข้อ ๒ หรือผู้ทำการแทนผู้บังคับบัญชาดังกล่าว ได้ตั้ง
ศาลอาญาศึกขึ้นมาเพื่อพิจารณาคดีอาญาที่เกิดขึ้นในยุทธบริเวณนั้น ๆ
คดีที่อยู่ในอำนาจศาลทหาร
พระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. ๒๔๙๘ มาตรา ๑๓ กำหนดให้ศาลทหาร มีอำนาจ พิจารณาพิพากษาลงโทษผู้กระทำความผิดอาญาซึ่งเป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารในขณะกระทำผิด สั่งลงโทษบุคคลใดๆ ที่กระทำผิดฐาน ละเมิดอำนาจศาล นอกจากนี้ยังกำหนดให้มีอำนาจในการพิจารณาคดีอย่างอื่นได้อีกตามที่จะมีกฎหมายบัญญัติเพิ่มเติม ที่เคยมีมาแล้วเช่น ความผิดฐานกระทำการอันเป็นคอมมูนิตส์ เป็นต้น
สำหรับอำนาจในการรับฟ้องคดีของศาลทหารแบ่งได้ดังนี้ ศาลจังหวัดทหารจะรับฟ้องคดีที่จำเลยมีชั้นยศเป็นนายทหารประทวน ศาลมณฑลทหารจะรับฟ้องคดีที่จำเลยมีชั้นยศตั้งแต่ชั้นประทวนจนถึงชั้นยศสัญญาบัตรแต่ไม่เกินพันเอก ส่วนศาลทหารกรุงเทพจะรับฟ้องได้หมดทุกชั้นยศ นอกจากนี้ชั้นยศจำเลยมีผลต่อการแต่งตั้งองค์คณะตุลาการที่จะพิจารณาคดีด้วย โดยองค์คณะตุลาการที่จะแต่งตั้งนั้นอย่างน้อยต้องมีผู้ที่มียศเท่ากันหรือสูงกว่าจำเลย
เกร็ดความรู้ เรื่อง ศาลทหาร
โดย กองพระธรรมนูญ กรมสารบรรณทหาร