ชาวสังขละบุรี-นักท่องเที่ยวไม่ปลื้ม บูรณะสะพานมอญ ขัดแรงศรัทธา-งบฯ สูงลิ่ว

ชาวสังขละบุรี-นักท่องเที่ยวไม่ปลื้ม บูรณะสะพานมอญ ขัดแรงศรัทธา-งบฯ สูงลิ่ว

ชาวสังขละบุรี-นักท่องเที่ยวไม่ปลื้ม บูรณะสะพานมอญ ขัดแรงศรัทธา-งบฯ สูงลิ่ว
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

(7 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าว จ.กาญจนบุรี รายงานว่า บรรยากาศการท่องเที่ยวที่อำเภอสังขละบุรี ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์นี้ พบว่า นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติลดน้อยลงไปอย่างเห็นได้ชัด ตั้งแต่สะพานอุตตมานุสรณ์ หรือที่นิยมเรียกกันว่า สะพานมอญ หรือ สะพานไม้ ที่เชื่อมต่อระหว่างหมู่บ้านชาวมอญ บ้านวังกะ หมู่ 2 กับชุมชนเขตเทศบาลตำบลวังกะ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี ถูกกระแสน้ำพัดพังถล่มขาดเป็น 2 ท่อน เมื่อวันที่ 28 ก.ค. 2556 จนถึงวันนี้เกือบครบ 1 ปี ทางจังหวัดกาญจนบุรีเพิ่งจะได้บริษัทผู้รับจ้างที่จะมาดำเนินการบูรณะซ่อมแซมสะพาน ขณะที่ชาวบ้านที่มีบ้านพักอาศัยอยู่บริเวณใกล้สะพานแห่งนี้ก็กำลังได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากถูกทางเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาแหลมไล่ที่ เพื่อขอพื้นที่บริเวณดังกล่าวคืน ส่งผลให้ชาวบ้านจำนวนมากต้องรื้อถอนบ้านออกทั้งหมด โดยทางอุทยานฯ อ้างกับชาวบ้านว่าจะใช้พื้นที่ปรับภูมิทัศน์บริเวณสะพาน ในขณะที่ชาวบ้านเหล่านั้นอยู่อาศัยมานานเกือบ 50 ปี แต่ต้องย้ายไปหาที่อยู่ใหม่

สำหรับการบูรณะซ่อมแซมสะพาน ทางจังหวัดกาญจนบุรีได้มอบหมายให้ทางสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัด ร่วมกับ อบจ.กาญจนบุรี ลงพื้นที่สำรวจและประมาณการราคา โดยขอรับบริจาคจากหน่วยงานและองค์กรต่างๆ ประกอบด้วย สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ธนาคารไทยพาณิชย์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และประชาชนทั่วไป ที่ได้ร่วมบริจาค ปัจจุบันมียอดเงินกว่า 16 ล้านบาท และยังมีการบริจาคกันต่อเนื่อง ขณะที่ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ป.รุ่งเรืองวัสดุภัณฑ์ ใช้งบประมาณค่าก่อสร้าง จำนวนเงิน 16,347,000 บาท โดยเริ่มสัญญาเมื่อวันที่ 9 เม.ย. ที่ผ่านมา แต่ทางบริษัทเพิ่งจะเริ่มลงมือบูรณะซ่อมแซมมาประมาณ 2 สัปดาห์ โดยได้นำเครื่องมือเครื่องจักร เสาที่ใช้ทำตอม่อสะพานมากองไว้ที่ริมตลิ่งแม่น้ำซองกาเรีย และได้ทำการรื้อถอนโครงสร้างสะพานในส่วนของช่วงปลายสะพานที่ขาดทั้งสองฝั่งออกไปแล้วบางส่วน ในขณะที่ปริมาณน้ำในแม่น้ำซองกาเรีย มีสภาพตื้นเขิน จนมองเห็นสันดอนทรายโผล่ และบางแห่งก็มีระดับน้ำแห้งขอดจนสามารถเดินข้ามฝั่งได้ โดยมีกำหนดระยะเวลาในการก่อสร้าง 120 วัน และสิ้นสุดสัญญาในวันที่ 6 สิงหาคม 2557

โดยนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาท่องเที่ยวที่สะพาน บอกว่า เคยมาเที่ยวชมสะพานแห่งนี้ตั้งแต่ยังไม่พังเสียหาย และครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 แล้ว โดยต้องการมาดูว่าสะพานยังคงรูปแบบเดิมหรือไม่ แต่พบว่าเพิ่งจะเริ่มลงมือซ่อมแซม แต่หากการซ่อมแซมไม่คงอัตลักษณ์เดิมไว้ก็น่าเสียดายอย่างยิ่ง เพราะนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวชมสะพานแห่งนี้ ต้องการชมสะพานที่เกิดจากแรงศรัทธาของชาวบ้านที่มีต่อหลวงพ่ออุตตมะ ที่ทำให้ชาวบ้านต่างพร้อมใจกันสร้างขึ้นมาเพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกัน

นายรอน สืบยิ้ม สมาชิกสภาเทศบาลตำบลวังกะ ได้พูดถึงการซ่อมแซมสะพานอุตตมานุสรณ์ ว่า งบประมาณที่ตั้งไว้กว่า 16 ล้านบาท ไม่ทราบว่างบฯ จำนวนมากมายขนาดนั้นเอาไปทำอะไรบ้าง ซึ่งหากชาวบ้านช่วยกันซ่อมแซมก็จะทำให้นเกิดความรักความสามัคคี และร่วมกันดูแลรักษา เหมือนเช่นสมัยที่หลวงพ่ออุตตมะยังมีชีวิตอยู่ ที่ได้นำเงินบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธา แล้วให้ชาวบ้านร่วมกันสร้างสะพานแห่งนี้ขึ้นมา และคาดว่าหากทางวัดวังก์วิเวการามร่วมกับชาวบ้านซ่อมแซมกันเองจะใช้งบประมาณไม่เกิน 5 ล้านบาท และจะแล้วเสร็จไปนานแล้ว อย่างไรก็ตามชาวบ้านเชื่อว่าทางบริษัทผู้รับจ้างไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จได้ทันตามสัญญา เนื่องจากในพื้นที่เริ่มมีฝนตกลงมาแล้ว หากมีน้ำป่าไหลหลากมาการก่อสร้างก็จะยิ่งเป็นปัญหาอุปสรรคอย่างแน่นอน

ในขณะที่ นายประกอบ ดอกบัว ซึ่งเป็น 1 ในชาวบ้านที่ถูกไล่ที่ กล่าวว่า ชาวบ้านจำนวนมากที่มีบ้านพักอาศัยอยู่บริเวณใกล้สะพานกำลังได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก เนื่องจากทางอุทยานแห่งชาติเขาแหลมได้มาขอคืนพื้นที่ โดยอ้างว่าจะต้องใช้พื้นที่ดังกล่าวปรับภูมิทัศน์ ชาวบ้านจึงต้องรื้อถอนบ้านเรือนที่เคยอยู่อาศัยมาเป็นระยะเวลานานเกือบ 50 ปี จึงอยากวิงวอนให้ทางจังหวัดจัดสรรงบประมาณลงมาให้ความช่วยเหลือชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบที่ต้องจัดหาที่อยู่ใหม่ด้วย

ด้าน ด.ช.สุรศักดิ์ ไม่มีนามสกุล อายุ 15 ปี ชาวมอญ ด.ช.คมสันต์ อยู่เย็น อายุ 10 ปี ทั้งสองเป็นมัคคุเทศก์น้อย และ นางสาวมยุรา หงษา อายุ 28 ปี แม่ค้าที่อยู่บริเวณเชิงสะพาน ต่างบ่นเป็นเสียงเดียวกันว่า ตั้งแต่สะพานได้ถูกน้ำพัดพังเสียหายไป ในช่วงแรกๆ นักท่องเที่ยวต่างพากันเดินทางมาดูภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก แต่ในช่วงหลังๆ เมื่อสอบถามเข้ามาและพบว่าสะพานยังซ่อมแซมไม่เสร็จ จำนวนนักท่องเที่ยวก็ลดน้อยลงไป ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตชาวบ้านในพื้นที่พอสมควร หากสะพานสามารถซ่อมแซมให้แล้วเสร็จโดยเร็ว วิถีชีวิตของชาวบ้านที่มีอาชีพค้าขายกับนักท่องเที่ยวก็จะกลับคืนมาอย่างแน่นอน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook