คสช.ยกเลิกเคอร์ฟิวเพิ่มในพื้นที่ 20 จังหวัด

คสช.ยกเลิกเคอร์ฟิวเพิ่มในพื้นที่ 20 จังหวัด

คสช.ยกเลิกเคอร์ฟิวเพิ่มในพื้นที่ 20 จังหวัด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า (10 มิ.ย.) เมื่อเวลา 20.55 น. คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ออกประกาศฉบับที่ 59/2557 เรื่อง ขยายระยะเวลาการนำส่งมอบอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิด ที่สำหรับใช้เฉพาะแต่การสงคราม

ตามที่ได้มีคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 37/2557 ลงวันที่ 29 พ.ค. 2557 เรื่องให้ผู้มีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิดที่สำหรับใช้เฉพาะแต่การสงครามนำส่งมอบ และประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 53/2557 ลงวันที่ 3 มิ.ย. 2557 เรื่องกำหนดให้ผู้กระทำความผิดในบางกรณีไม่อยู่ใต้บังคับคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 37/2557 แล้วนั้น เพื่อให้มีการนำอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิด ที่สำหรับใช้เฉพาะแต่การสงคราม ส่งมอบต่อนายทะเบียนท้องที่ตามกฎหมายต่อไปอีกระยะหนึ่ง คณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงมีประกาศ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ให้ขยายเวลาแก่ผู้ที่มีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิด ที่สำหรับใช้เฉพาะแต่การสงคราม ในการส่งมอบต่อนายทะเบียนท้องที่ตามกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน ตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 37/2557 ลงวันที่ 28 พ.ค. 2557 เรื่องให้ผู้มีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิดที่สำหรับใช้เฉพาะแต่การสงครามนำส่งมอบ ต่อไปจนถึงวันที่ 25 มิ.ย. 2557

ข้อ 2 ให้ผู้นำอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิด ที่สำหรับใช้เฉพาะแต่การสงครามส่งมอบต่อนายทะเบียนท้องที่ภายในกำหนดเวลาตามข้อ 1 ไม่ต้องรับโทษทางอาญา ตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน

ข้อ 3 ผู้ที่ฝ่าฝืนไม่นำอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิดที่สำหรับใช้เฉพาะแต่การสงครามส่งมอบต่อนายทะเบียนทอ้งที่ภายในกำหนดเวลาตามข้อ 1 มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2 ปี ถึง 20 ปี

ข้อ 4 ประกาศนี้มิบังคับแก่ผู้กระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน ที่ถูกจับกุมหรือตกเป็นผู้ต้องหาหรือเป็นจำเลยก่อนวันที่ 29 พ.ค. 2557 และอยู่ระหว่างการสอบสวนหรือระหว่างคดี ยังไม่ถึงที่สุด

นอกจากนี้ ยังมีประกาศ คสช.ฉบับที่ 60/2557 เรื่องยกเลิกการห้ามออกนอกเคหสถานในบางพื้นที่ โดยยกเลิกเพิ่มเติมในพื้นที่ดังนี้

1.จ.กาญจนบุรี
2.จ.ราชบุรี
3.อ.เขาย้อย อ.หนองหญ้าปล้อง อ.ท่ายาง อ.บ้านลาด อ.บ้านแหลม อ.แก่งกระจาน อ.เมือง จ.เพชรบุรี
4.จ.ระยอง
5.จ.จันทบุรี
6.อ.คลองใหญ่ อ.เขาสมิง อ.บ่อไร่ อ.แหลมงอบ อ.เกาะกูด และ อ.เมือง จ.ตราด
7.จ.นครพนม
8.จ.สกลนคร
9.จ.ร้อยเอ็ด
10.จ.เลย
11.จ.สุรินทร์
12.จ.ตาก
13.จ.สุโขทัย
14.จ.แม่ฮ่องสอน
15.จ.อุตรดิตถ์
16.จ.แพร่
17.จ.น่าน
18.อ.สะเดา อ.เมือง จ.สงขลา
19.จ.ตรัง
20.จ.สตูล

ต่อมาเวลา 22.00 น. คำสั่ง คสช.59/2557 แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าว (กนร.) โดยมี รอง หัวหน้า คสช. ด้านความมั่นคง เป็น ประธาน ปลัด กระทรวงแรงงาน เป็น รองประธาน ปลัดกระทรวงทุกกระทรวง, ผอ.สำนักข่าวกรองฯ, ผอ.สำนักงบฯ, เลขาฯ สมช., เลขาสภาพัฒน์, ผบ. 3 เหล่าทัพ, ผบ.ตร. เลขาฯกอ.รมน., อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์, เสนาธิการทหาร, เจ้ากรมยุทธการทหาร, อธิบดีกรมการจัดหางาน เป็นกรรมการ

คำสั่งคสช.ที่ 60/2557 เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการประสานงานการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าว เพื่อให้การขับเคลื่อนนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ในการแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวทั้งระบบ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นเอกภาพ และเกิดผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมโดยเร็ว คณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการประสานงานการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าว (อกนร.) เพื่อช่วยปฏิบัติงานของคณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าว (กนร.) โดยมีองค์ประกอบ และอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
1. องค์ประกอบ
1.1 เสนาธิการทหาร ประธานอนุกรรมการ
1.2 อธิบดีกรมการจัดหางาน รองประธานอนุกรรมการ
1.3 เสนาธิการทหารบก อนุกรรมการ
1.4 เสนาธิการทหารเรือ อนุกรรมการ
1.5 เสนาธิการทหารอากาศ อนุกรรมการ
1.6 ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนกลาโหม อนุกรรมการ
1.7 รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ อนุกรรมการ
1.8 ผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 2 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร อนุกรรมการ
1.9 อธิบดีกรมการปกครอง อนุกรรมการ
1.10 อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน อนุกรรมการ
1.11 อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ อนุกรรมการ
1.12 อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน อนุกรรมการ
1.13 อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ อนุกรรมการ
1.14 อธิบดีกรมควบคุมโรค อนุกรรมการ
1.15 อธิบดีกรมเอเชียตะวันออก อนุกรรมการ
1.16 อธิบดีกรมอาเซียน อนุกรรมการ
1.17 อธิบดีกรมอนามัย อนุกรรมการ
1.18 ผู้บัญชาการสำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจ อนุกรรมการ
1.19 ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง อนุกรรมการ
1.20 เจ้ากรมยุทธการทหาร อนุกรรมการ และเลขานุการ
1.21 ผู้อำนวยการสำนักปฏิบัติการ กรมยุทธการทหาร อนุกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
1.22 ผู้อำนวยการสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว กรมการจัดหางาน อนุกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
2. อำนาจหน้าที่
2.1 เสนอแนะนโยบาย มาตรการ และแนวทางการดำเนินการแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวต่อคณะกรรมการ
2.2 ประสานงาน ติดตามการดำเนินงาน ให้ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะแก่ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ
2.3 พิจารณากลั่นกรองแผนงาน โครงการ และมาตรการที่เกี่ยวข้องก่อนนำเสนอคณะกรรมการ
2.4 พิจารณาทบทวน ปรับปรุง และพัฒนาหลักเกณฑ์ในการบริหารจัดการ และแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวให้เหมาะสม สอดคล้องกับสถานการณ์ ก่อนเสนอคณะกรรมการพิจารณา
2.5 ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่คณะกรรมการมอบหมาย
3. คณะอนุกรรมการตามคำสั่งนี้ สามารถยกเลิก หรือปรับปรุงองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ได้ตามความเหมาะสม เมื่อสถานการณ์บ้านเมืองเข้าสู่ภาวะปกติ หรือมีคณะรัฐมนตรีบริหารราชการแผ่นดินแล้ว
ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

และ คำสั่ง คสช.61/2557 เรื่องให้บุคคลมารายงานตัวเพิ่มเติม ประกอบด้วย 1. นายรังสฤษฎดิ์ ธิยาโน 2.นายชัชชาญ บุปผาวัลย์ 3. นายยงยุทธ บุญดี 4. นายวัฒนา ทร้พย์วิเชียร โดยให้มารายงาน ณ ห้องจามจุรี สโมสรทหารบก เทเวศร์ เวลา 10.00-12.00 น.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook