ยิ่งลักษณ์ส่งทนายค้านป.ป.ช.งดสอบพยาน8ปากคดีข้าว
อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ ส่งทนายค้าน มติ ป.ป.ช. งดสอบพยาน 8 ปาก คดีจำนำข้าว ขอให้รอผลตรวจสต๊อกข้าว ของ คสช. อย่างเป็นทางการก่อน
นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความผู้รับมอบอำนาจจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เข้ายื่นคำร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อขอโต้แย้งและคัดค้านมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ให้งดการสืบสต๊อกข้าว และพยาน 8 ปาก ในคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว โดยได้โต้แย้งใน 4 ประเด็น อาทิ การงดสืบสต๊อกข้าว จำนวน 2.977 ล้านตัน และงดสืบพยาน 3 ปาก ที่เป็นผู้รับผิดชอบโดยตรงในการตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งมีการยืนยันว่า ข้าวไม่ได้สูญหายตามที่คณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวที่มี น.ส.สุภา ปิยะกิตติ เป็นประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงไม่สามารถตรวจสอบเรื่องที่ยังไม่มีข้อยุติได้ รวมถึงการคำนวณค่าเสื่อมราคาของข้าว ไม่มีหลักการที่แน่นอน เป็นเพียงการคาดคะเน ทำให้การปิดบัญชีคาดเคลื่อน การประเมินผลขาดทุนยังไม่เป็นที่ยุติ และข้าวที่ยังอยู่ในโกงดังกลางยังไม่ได้นำออกมาขาย จึงไม่สามารถประเมิณความเสียหายโครงการรับจำนำข้าวได้
ดังนั้น การงดไต่สวนพยานทั้งหมด จึงไม่เป็นธรรมต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ทั้งนี้ จึงอยากให้ ป.ป.ช. รอผลสรุปการตรวจสอบสต๊อกข้าวของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มีปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธานก่อนจะลงมติ เพื่อให้ได้รับทราบข้อเท็จจริง เพราะทำให้สังคมเชื่อว่ามีการทุจริต ก่อนที่ผลการสอบสวนจะยุติ
อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า การยื่นคำร้องโต้แย้งดังกล่าว ไม่ใช่การประวิงเวลาให้เกิดความล่าช้า แต่ต้องการความเป็นธรรมในประเด็นที่ถูกกล่าวหา
"ปนัดดา" FB ให้สัมภาษณ์เรื่องข้าว เฉพาะประเด็นใหญ่ ๆ เท่านั้น
ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ว่า เรื่องข่าวโกดังข้าว จากวันนี้เป็นต้นไป (8 ก.ค. 57) ขออนุญาตที่จะให้สัมภาษณ์ข่าวเรื่องการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวคงเหลือของรัฐ เฉพาะที่เป็นประเด็นข่าวใหญ่จริง ๆ เพราะยังคงเหลือเวลาปฏิบัติการในพื้นที่อีกหลายสัปดาห์ ไม่อยากให้สังคมและสื่อมวลชนเกิดความเบื่อหน่าย กับปัญหาที่เกิดขึ้นในทุกวัน ๆ จนกลายเป็นการรายงานปัญหาประจำวันเรื่องข้าว หรือเปรียบกับกรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศเตือนภัยอากาศ ที่เลวร้ายสุด ๆ เพราะอาจสร้างความเครียดให้กับทุกท่านได้
ในทางกลับกัน ก็เชิญชวนคนไทยทุกคนมาร่วมกันตั้งความหวังว่า ในท้ายที่สุด ให้คงเหลือข้าวคุณภาพจำนวนหนึ่ง เพื่อนำส่งออกจำหน่ายเป็นรายได้ต่อแผ่นดิน ต่อไป