วิษณุ แจง รธน.ชั่วคราว′57 เหมือนแม่น้ำ 5 สายที่จะหลั่งไหลพรั่งพรู คู่แผ่นดินไทย 1 ปี

วิษณุ แจง รธน.ชั่วคราว′57 เหมือนแม่น้ำ 5 สายที่จะหลั่งไหลพรั่งพรู คู่แผ่นดินไทย 1 ปี

วิษณุ แจง รธน.ชั่วคราว′57 เหมือนแม่น้ำ 5 สายที่จะหลั่งไหลพรั่งพรู คู่แผ่นดินไทย 1 ปี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จัดแถลงรายละเอียดประเด็นกฎหมายและธรรมนูญ ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยมี พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รองหัวหน้า คสช. ฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม นายวิษณุ เครืองาม ทีปรึกษา คสช. และนายพรเพชร วิชิตชลชัย ที่ปรึกษาหัวหน้า คสช. ร่วมแถลง

นายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษา คสช. กล่าวว่า ตอนนี้เข้าสู่ช่วงที่ 2 ของโร้ดแม็ป เริ่มด้วยการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ชั่วคราว พ.ศ.2557 ซึ่งเป็นฉบับที่ 19 แห่งราชอาณาจักรไทย โดยไม่นับฉบับแก้ไขเพื่มเติม คาดว่าจะใช้ไป 1 ปี บวกลบเพื่อรอการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับถาวร คือ ฉบับที่ 20 และเมื่อกฎหมายลูกเสร็จสิ้น ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนที่ 3 คือ การเลือกตั้ง เพื่อจะคืนอำนาจให้ประชาชน โดยเชื่อว่า 1 ปีระหว่างนี้จะแก้ปัญหาที่เป็นชนวนขัดแย้งได้เป็นผลสำเร็จอย่างน้อยในระดับหนึ่ง

ความจำเป็นคือ 1 ปีระหว่างนี้จะทำอย่างไรไม่ให้เกิดเสียงบ่นว่าสิ่งที่ดำเนินการมา 2 เดือน เสียของหรือเสียเปล่า รธน. จึงจำเป็นต้องวางหลักการบางอย่างที่ดูเข้มงวด พะรุงพะรัง ยุ่งยาก แต่ก็จำเป็น

รัฐธรรมนูญ ฉบับนี้ นี้เป็นเหมือนกับต้นสายแม่น้ำอีก 5 สายที่จะหลั่งไหลพรั่งพรูนับจากนี้

สายที่ 1 คือ การเกิดสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. สมาชิกไม่มีการสมัคร คสช. จะคัดเลือกโดยใช้ข้อมูลจากฐานข้อมูลที่จัดทำไว้แล้ว ให้ครอบคลุม สาขา อาชีพ ภูมิภาค เพศ วัย คุณสมบัติ คือ อายุ 40 ปีขึ้นไป เป็นผู้ไม่มีตำแหน่งในพรรคการเมือง เช่น หัวหน้าพรรค (ไม่ห้ามการเป็นสมาชิกพรรค) มีอำนาจ 4 ประการ คือ ออกกฎหมาย ให้ความเห็นชอบการแต่งตั้งและถอดถอนนายกรัฐมนตรี การควบคุมการทำงานของรัฐบาล โดยทำได้เพียงการตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรี โดยไม่มีอำนาจอภิปรายไม่ไว้วางใจ ทำไดก้เพียง อภิปรายบทั่วไปโดยไม่ลงมติ ให้ความเห็นชอบบางเรื่องที่กฎหมายกำหนดให้เป็นหน้าที่สภา เช่น แต่งตั้งบุคคลขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ

สายที่ 2 คณะรัฐมนตรี กำหนดเป็นครั้งแรกให้มีอำนาจเพิ่มขึ้นจากอำนาจบริหารราชการแผ่นดินอีก 2 อย่าง คือ อำนาจปฏิรูปในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเริ่มเอง หรือ มีการเสนอมาจากส่วนอื่นๆ และ อำนาจสร้างความสามัคคีปรองดองและความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้น

สายที่ 3 สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ไม่เกิน 250 คน สมาชิกมาจากการสรรหา จากจังหวัดต่างๆ 77 คน ส่วนอีก 173 คน มาจากทั่วประเทศ โดยกำหนดด้านต่าง 11 ด้าน (เช่น การเมือง การปกครองท้องถิ่น การบริหารราชการแผ่นดิน กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม การศึกษา เศรษฐกิจ สาธารณะสุขและสิ่งแวดล้อม พลังงาน สื่อสารมวลชน และด้านอื่นๆ) โดยมีองค์ต่างๆ เป็นผู้เสนอชื่อเข้ามา องค์กรละ 2 คน ให้คณะกรรมการสรรหาพิจารณาคัดเลือก ด้านละไม่เกิน 50 คน รวมแล้ว 11 ด้าน 550 คน และส่งรายชื่อไปคัดเลือกขั้นตอนสุดท้ายอีกครั้ง ทั้งนี้ ไม่มีข้อห้ามการเป็นสมาชิกพรรคการเมือง หรือ เป็นข้อราชการ เพราะถือว่า การปฏิรูปเป็นเรื่องของประเทศ ข้อจำกัดจึงน้อยที่สุด

อำนาจหน้าที่ของสภาปฏิรูปแห่งชาติ คือ (1) เสนอแนวทางปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ ถ้าปฏิบัติได้เลยหน่วยงานเกี่ยวข้องจะรับไปดำเนินการ แต่หากต้องมีกฎหมายรองรับต้องยกร่างกฎหมายและนำเสนอ สนช. ต่อไป (2.) ให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีคณะกรรมาธิการไปยกร่าง

สายที่ 4 คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ มีเวลาทำงานยกร่าง 120 วัน เพื่อร่างรัฐธรรมนูญ คุณสมบัติต้องไม่เคยดำรงตำแหน่งในพรรคการเมือง 3 ปี ย้อนหลัง ห้ามบุคคลที่ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ และ ในอนาคตจะไม่สามารถดำรงตำแหน่งทางการเมืองไปอีก 2 ปี เมื่อร่างเสร็จอาจมีการแปรญัตติได้ ก่อนจะส่งให้ สภาปฏิรูปให้ความเห็นชอบ การร่างต้องร่างภายใต้กรอบ โดยเฉพาะ กรอบตาม รธน. มาตรา 35

สายที่ 5 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ มีอำนาจหน้าที่

1. ให้ข้อเสนอแนะ ครม. ไปพิจารณาปฏิบัติ ซึ่ง ครม. มีสิทธิ์ ไม่ดำเนินการตามนั้นได้

2. เชิญ ครม. หารือร่วมกับคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้ คสช. ไม่มีอำนาจปลด นายกรัฐมนตรี หรือ ครม. และไม่ได้เป็นพี่เลี้ยงหรือเปลือกหอย ไม่มีอำนาจบังคับ ครม. หรือ ข้าราชการใดๆ ทั้งสิ้น คสช. มีอยู่เพื่อแบ่งเบา ครม. ในเรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อย ในช่วงเวลา 1 ปี นี้ เพื่อไม่ต้องใช้อำนาจนอกรัฐธรรมนูญอื่นใดอีก ซึ่งอำนาจนี้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 44

นายวิษณุ เครืองาม กล่าวทิ้งท้ายว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ แม้จะมี 48 มาตรา ยาวกว่าฉบับชั่วคราวในอดีต แต่เพื่อให้ครอบคลุมเรื่องต่างๆ อย่างไรก็ตาม เมื่อใดที่เห็นว่า รธน.ฉบับนี้ มีปัญหาที่ควรแก้ไขให้สมบูรณ์ ให้ ครม. และคสช. เสนอ สนช. แก้ไขได้

สำหรับรัฐธรรมนูญฉบับหน้า เมื่อร่างแล้วจะเปิดให้ลงประชามติหรือไม่ รัฐธรรมนุญฉบับชั่วคราวไม่ได้เขียนไว้ แต่ไม่ได้ปิดทางเช่นกัน ส่วนสถานะขององค์กรต่างๆ สนช. จะอยู่จนกว่าจะมี ส.ส.สมัยหน้า ครม. อยู่จนมี ครม. ชุดใหม่ สภาปฏิรูป อยู่จนเมื่อ รธน. ฉบับใหม่ ร่างเสร็จแล้วเขียนถึงสภาปฏิรูปอย่างไรก็ให้เป็นไปตามนั้น หาก เขียนให้อยู่ต่อ ก็ทำหน้าที่ต่อ คณะกรรมาธิการยกร่าง รธน. อยู่จนเมื่อร่างเสร็จและ รธน.ใหม่ประกาศใช้ และ คสช. อยู่จนเมื่อมีการประกาศใช้ รธน. ฉบับใหม่

ด้านพลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา รองหัวหน้า คสช. กล่าวว่า ในนามของหัวหน้า คสช. ขอบคุณทุกฝ่ายที่ห่วงใยเนื้อหาของ รธน. แต่การแก้ไขปัญหาจำเป็นต้องใช้ รธน. เราจะใช้ในสิ่งที่ดี เป็นประโยชน์กับประเทศ ไม่ให้เกิดความเสียหาย ขอโอกาสและเวลาให้ คสช. ปฏิบัติตามแผนงานที่ได้ให้ไว้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook