ป.ป.ท.เผย เรื่องร้องเรียน ขรก.ยักยอกเงิน-ปลอมเอกสารอื้อ มหาดไทย เต็งหนึ่ง
นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ หรือ ป.ป.ท. แถลงความคืบหน้าการดำเนินการตามคำสั่ง คสช.ฉบับที่69/2557 เกี่ยวกับมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบ
ซึ่งได้มีการหาเครือข่ายแนวร่วมภาคส่วนต่างๆ เพื่อแสดงพลังปกป้องและรับผิดชอบต่อสังคม ชุมชน หรือหน่วยงานองค์กร ซึ่งได้มีการแลกเปลี่ยนความเห็นกับหม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
โดยทั้งสองหน่วยมีความพร้อมในการขับเคลื่อนมาตรการแก้ไขปัญหาทุจริตในภาครัฐ และได้เข้าหารือกับนายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอรัปชัน โดยจะมีการผลักดันโครงการสุนัขเฝ้าบ้าน (watch dogs) ให้ขยายตัวไปยังสังคมและชุมชนทั่วไป ซึ่งจะพยายามให้ทุกหมู่บ้านทุกชุมชนมีเครือข่ายเฝ้าระวังการทุจริต
ขณะที่การเร่งรัดผลการดำเนินคดีตั้งแต่วันที่ 18 มิถุนายนที่ผ่านมา มีจำนวนเรื่องที่เสนอเข้าพิจารณากว่า 534 เรื่อง โดยรับไว้ไต่สวนข้อเท็จจริง 130 เรื่่อง และชี้มูลไปแล้ว 29 เรื่อง
ส่วนการที่เจ้าหน้าที่ ป.ป.ท.เขต1 ได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการตรวจสอบการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้ และที่ดินของรัฐประเภทต่างๆปรากฎว่าในช่วงเวลาที่ผ่านมา ตั้งแต่มีการประกาศของ คสช. มีหน่วยงานที่รับผิดชอบและประชาชนในพื้นที่ตื่นตัวมากขึ้น โดยสามารถคืนผืนป่าให้แก่แผ่นดิน ที่ถูกบุกรุกกลับคืนเป็นสมบัติของชาติได้กว่า 3,233 ไร่ คิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 2 พันล้าน และยังมีมาตรการเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง
ขณะเดียวกัน พบว่ามีการทุจริตในการจัดงบโครงการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติที่มีร้องเรียนมาจำนวนมาก และพบว่ามีมูลในการทุจริตถึงร้อยละ 70-80 โดยทางพลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา หัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม คสช. ได้อนุมัติแผนมาตรการเชิงรุกในการป้องกันการทุจริตใน 3 ระยะ คือก่อนเกิดภัยพิบัติ ว่าจะทำอย่างไรจะต้องใช้งบประมาณเท่าใด, มาตรการและการใข้งบในขณะเกิดภัยพิบัติ, และหลังเกิดภัยพิบัติ จะต้องส่งข้อมูลการใช้งบประมาณให้ตรวจสอบทันที
ทั้งนี้ พบว่าข้าราชการมักถูกร้องเรียนเรื่องการยักยอก หรือเบียดเบียนเงินราขการใช้ประโยชน์ส่วนตัว การจับกุมคุมจังไม่เป็นไปตามกฎหมาย การปลอมแปลงเอกสาร การเรียกเก็บเงิน หรือการใข้เอกสารเท็จ เป็นต้น ส่วนหน่วยงานที่มีข้าราชการที่ถูกร้องเรียนมากที่สุดได้แก่ กระทรวงมหาดไทย เนื่องจากมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายหน่วยงาน , สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, กระทรวงศึกษาธิการ ที่่มีเรื่องร้องเรียนไม่ได้รับความเป็นธรรมการโยกย้าย รวมทั้งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแสดล้อม อย่างไรก็ตามจะต้องให้ความเป็นธรรมต่อทุกฝ่ายในการตรวจสอบข้อเท็จจริง