เรียนฟรี15ปีรัฐแจกทุกอย่างเตรียมถกวิธีจัดซื้อจัดจ้าง 30 ม.ค.
ศธ.คลอดแนวปฏิบัติเรียนฟรี 15 ปี อุดหนุนตำรา สมุด ดินสอ และอุปกรณ์การเรียนอย่างเต็มที่ เตรียมถกรายละเอียดการจัดซื้อจัดจ้าง 30 ม.ค.
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวภายหลังหารือร่วมกับผู้บริหารองค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการ ว่าที่ประชุมได้ข้อสรุปเกี่ยวกับแนวทางจัดการศึกษาฟรี 15 ปีอย่างมีคุณภาพ โดยได้ข้อสรุปที่เป็นรายละเอียดชัดเจนขึ้นว่า ในส่วนของ อุปกรณ์การเรียน ได้บัญชีรายการว่าจะจัดสรรเป็นแบบฝึกหัด สมุด ดินสอ ยางลบ ไม้บรรทัด ปากกา
ส่วน ชุดนักเรียนระดับประถมถึงมัธยม แจกให้ 2 ชุดต่อคนต่อปี ระดับอาชีวศึกษา แยกแจกชุดนักเรียน 1 ชุด และชุดฝึกปฏิบัติการ 1 ชุด ด้าน กิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน รัฐจะจ่ายแทนผู้ปกครองในกิจกรรมค่ายวิชาการ ค่ายคุณธรรม ทัศนศึกษานอกสถานที่ กิจกรรมชุมนุมลูกเสือเนตรนารี และกิจกรรมการเรียนไอซีที คอมพิวเตอร์ 1 ชั่วโมงต่อคนต่อสัปดาห์
ในส่วนของ ตำราเรียนฟรี 8 สาระวิชา นั้น จะตั้งงบให้โรงเรียนไปจัดซื้อเองตามเสรี โดยงบที่จะจัดให้นั้นอ้างอิงในราคาลด 20% จากราคาหน้าปกตำราเรียนขององค์การค้า สำนักงานคณะกรรมการการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ทั้งนี้ตำราเรียนที่องค์การค้าพิมพ์เพื่อเสนอโรงเรียนจัดซื้อแจกนักเรียนนั้นจะต้องพิมพ์ด้วยกระดาษถนอมสายตาเท่านั้น
"ส่วนวิธีการจัดสรรและจัดซื้อทั้งชุดนักเรียน อุปกรณ์การเรียน หรือแม้แต่ตำราเรียนนั้น จะมีการประชุมระดมความคิดเห็นจากทุกภาคฝ่ายในวันที่ 30 มกราคมนี้ เพื่อหาวิธีการที่เหมาะสม ประหยัดงบประมาณ โปร่งใส เกิดปัญหาน้อยที่สุด เบื้องต้นที่ประชุมเสนอแนวทางมามากมาย เช่น เสนอให้รัฐซื้อแจกเอง กระจายให้โรงเรียนซื้อแจก หรือให้คูปองโดยตรงแก่ผู้ปกครองนำไปแลกของ แต่ผมต้องการรับฟังความเห็นที่หลากหลายก่อน" นายจุรินทร์ กล่าว
ดร.ชินภัทร ภูมิรัตน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า สิทธิในเรื่องเครื่องแบบนักเรียน น่าจะเปิดให้มีการลงทะเบียนสำหรับผู้ที่ต้องการใช้สิทธิ และจะประสานให้โรงเรียนเชิญชวนและรณรงค์ให้ผู้ปกครองที่มีฐานะร่ำรวยไม่ใช้สิทธิดังกล่าว เพื่อรัฐจะได้ประหยัดงบประมาณ และนำเงินดังกล่าวมาช่วยเด็กยากจนและด้อยโอกาสเพิ่มขึ้น ถือเป็นการสร้างจิตสาธารณะด้วย โดยจะมีการออกใบประกาศเกียรติบัตรให้แก่นักเรียนและผู้ปกครอง โรงเรียนขึ้นบอร์ดยกย่องนักเรียนและผู้ปกครอง และต่อไปในอนาคต กระทรวงศึกษาธิการจะติดตามอย่างใกล้ชิด หากโรงเรียนใดสามารถเชิญชวนให้ผู้ปกครองไม่ใช้สิทธิได้มาก กระทรวงศึกษาธิการก็จะให้เครดิต เพราะถือว่าสามารถเชิญชวน ทำความเข้าใจและรณรงค์ได้ดี
ดร.ชินภัทร กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของโรงเรียนสาธิตทุกแห่งได้มีการขอเงื่อนไขว่าไม่รับงบดังกล่าว เพราะไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในการจัดกิจกรรมของโรงเรียนสาธิต ที่มีวัตถุประสงค์การจัดตั้งเฉพาะในเรื่องดำเนินการทดลองนวัตกรรมทางการศึกษา จึงมีการจัดกิจกรรมที่หลากหลาย ดังนั้นจึงไม่ขอรับการสนับสนุนงบพัฒนากิจกรรม แต่ขอให้การระดมทรัพยากรผู้ปกครองตามเดิม ซึ่งก็เป็นความสมัครใจของผู้ปกครองแต่ต้นที่จัดส่งลูกมาเข้าโรงเรียนประเภทนี้