บางส่วนจากทัศนะนักข่าวต่างชาติ ต่อนายกรัฐมนตรีที่ชื่อ "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา"
หลังจาก สนช. มีมติเลือก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ของประเทศไทย สื่อมวลชนจำนวนมากต่างก็ให้ความสนใจกับการเคลื่อนไหวและปูมประวัติของว่าที่ผู้นำคนใหม่
ไม่ใช่แค่สื่อไทยเท่านั้นที่ค้นคว้าเรื่องราวในแง่มุมต่างๆ ของ พล.อ.ประยุทธ์ กันให้จ้าละหวั่น แต่สื่อต่างชาติหลายสำนัก ต่างก็พยายามวิเคราะห์ถึงการขึ้นครองอำนาจของหัวหน้า คสช. รวมทั้งสิ่งที่ว่าที่นายกฯ อาจต้องเผชิญในอนาคต
นี่เป็นบางส่วนจากบทวิเคราะห์ของสื่อต่างชาติเหล่านั้น
โธมัส ฟุลเลอร์ ผู้สื่อข่าวนิวยอร์คไทม์ส แสดงทัศนะในบทวิเคราะห์ของเขาว่า การเข้าควบคุมอำนาจของกองทัพไทยในปีนี้ ดูเหมือนจะสวนกระแสประชาธิปไตยในภูมิภาคอาเซียน เช่น ในอินโดนีเซีย ซึ่งนักการเมืองท้องถิ่นที่ได้รับความนิยมจากประชาชน เพิ่งชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดี เหนืออดีตนายพลของกองทัพ ส่วนที่เมียนมาร์ ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่มีหลายพรรคการเมืองก็เริ่มลงหลักปักฐาน หลังจากที่ต้องปกครองด้วยระบอบเผด็จการทหารมาร่วมห้าทศวรรษ
ฟุลเลอร์ตั้งข้อสังเกตว่า คสช. กล่าวว่าจะทำการฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทย ทว่าพวกเขาก็ไม่ได้กำหนดตารางเวลาที่แน่นอนสำหรับการเลือกตั้งครั้งต่อไป นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ยังระบุด้วยว่า ระบอบประชาธิปไตยที่จะถูกฟื้นฟูขึ้นนั้น จะต้อง "มีความเหมาะสมกับบริบทของสังคมไทย" ซึ่งเป็นคุณสมบัติอันคลุมเครือ ที่ยังมิได้ถูกนิยามให้มีความหมายกระจ่างชัด
ผู้สื่อข่าวต่างประเทศรายนี้ อ้างอิงคำสัมภาษณ์ของ นายธงชัย วินิจจะกูล ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน ซึ่งชี้ว่า คสช. มีท่าทีรังเกียจนักการเมือง และปรารถนาถึงระบบเผด็จอำนาจที่มีคุณธรรม เช่นเดียวกับคนไทยบางพวก อย่างไรก็ดี นายธงชัยเตือนว่า การปกครองแบบพ่อขุนอุปถัมภ์นั้นจะไม่เหมาะสมกับสังคมไทยอีกต่อไป เพราะสภาพสังคมมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ผู้นำทหารที่มีความเข้มแข็งในยุคก่อน สามารถปกครองประเทศไทยที่เป็นสังคมเกษตรกรรมยากจนได้ ทว่า ประเทศไทยในปัจจุบันนั้น มีประชากรผู้มีความตื่นตัวทางการเมืองมากยิ่งขึ้น
ฟุลเลอร์ยังสัมภาษณ์ นายสุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้เชี่ยวชาญในประเด็นวิชาการเรื่องกองทัพไทย ซึ่งอธิบายระบอบอำนาจปัจจุบันว่าเป็น "ระบบเผด็จการแบบอ่อน" และเห็นว่า นายทหารระดับสูงกำลังพยายามแสวงหาตำแหน่งแห่งที่อันมั่นคงในอนาคตให้แก่ตนเอง
"สิ่งที่นายทหารระดับสูงต้องการคือ ระบอบประชาธิปไตยแบบชี้นำ ซึ่งกองทัพมีบทบาทในการบังคับควบคุม" นายสุรชาติ คาดการณ์
อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ วิเคราะห์ว่า การยอมรับที่สาธารณชนชาวไทยจะมีให้แก่รัฐบาลทหารนั้น ขึ้นอยู่กับว่านายทหารระดับสูงที่เข้ามาควบคุมอำนาจจะ "มือสะอาด" มากแค่ไหน และคำถามที่หลายคนอาจมีก็คือ นายทหารเหล่านี้จะหวนกลับไปมีพฤติกรรมคอร์รัปชั่นเหมือนผู้นำทหารในยุคก่อนๆ หรือไม่
ขณะเดียวกัน โจนาธาน เฮด ผู้สื่อข่าวบีบีซี ก็ประเมินว่า การประสบความสำเร็จของ พล.อ.ประยุทธ์ จะขึ้นอยู่กับว่า ว่าที่นายกฯ ของไทย จะสามารถบริหารจัดการอำนาจที่ถือครองอยู่ได้ดีเพียงใด นักวิจารณ์บางคนเห็นว่า หัวหน้าคสช. มีอารมณ์ค่อนข้างร้อนและมีความอดทนต่ำ รวมทั้งมีภาพลักษณ์เชิงอนุรักษนิยม อย่างไรก็ดี ผู้สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ กลับระบุว่า ผบ.ทบ.ผู้นี้ เป็นคนเด็ดเดี่ยว รวมทั้งมีท่าทีรับฟังผู้อื่น
เฮด ทำนายสถานการณ์ด้วยว่า แม้แรงต่อต้าน คสช. ภายหลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม จะมีไม่มากนัก แต่สถานการณ์อาจเปลี่ยนแปลงไป หากรัฐบาลทหารชุดนี้ต้องเผชิญหน้ากับปัญหายากๆ ที่ถั่งโถมเข้ามามากยิ่งขึ้น