บีทีเอสสายสุขุมวิทขัดข้อง เผยน้ำเข้ากล่องควบคุม

บีทีเอสสายสุขุมวิทขัดข้อง เผยน้ำเข้ากล่องควบคุม

บีทีเอสสายสุขุมวิทขัดข้อง เผยน้ำเข้ากล่องควบคุม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

(25 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ทวิตเตอร์ @BTS_SkyTrain แจ้งว่า เช้านี้ 06.30 น. BTS สายสุขุมวิท จุดสับรางระหว่างสถานีอโศกไปพร้อมพงษ์ขัดข้อง ทำให้ขบวนรถที่จะวิ่งผ่านจุดนี้ต้องวิ่งด้วยความเร็วต่ำกว่าปกติ ทำให้เกิดความล่าช้า ส่งผลให้ขบวนรถในสายสุขุมวิทต้องจอดแต่ละสถานีนานกว่าปกติ ขณะนี้กำลังดำเนินการแก้ไข ขออภัยในความไม่สะดวกมา ณ โอกาสนี้

จากเหตุดังกล่าวทำให้กระทบต่อผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอสในช่วงชั่วโมงเร่งด่วนเป็นอย่างมาก เนื่องจากพบว่าเกิดความล่าช้าในหลายสถานี ทำให้มีผู้โดยสารตกค้างจำนวนมาก กระทั่งล่าสุดเมื่อเวลา 09.30 น. มีรายงานความคืบหน้าว่า BTS สามารถแก้ไขปัญหาเสร็จเรียบร้อยแล้ว

ล่าสุด นายอาณัติ อาภาภิรมย์ ประธานคณะกรรมการฝ่ายจัดการบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอส เปิดเผยว่า เหตุขัดข้องของระบบรถไฟฟ้าบีทีเอสเมื่อช่วงเช้าวันนี้ เกิดจากระบบการสับรางระหว่างสถานีพร้อมพงษ์กับสถานีอโศก ทำให้การบริการเดินรถต้องล่าช้าจากปกติ เนื่องจากบริเวณที่มีปัญหานั้นรถไฟฟ้าสามารถใช้ความเร็วได้เพียง 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จากปกติรถไฟฟ้าจะใช้ความเร็วประมาณ 60-70 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยหลังจากเจ้าหน้าที่ได้ลงไปสำรวจรางจุดที่มีปัญหาพบว่ามีน้ำเข้าไปในกล่องควบคุมระบบทางคู่และเครื่องกลซึ่งอยู่กลางแจ้ง จึงเร่งซ่อมแซมแก้ไขแล้วเสร็จ สามารถเดินรถตามปกติได้ตั้งแต่เวลา 09.30 น.แล้ว

ทั้งนี้ บริษัทฯ ให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยสูงสุด ก่อนให้บริการช่วงเช้าจะมีการตรวจและทดสอบระบบก่อนตามมาตรฐาน ซึ่งไม่พบปัญหาใดๆ แต่เมื่อเกิดสัญญาณแจ้งเตือนความผิดปกติจึงปรับลดความเร็วรถลงเพื่อความปลอดภัย และเจ้าหน้าที่เร่งตรวจสอบแก้ไขเพื่อให้สามารถให้บริการได้ตามปกติเร็วที่สุด เพื่อไม่ให้ผู้โดยสารรอนานและตกค้างบนสถานี

โดยหลังเกิดเหตุขัดข้อง เมื่อช่วงเช้าได้มีการปรับการให้บริการ ทางเจ้าหน้าที่จำเป็นจะต้องลดขบวนรถที่วิ่งรับ-ส่งผู้โดยสารลง 2 ขบวน เพื่อให้ความถี่สอดคล้องกับความเร็ว และให้สามารถวิ่งได้คล่องตัวมากยิ่งขึ้น ซึ่งปกติในชั่วโมงเร่งด่วนจะใช้รถประมาณ 50 ขบวน โดยสายสุขุมวิทประมาณ 33-35 ขบวน และสายสีลมประมาณ 15 ขบวน ส่วนในสถานีอื่นๆ นอกจาก 2 สถานีดังกล่าวแล้วรถไฟฟ้ายังสามารถใช้ความเร็วได้ปกติ แต่ในภาพรวมประชาชนจะต้องใช้เวลารอขบวนรถนานขึ้น ซึ่งทำให้ในแต่ละสถานีมีประชาชนใช้บริการเป็นจำนวนมาก และเพื่อความปลอดภัยเจ้าหน้าที่จึงต้องมีการปิดบันไดเลื่อนเพื่อไม่ให้ประชาชนขึ้นไปรออยู่บนชานชาลามากเกินไปเพราะเกรงว่าจะเกิดอันตราย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook