หมอพรทิพย์ เจาะประเด็น DNA คดีฆ่านักท่องเที่ยวเกาะเต่า

หมอพรทิพย์ เจาะประเด็น DNA คดีฆ่านักท่องเที่ยวเกาะเต่า

หมอพรทิพย์ เจาะประเด็น DNA คดีฆ่านักท่องเที่ยวเกาะเต่า
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

จากกรณีเหตุฆาตกรรม 2 นักท่องเที่ยวต่างชาติบนเกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี แม้ว่าขณะนี้คดีดังกล่าวได้มีการจับกุมผู้ต้องหาและอยู่ระหว่างการรวบรวมหลักฐานส่งฟ้องดำเนินคดี แต่ยังคงมีประเด็นข้อสงสัยต่างๆ ที่แคลงใจสังคมอยู่ รวมทั้งประเด็นการตรวจดีเอ็นเอในถุงยางอนามัย ที่ยังถูกวิพากษ์วิจารณ์ต่อเนื่อง ขณะที่ หมอพรทิพย์ ได้ตั้งข้อสังเกต 3 ประเด็นความผิดพลาดของพนักงานสอบสวน

พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับคดีดังกล่าว ซึ่งได้จับตาดูมาอย่างต่อเนื่อง โดยระบุว่า คดีฆาตกรรมนักท่องเที่ยวเกาะเต่า มีปัญหาเรื่องระบบการทำงานทางด้านนิติเวชและการเก็บพยานหลักฐาน ซึ่งอาจมีผลให้พยานหลักฐานที่เติมเต็มภาพของคดีสูญหาย พร้อมกับชี้ว่าคดีนี้เป็นงานนิติวิทยาศาสตร์ที่ยากที่สุด เพราะเป็นคดีฆาตกรรมอำพราง โดย พญ.คุณหญิงพรทิพย์ ได้ตั้งข้อสังเกตถึงระบบการทำงานในด้านนิติเวชไว้ 3 ประเด็น คือขั้นตอนพนักงานสอบสวน กระบวนการเก็บพยานหลักฐานที่เกิดเหตุไม่มีแพทย์นิติเวชเข้าพื้นที่ทันทีหลังเกิดเหตุ และการตรวจพิสูจน์ในห้องปฏิบัติการ

ชี้ความผิดพลาดเรื่องการใช้พนักงานสอบสวนเก็บพยานหลักฐาน
ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ระบุว่าการทำคดีฆาตกรรมนักท่องเที่ยวเกาะเต่ามีปัญหาในเชิงระบบการทำงาน ตามระบบสากลของหลักนิติวิทยาศาสตร์ การลงพื้นที่เกิดเหตุของพนักงานสอบสวนจะต้องมีหน่วยงานที่เป็นที่ปรึกษาและอ้างอิงในการทำงานด้านนิติวิทยาศาสตร์เข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุด้วย เนื่องจากพนักงานสอบสวนไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวช เป็นการยากที่พนักงานสอบสวนทั่วไปจะรู้ประเด็นได้ครบถ้วน ส่วนในด้านกระบวนการทำสำนวนคดี พญ.คุณหญิงพรทิพย์ระบุว่า ตามสไตล์การทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจในประเทศไทย ในมุมของเจ้าหน้าที่หากมองว่าพยานหลักฐานที่เก็บได้เพียงพอแล้ว แม้จะยังไม่สมบูรณ์ก็จะดำเนินการส่งฟ้อง จุดนี้อาจทำให้จิ๊กซอว์หลักฐานที่สำคัญอาจไม่ได้อยู่ในสำนวนคดี

ไม่มีการจำลองสถานการณ์ฆาตกรรม?
ทั้งนี้ พญ.คุณหญิงพรทิพย์ ยังกล่าวอีกว่า ศพของผู้เสียชีวิตจะสามารถตอบคำถามได้หลายประเด็น เช่น เสียชีวิตเมื่อไหร่ หรือบาดแผลของผู้เสียชีวิต ต้องมีการจำลองสถานการณ์การฆาตกรรม ซึ่งจากบาดแผลพบว่า เป็นมีลักษณะที่แคบและลึก บ่งบอกได้ว่าอาวุธที่ใช้ค่อนข้างคมและแหลม ทั้งนี้ปัญหาในเชิงการทำงานพบว่า "ไม่มีการจำลองสถานการณ์การฆาตกรรม มีเพียงการทำแผนประกอบคำรับสารภาพ" ถือว่าเป็นปัญหาในเชิงระบบที่มีผลต่อการสืบสวนคดี ด้านประเด็นการตรวจดีเอ็นเอที่มีข้อสงสัยจากสังคมว่าสามารถตรวจได้ในระยะเวลาที่รวดเร็วนั้น ในเชิงกระบวนการสามารถทำได้ในระยะเวลาดังกล่าว แต่จากคดีที่ผ่านมาไม่เคยมีการตรวจได้รวดเร็วจึงทำให้เกิดข้อสงสัย

ตำรวจระบุ DNA บนถุงยางอนามัยไม่ให้คำตอบ
ขณะที่ประเด็นดีเอ็นเอในถุงยางอนามัย ได้มีการสอบสวนกับเจ้าหน้าที่คนหนึ่ง ระบุว่า ได้ตรวจสอบถุงยางอนามัยดังกล่าวโดยละเอียด 100% แล้ว พบเพียงดีเอ็นเอ ของ น.ส.ฮานนาห์ วิทเธอร์ริดจ์ อยู่ด้านนอกของถุงยาง และให้รายละเอียดของการตรวจสอบด้านนิติเวชว่าถุงยางดังกล่าวไม่มีที่มาที่ไปชัดเจน ส่วนเหตุผลที่ไม่มีดีเอ็นเอของอีกบุคคลหนึ่ง ตั้งข้อสังเกตว่าอาจจะเป็นถุงยางที่มีคนนำมาเล่นแล้วทิ้งไว้ก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุฆาตกรรม หรือ ถุงยางเก่าที่ถูกน้ำพัดขึ้นมาและมีบุคคลสวมใส่ถุงยางแล้ว แต่ถอดออกมาก่อนมีเพศสัมพันธ์ ที่สำคัญคืออาจมีการเหยียบย่ำบริเวณที่เกิดเหตุ จนทำให้สารคัดหลั่ง เช่น เลือด น้ำจากช่องคลอด ของ น.ส.ฮานนาห์ ไปติดบนถุงยาง

กระทั่งนำมาสู่การแถลงของเจ้าหน้าที่ ที่ชี้แจงว่า ตรวจไม่พบดีเอ็นเอภายในถุงยางอนามัยที่พบในที่เกิดเหตุ พญ.คุณหญิงพรทิพย์ เปิดเผยว่า ข้อนี้ถือเป็นการให้เหตุที่ผิด เพราะข้อเท็จจริงในทางนิติวิทยาศาสตร์สามารถตรวจหาดีเอ็นเอได้จากหลักฐานอื่นได้ เช่น เซลล์ผิวหนังของอวัยวะเพศ ซึ่งการตรวจหาไม่เจออาจเกิดได้หลายสาเหตุ เช่น ได้หลักฐานไม่ตรงจุดดีเอ็นเอถูกทำลายและมีการคลาดเคลื่อนในการสกัดดีเอ็นเอ
ส่วนประเด็นที่สังคมคาใจเรื่องการไม่ตรวจดีเอ็นเอลูกชายผู้ใหญ่บ้านเกาะเต่า โดยพนักงานสอบสวนชี้แจงว่าได้ตรวจดีเอ็นเอของผู้ใหญ่บ้านแล้วนั้น จึงไม่จำเป็นต้องตรวจดีเอ็นเอของบุตรชาย เพราะเสียเวลาและไม่มีความจำเป็น พญ.คุณหญิงพรทิพย์ ชี้ว่าผู้ตอบคำถามอธิบายผิด ซึ่งในข้อเท็จจริงต้องอธิบายในเชิงนิติวิทยาศาสตร์ของการตรวจสอบดีเอ็นเอว่า ดีเอ็นเอของบิดาสามารถใช้พิสูจน์เปรียบเทียบบุคคลที่เป็นบุตรได้

ขอบคุณเนื้อหาจาก รายงานพิเศษทีมข่าวไทยพีบีเอส

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook