อย.กับคนไทย รักแท้ดูแลไม่ได้ (จริงหรือ)

อย.กับคนไทย รักแท้ดูแลไม่ได้ (จริงหรือ)

อย.กับคนไทย รักแท้ดูแลไม่ได้ (จริงหรือ)
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“นักศึกษาสาววัย 19 ช็อกดับ หลังกินยาอัพไซส์หน้าอก” 

พาดหัวข่าวชวนสลด ณ วันที่ 23 พฤศจิกายน 2557 และยิ่งสลดมากขึ้นเมื่อรู้ว่าข่าวทำนองนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก การเสียชีวิตด้วยผลิตภัณฑ์อาหารเสริมลวงโลกเหล่านี้ไม่เคยหายไปจากพื้นที่ข่าว ในฐานะผู้บริโภค เรารู้กันดีว่าการเข้าถึงสินค้าเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องยาก นั่นแปลว่าคนที่รู้ไม่เท่าทันอาจจะตกเป็นเหยื่อได้ทุกเมื่อ 

และล่าสุดกับข่าวการบุกยึดโกดัง ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม OHO ที่ผสมสารต้องห้าม หลังจากที่ขายในโซเชียลมีเดียมาแล้วเป็นเวลาหลายปี โกยรายได้นับร้อยล้านบาท...แต่เพิ่งถูกจับ

ในวันที่อาหารเสริมอวดอ้างสรรพคุณครอบจักรวาลหาได้ง่ายยิ่งกว่าสัญญาณ 4G หน่วยงานที่มักจะถูกทวงถามหาความรับผิดชอบมากที่สุดก็คงหนีไม่พ้นองค์การอาหารและยา ที่เราเรียกกันสั้น ๆ ว่า อย. (และถูกหลายๆ คนล้อเลียนว่า “อาหย่อย”) ในสายตาของผู้บริโภคหลายๆ คน อย.อาจจะเป็นเพียงเสือกระดาษที่ไม่สามารถรับรองคุณภาพชีวิตใดๆ ให้กับเราได้

แต่มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ หรือ? 

เราได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณจุรีรัตน์ ห่อเกียรติ ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยของอาหารและการบริโภคอาหาร ตัวแทนจาก อย. เพื่อหาคำตอบว่า อย. จะช่วยรับรองคุณภาพชีวิตของเราได้บ้างหรือไม่ มาติดตามไปพร้อมๆ กันเลยดีกว่า

เสือกระดาษ หรือ แพะรับบาป 

ตั้งแต่เช้าจรดเย็น เราจะต้องถูกกรอกหูด้วยคำว่า “สวย ผอม ขาว” ทั้งจากคนรอบข้าง ป้ายโฆษณาริมทางเดิน โทรทัศน์ วิทยุในรถ หน้าจอมือถือ เรียกว่าเป็นสุดยอดของกระบวนการล้างสมองจนหลายๆ คนอยู่ไม่เป็นสุข ต้องขวนขวายหาผลิตภัณฑ์เสริมความงาม  ทั้งกิน ทั้งฉีด มาสร้างคุณค่าให้กับชีวิตที่ถูกผูกติดไว้กับรูปกายภายนอก 

อยากผอม อยากสวย อยากขาว ไม่ผิด แต่จะผิดก็ตรงที่หลงเชื่อคำโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณเกินจริงนี่แหละ 

หลายๆ คนมักจะเชื่อเวลาที่พ่อค้าแม่ค้าพูดว่า “สินค้าของเราได้รับการรับรองคุณภาพโดย อย.” บอกได้เลยว่าโกหกทั้งเพ! 

เพราะ อย. ไม่มีอำนาจในการรับรองคุณภาพของผลิตภัณฑ์ การได้เลขทะเบียนจาก อย. ไม่ได้เป็นการการันตีคุณภาพของสินค้าใช้แล้วอาจจะได้ผลหรือไม่ได้ผลก็สุดแท้แต่บุญกรรม

โลโก้ อย. นั้นท่านได้แต่ใดมา... 

ตัวแทนจาก อย. เล่าให้เราฟังว่า ในทางปฏิบัติแล้ว เลขทะเบียนจาก อย.ที่แปะอยู่บนบรรจุภัณฑ์นั้นหมายถึง การได้รับอนุญาตให้ผลิตและจัดจำหน่าย ซึ่งกระบวนการขออนุญาตก็จะต้องยื่นรายละเอียดเกี่ยวกับส่วนผสมและฉลากมาขอเลขสารบบ ซึ่งก็คือโลโก้ อย. ที่แปะอยู่บนบรรจุภัณฑ์นั่นแหละ 

ในกรณีที่เป็นการผลิตเอง ทาง อย. ก็จะไปตรวจโรงงานผลิตว่าผ่านมาตรฐาน GMP หรือไม่ หรือในกรณีที่เป็นการนำเข้า ก็จะใช้วิธีขอใบรับรองจากโรงงานผู้ผลิตมายืนยัน 

การตรวจสอบในแง่ของตัวผลิตภัณฑ์ เป็นการสุ่มตรวจดูให้แน่ใจว่าไม่มีส่วนประกอบที่เป็นอันตราย เน้นว่าต้องเป็นการสุ่มตรวจ เพราะถ้าจะให้ตรวจทั้งหมด กระบวนการขออนุญาตอาจกินเวลานานนับปี จนไม่มีสินค้าตัวใดได้ออกสู่ตลาด อาจกลายเป็นว่าต้องมารับมือกับเสียงบ่นจากบรรดาผู้ประกอบการแทน 

อ่านมาตั้งหลายบรรทัดก็ยังไม่เจอขั้นตอนไหนที่เป็นการรับรองว่าใช้แล้วได้ผล กระชับสัดส่วน อกฟู หน้าใส ขาวขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ ภายใน 7 วัน 

ต่อไปนี้ถ้าได้ยินคำว่า “อย.รับรองคุณภาพ” อีก เชื่อได้เลยว่าอย่าเชื่อ!

ต่อให้เป็นสินค้าที่ขออนุญาตอย่างถูกต้องตามกฏหมายก็ยังไว้ใจในคุณภาพไม่ได้ ไม่ต้องพูดถึงสินค้าสับขาหลอก ประเภทที่แอบเอาเลข อย. ของคนอื่นมาแปะเนียนๆ เพราะไม่คิดว่าจะมีใครหน้าไหนเอาเลข อย. ไปตรวจสอบ 

ถือว่าประเมินความสามารถของผู้บริโภคยุคใหม่ต่ำไปหน่อย จากการสอบถามกับเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์เฝ้าระวังและรับเรื่องร้องเรียนฯ เราพบว่ายังมีคนเอะใจสงสัยอยู่บ้างเมื่อเห็นผลิตภัณฑ์ที่ดูไม่น่าไว้ใจ และจะดีมากกว่านี้ถ้า อย. จะช่วยเพิ่มช่องทางให้ผู้บริโภคอย่างเราสามารถตรวจสอบด้วยตัวเองได้ง่ายมากขึ้น 

คุณภาพชีวิตของคุณ ปัญหาของใคร

อยากสวยแล้วมันผิดตรงไหน? เราให้ความสำคัญกับความงามเพราะอิทธิพลจากสื่อ หรือสื่อเป็นเพียงภาพสะท้อนของค่านิยมความงามในปัจจุบัน อันนี้ก็ยังเป็นคำถามที่ไม่มีใครตอบได้ เหมือนคำถามโลกแตกไก่กับไข่อะไรเกิดก่อนกัน แต่ทั้งหมดทั้งมวลแล้ว อย. เป็นหน่วยงานหนึ่งที่จะต้องเข้ามาเกี่ยวข้องเรื่องนี้

ข้อสังเกตอย่างหนึ่งเกี่ยวกับผู้บริโภคในปัจจุบันก็คือเรามักจะเชื่อข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต ทั้งที่มันเป็นแหล่งที่น่าเชื่อถือน้อยที่สุด อย่างที่รู้ๆ กันว่าใครจะลุกขึ้นมาพูดอะไรก็ได้ในพื้นที่นี้

อาหารเสริมเม็ดเดียวสรรพคุณครอบจักรวาล แก้อาการตกขาว ขับประจำเดือนตกค้าง กระชับสัดส่วน ผิวขาวใส อกฟู รูฟิต ฯลฯ

ฟังดูเชื่อได้ยาก แต่ก็มีคนที่พร้อมจะเชื่อ 

คำถามที่น่าคิดก็คือ อาการหลงเชื่อได้ง่ายแบบนี้ เกิดจากอะไร ระหว่าง อย.ให้ความรู้ไม่ทั่วถึง หรือผู้บริโภคขาดวิจารณญาณ หรือความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ปราศจากการควบคุม หรือขอบเขตทางศีลธรรมของคนขาย 

ในฐานะผู้บริโภคคนหนึ่ง เชื่อว่าเราต้องดูแลตัวเองในขั้นพื้นฐานได้ เช่น ต้องรู้ว่าซื้อยาจากร้านที่มีเภสัชกร ถ้าจะฉีดโบทอกซ์ก็ต้องเลือกสถานประกอบการที่มีแพทย์ ไม่ใช่หมอปลอมๆ ต้องรู้จักปกป้องสิทธิของตัวเองด้วยการตรวจสอบประวัติของหมอ เป็นต้น  

ถ้าเรามองอย่างเป็นกลางก็จะพบว่ามันเป็นเรื่องไม่ค่อยยุติธรรมสักเท่าไรหากเราจะเอาแต่โทษคนอื่น ทั้งที่ยังไม่รับผิดชอบต่อชีวิตและความปลอดภัยของตัวเอง เพราะมันเป็นปัจจัยเดียวที่เราควบคุมได้ 

“แม้แต่การเห็นว่าคนอื่นที่ใช้ผลิตภัณฑ์ได้ผลมาแล้ว ก็ทำตามไม่ได้ เนื่องจากสภาพร่างกายของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ผู้บริโภคต้องรู้ว่าร่างกายคนเราตอบสนองไม่เหมือนกันเวลาที่ยาถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด มันอาจจะไปทำปฏิกิริยากับโรคบางอย่างที่ซ่อนอยู่ในร่างกายเรา” เจ้าหน้าที่จาก อย. กล่าวกับเรา 

ดังนั้น หน้าที่ของ อย. จึงไม่ได้มีแค่การควบคุมผู้ประกอบการ แต่ยังรวมไปถึงการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับผู้บริโภคอย่างเราๆ ให้รู้เท่าทันเล่ห์เหลี่ยมของคนที่อาศัยช่องโหว่ของระเบียบข้อบังคับมาหาประโยชน์ใส่ตัว โดยไม่สนใจผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับกลุ่มคนที่หลงเชื่อ 

เราอาจจะไม่เคยรู้มาก่อนว่า อย. มีหน่วยงานในสังกัดที่ชื่อว่า “กองพัฒนาศักยภาพผู้บริโภค” ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี  2545 มีหน้าที่โดยตรงในการเผยแผ่ความรู้ที่ถูกต้องให้กับประชาชน มีการรณรงค์และผลิตสื่อหลากหลายรูปแบบเป็นระยะ แต่ก็ยังไม่แพร่หลายกลายเป็นทอล์ค ออฟ เดอะ ทาวน์ 

โดยส่วนตัวแล้วเห็นว่านี่เป็นอีกโจทย์หนึ่งของหน่วยงานนี้ คือทำอย่างไรจะเจาะเข้ามาในโลกโซเชียลได้เหมือนกับที่ร้านขายเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์อาหารเสริมทำ   

สินค้าไม่เถื่อน แต่โฆษณาเป็นของเถื่อน

ถ้าจะพูดกันตามตัวบทกฎหมายแล้ว โฆษณาผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่เราเห็นกันเกลื่อนเมืองนั้น ส่วนมากเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย เพราะพระราชบัญญัติอาหาร มาตรา 40 กำหนดไว้ว่า ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารอันเป็นเท็จหรือเป็นการหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร

หรือหากผู้ประกอบการคนไหนอยากจะโฆษณาอย่างถูกต้องตามกฏหมาย ก็ต้องนำเอาเสียง ภาพ ภาพยนตร์ หรือข้อความที่จะโฆษณามาให้ทาง อย.ตรวจพิจารณาก่อน เมื่อได้รับอนุญาตแล้วจึงจะโฆษณาได้ โดยมีเลขที่อนุญาตโฆษณากำกับ เช่น โฆษณาอาหาร จะใช้อักษรย่อ ฆอ. โฆษณายา จะใช้อักษรย่อ ฆท. และ ฆศ. เป็นต้น 

ไม่ใช่แค่ผลิตภัณฑ์เท่านั้นที่ต้องผ่านการตรวจสอบ แต่ตัวโฆษณาก็เช่นกัน นี่คือสิ่งที่ผู้บริโภคอย่างเรามักจะมองข้ามไป 

การโฆษณาสินค้าเหล่านี้ ต้องผ่านการตรวจสอบและได้รับอนุญาต และถ้าจะเอาคำบรรยายสรรพคุณแบบที่ใช้ๆ กันอยู่ทุกวันนี้ไปขออนุญาตโฆษณา ก็คงไม่ได้รับอนุญาตอยู่ดี เพราะกฎหมายห้ามไม่ให้โฆษณาว่าใช้แล้วได้ผล

กลุ่มคำประเภท “ใช้แล้วขาว ผอม หน้าท้องแบนราบ มีความสามารถในการป้องกันรักษาโรคสารพัด ตั้งแต่ตกขาวไปจนถึงไขมันในเส้นเลือด” ถ้ามาแนวนี้ละก็ ใช้คำว่าอวดอ้างสรรพคุณเกินจริงได้เลย และไม่ได้รับอนุญาตแน่นอน 

ย้อนกลับไปปีที่แล้ว สำนักข่าวอิศราเคยตีข่าว อย. สั่งเปรียบเทียบปรับผู้ประกอบการหลายรายที่มีการโฆษณาสินค้าเหล่านี้โดยไม่ได้รับอนุญาต มีบริษัทใหญ่ๆ หลายรายโดนหางเลขไปด้วย ดังนั้น จะว่าไม่มีการบังคับใช้กฏหมายเลยก็คงไม่ถูกซะทีเดียว 

จะแย่หน่อยก็ตรงที่โทษปรับมันช่างเล็กน้อยเสียเหลือเกิน แต่ก็พอเข้าใจได้ว่าพรบ. อาหาร ถูกบัญญัติไว้ตั้งแต่ปี 2522 ค่าเงินต่างจากสมัยนี้ไปเยอะแล้ว 50,000  บาท ในวันนั้นกับในวันนี้ต่างกันลิบลับ บริษัทใหญ่ๆ ถูกปรับ 50,000 บาท 10 ครั้ง ขนหน้าแข้งก็ยังไม่ร่วง 

หวังว่าเราจะได้เห็นการปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับสภาพสังคมในเร็ววันนี้ 

อย. กับคนไทย รักแท้ดูแลไม่ได้ จริงหรือ? 

ขอย้อนกลับไปที่โครงสร้างองค์กรของ อย. เพราะอยากชี้ให้เห็นว่ามันเป็นเรื่องในระดับโครงสร้าง ถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นว่าการแบ่งหน่วยงานหลักๆ ของ อย. จะใช้กลุ่มผลิตภัณฑ์มาเป็นเกณฑ์ (Product base) เช่น กองยา กองเครื่องมือแพทย์ กองอาหาร กองเครื่องมือแพทย์ (ฟังแล้วอาจจะเป็นภาษาเชยๆ สำหรับคนสมัยใหม่) ซึ่งมันก็เป็นเรื่องที่ควรจะเป็นในยุคที่ อย. ถูกก่อตั้งขึ้นมาในปี 2517  

ประเด็นก็คือในยุคนั้นเรายังไม่มีสมาร์ทโฟน ไม่มีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ไม่มีทีวีดาวเทียมนับร้อยช่องที่เสนอขายยาอกฟูรูฟิต 24 ชั่วโมงเหมือนทุกวันนี้ เมื่อโลกเปลี่ยนไป อะไรๆ มันจึงดูไม่เข้าที่เข้าทางไปเสียหมด ภาระหน้าที่เกี่ยวกับการจัดการโฆษณาแอบอ้างสรรพคุณตามช่องทางการสื่อสารทุกประเภทจะเป็นความรับผิดชอบของหน่วยงานใดในสังกัด อย.? 

ที่เกิดคำถามแบบนี้ขึ้นมาก็เพราะว่าการควบคุมโฆษณาแอบอ้างสรรพคุณและการหลอกลวงผู้บริโภค เป็นงานในเชิงโปรเจคต์หรือ Job Base ขัดกับลักษณะดั้งเดิมของ อย.  

อีกทั้งคนในสังกัด อย. เองก็ยังเป็นนักวิชาการด้านอาหารและเภสัชกร ดังนั้น  เรื่องของทางเทคนิค หรือการสืบค้นเว็บไซต์ของผู้ประกอบการเถื่อน เพื่อโยงไปหาตัวเจ้าของเว็บไซต์ ด้วยทักษะอาชีพแล้วคงต้องบอกว่ามันต้องอาศัยเวลาอยู่พอสมควร 

ตัวแทนของ อย. บอกกับเราว่าทุกวันนี้ อย. เข้าไปเป็นเครือข่ายกับหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ในเรื่องนั้นๆ เช่น ร่วมมือกับ กสทช. เพื่อควบคุมการโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหารเสริมในสถานีโทรทัศน์ โดยจะกำหนดให้ให้มีผลกับการต่อสัญญาออกอากาศ ถ้ายังพอจำกันได้ เมื่อปี 2556 กสทช. ก็ลงดาบ "พอใจชาแนล" ไปเรียบร้อยแล้วกับข้อหาโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณอาหารเสริมเกินจริง

ในกรณีที่เป็นเว็บไซต์ก็เข้าไปร่วมมือกับ ICT เพื่อสั่งปิดเว็บไซต์จำหน่ายสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานและมีการโฆษณาเกินจริง (เป็นกระบวนการที่กินเวลานานมาก เพราะการสั่งปิดเว็บไซต์ต้องมีคำสั่งศาล) และจะส่งเป็นคดีพิเศษให้กับ DSI ในกรณีที่เป็นผู้ค้ารายใหญ่ มีเครือข่ายโยงใยกันหลายๆ เว็บไซต์ เป็นต้น 

อย่างที่เราเห็นว่าการบุกยึดโกดังสินค้า OHO ที่มีเจ้าหน้าที่หลายๆ ฝ่ายร่วมมือกัน และคดีนี้ก็น่าจะต้องติดตามกันต่อไป เพราะ ปปง. ก็จะต้องตรวจสอบเส้นทางรายได้และการเสียภาษีของเจ้าของธุรกิจด้วย ถ้าบังคับใช้กฏหมายแบบจริงจังละก็ งานนี้อ่วมแน่ เจ้าของผลิตภัณฑ์ OHO ต้องร้องว่า “โอ้โห!” จริงๆ 

ถ้าจะเปรียบเทียบความสัมพันธ์ระหว่างผู้บริโภคชาวไทยในยุคอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงกับองค์กรเก่าแก่แบบ อย. ก็คงจะต้องบอกว่ายังอยู่ในช่วงปรับตัว 

ขอสรุปว่ารักแท้ แต่ขอดูแลเท่าที่ดูแลได้ไปก่อน ระหว่างนี้ก็คงต้องพึ่งตัวเองกันบ้างนะพี่น้อง...

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook