ชายใจชาย กายแต่งหญิง

ชายใจชาย กายแต่งหญิง

ชายใจชาย กายแต่งหญิง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สังคมไทยอาจจะคุ้นเคยกับเพศทางเลือก ไม่ว่าจะเป็นเกย์ กะเทย หรือเลสเบี้ยน เพราะเปิดโอกาสให้แสดงออกกันได้อย่างเสรีมาเนิ่นนานแล้ว แต่ถ้าเป็นกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “ครอสเดรส” (Cross-Dress) เชื่อแน่ว่าหลาย ๆ คนคงขมวดคิ้วด้วยความสงสัยว่าหมายถึงอะไร

“ครอสเดรส” คือผู้ชาย ที่ชื่นชอบการแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าของผู้หญิง แต่อย่าได้จำสับสนกับ “สาวประเภทสอง” โดยเด็ดขาด เพราะครอสเดรสคือชายแท้ๆ ที่ชอบผู้หญิง แต่งงานกับผู้หญิง บางคนมีลูก มีชีวิตครอบครัวตามปกติ 

ฟังดูเป็นเรื่องเหลือเชื่อ แต่ในโลกนี้ยังมีเรื่องที่เราไม่รู้อยู่อีกมาก รวมถึงเรื่องนี้ก็อาจจะเป็นหนึ่งในเรื่องที่หลายๆ คนไม่เคยรู้มาก่อนเช่นกัน และถ้าคุณอยากจะรู้จักโลกของพวกเขาให้มากกว่านี้ เรามาค้นหาคำตอบไปพร้อมๆ กัน

เรามีโอกาสได้พูดคุยกับ “คุณเบิ้ม” แอดมินเพจแห่งหนึ่งที่เป็นกลุ่มเฉพาะสำหรับครอสเดรส (ซึ่งเราขออนุญาตไม่เปิดเผยชื่อเพจ) เรียกได้เต็มปากว่าเป็น “คนวงใน” โดยแท้ สำหรับกรณีนี้ 

ย้อนกลับไปหลายสิบปีก่อน ภาพของสาวออฟฟิศใส่เสื้อสูทเข้ารูป กระโปรงมินิสเกิร์ต ถุงน่อง และรองเท้าส้นสูง เป็นภาพที่ “คุณเบิ้ม” ที่ในวันนั้นยังมีคำนำหน้าชื่อว่า “เด็กชาย” โปรดปรานมากที่สุด และในที่สุดก็ค่อยๆ รู้ตัวว่าอยากแต่งตัวแบบนั้นบ้าง...

“รู้สึกว่ามันต้องมีอะไรที่ผิดปกติไม่เหมือนคนอื่น แต่ไม่รู้ว่าคืออะไร เพราะสมัยนั้นยังไม่มีอินเทอร์เน็ต ก็ยังคิดอยู่เสมอว่าอาการนี้เป็นอยู่คนเดียวแน่ๆ เห็นเพื่อนบางคนเป็นตุ๊ด เขาก็จะมีลักษณะเฉพาะคือตุ้งติ้ง และดูแล้วพวกเขาจะชอบผู้ชาย ซึ่งไม่เหมือนเราอีกนั่นแหละ เพราะเราไม่ได้อยากจะเป็นผู้หญิง และก็ยังชอบผู้หญิง เลยยิ่งสับสนไปกันใหญ่” 

“แต่พอมีอินเตอร์เน็ตก็พบว่าอาการลักษณะนี้มีคนเป็นเหมือนกันทั้งคนไทยและคนทั่วโลก ก็รู้สึกว่าเราไม่โดดเดี่ยวแล้ว” 

ครอสเดรสในต่างแดน

จากการค้นหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต เราพบว่า “ครอสเดรส” มีการรวมตัวกันเป็นชุมชนเล็กๆ ที่กระจายตัวอยู่ในที่ต่างๆ ทั่วโลก 

และมันไม่ใช่เรื่องใหม่ ประวัติศาสตร์โลกบันทึกเรื่องราวของบุรุษที่แต่งกายด้วยเสื้อผ้าของสตรีเอาไว้ในหลายๆ แง่มุม เช่น ในปี 1629 เกิดกระแสแบนผู้หญิงในละครคาบูกิของญี่ปุ่น ดังนั้น ในช่วงเวลาดังกล่าว ตัวละครหญิงจึงถูกแสดงโดยผู้ชายแท้ๆ ทั้งสิ้น  

หากจะให้ยกตัวอย่างประเทศที่วัฒนธรรมแต่งหญิงได้รับการเปิดเผยมากที่สุดก็คงจะหนีไม่พ้นประเทศญี่ปุ่น ที่ใช้คำว่า “โอโตะโคโนโกะ” (OTOKONOKO) เป็นศัพท์เฉพาะสำหรับการเรียกขานวัฒนธรรมแต่งหญิง 

ในปัจจุบัน ที่ญี่ปุ่นมีการประกวดครอสเดรสอย่างจริงจัง แถมยังมี “ครอสเดรสคาเฟ่” ที่เป็นแหล่งหารายได้พิเศษของมนุษย์เงินเดือนหนุ่มๆ ด้วยการเป็นสาวเสิร์ฟในร้านแห่งนี้ ลูกค้าทั้งหญิงชายต่างก็พึงพอใจที่มีของสวยๆ งามๆ ให้ดู 

กลับมาถึงเรื่องราวในประเทศไทย ถึงแม้ว่าจะไม่มีที่ให้แสดงตัวตนในที่สาธารณะแบบญี่ปุ่น แต่ก็ยังมีชุมชนเล็กๆ สำหรับพบปะพูดคุยกับคนที่มีรสนิยมเหมือนกัน 

“เราเปิดกลุ่มใน Facebook และก็แชร์ประสบการณ์การแต่งตัว แชร์รูปภาพ หรือบางครั้งก็มีการจัดมีทติ้งกัน  ทานข้าวกันที่ร้านอาหารโดยการเช่าห้องคาราโอเกะ คนที่แต่งหน้าเป็นก็จะแต่งหน้าให้กับคนอื่นๆ เหมือนมาแต่งตัว แต่งหน้า ถ่ายรูป ร้องเพลงกัน” 

รู้จักตัวเองก่อนแต่งหญิง 

อย่างที่บอกไปแล้วในตอนต้น รสนิยมชอบแต่งกายด้วยเสื้อผ้าของผู้หญิงนั้นเป็นคนละเรื่องกับการเป็นกะเทย แต่ในความเข้าใจของคนทั่วไปมันมีความคาบเกี่ยวกันในหลายๆ ระดับ บางคนอาจจะคิดว่าตัวเองเป็นกะเทย ทั้งที่อาจจะแค่ชอบแต่งตัวเป็นผู้หญิงเท่านั้น ซึ่งจากประสบการณ์ของคุณเบิ้มแล้ว สามารถแบ่งได้หลายระดับ ดังนี้ 

1.ชอบเนื้อผ้าของกางเกงในผู้หญิง เพราะใส่สบายกว่ากางเกงในผู้ชาย โดยไม่มีอารมณ์ทางเพศมาเกี่ยวข้อง 

2.ชอบเสื้อผ้าหรือเครื่องประดับบางชนิดของผู้หญิง เช่น ส้นสูง แต่แค่ดู หรือแค่สัมผัส เห็นแล้วมีอารมณ์ทางเพศ 

3.ชอบเอาเสื้อผ้าหรือเครื่องประดับบางชิ้นมาสวมใส่ เช่น บางคนชอบสวมถุงน่องนอน มีทั้งแบบที่มีอารมณ์ทางเพศและแบบที่ไม่มีอารมณ์ทางเพศ

4.ชายแต่งหญิง แบบแต่งให้เหมือน เพราะแต่งแล้วมีอารมณ์ทางเพศ พอสำเร็จกิจด้วยตัวเองเสร็จ ก็หมดอารมณ์

5.ชายแต่งหญิง แบบแต่งให้เหมือน แต่งเพราะสวยดี แต่ไม่ได้มีอารมณ์ทางเพศ คล้ายกับพวกคอสเพลย์

6.ชายแต่งหญิง แล้วมีอารมณ์ทางเพศชนิดที่ต้องการมีความสัมพันธ์ทางเพศกับผู้ชาย (โดยคิดว่าตัวเองเป็นผู้หญิง) แต่เป็นชั่วคราวเฉพาะตอนมีอารมณ์ทางเพศเท่านั้น

7.ชายแต่งหญิง แล้วมีอารมณ์ทางเพศ แต่ต้องการมีความสัมพันธ์ทางเพศกับผู้หญิง

8.ชายแต่งหญิง แล้วต้องการเป็นผู้หญิงจริงๆ มีการกิน/ฉีดฮอร์โมน ผ่าตัด ฯลฯ 

เท่าที่เห็น ณ เวลานี้ สังคมจะยอมรับกลุ่มที่ชอบแต่งคอสเพลย์ และกะเทยที่ก้าวข้ามความเป็นครอสเดรสไปแล้ว คือทำสรีระร่างกายให้เป็นผู้หญิงมากกว่า

“สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ การก้าวข้ามความเป็นชายแต่งหญิงไปสู่ความต้องการเป็นผู้หญิงจริงๆ นี่แหละ ถ้าคนที่ไม่รู้อาจจะคิดว่าการที่ตัวเองชอบแต่งเป็นผู้หญิงนั้นเพราะตัวเองเป็นกะเทยทำให้ไปกินฮอร์โมนตอนอายุเยอะๆ ซึ่งมันไม่น่าจะดีเท่าไหร่” คุณเบิ้มกล่าว  

และบางอย่าง เมื่อทำลงไปแล้วมันเรียกกลับคืนมาไม่ได้...

“ส่วนพวกที่ไปลักขโมยกางเกงในชาวบ้านมาสำเร็จความใคร่นั้น ผมไม่ถือว่าเป็นกลุ่มชายแต่งหญิงนะครับ เพราะพวกนั้นสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านและผิดกฎหมายด้วย” 

การยอมรับจากคนรอบข้าง

หากสังคมยังไม่รับรู้ถึงความแตกต่างระหว่างชายแต่งหญิงแต่ละประเภท ก็อาจจะคิดว่าแบบเหมารวมว่ามันแสดงถึงความโรคจิต หรือความผิดปกติทางเพศ แต่สำหรับครอสเดรสที่โชคดีหน่อยอาจจะมีคนใกล้ตัวที่เปิดใจยอมรับในความแปลกเล็กๆ นี้ได้ ดังเช่นภรรยาของคุณเบิ้ม ที่รู้เรื่องนี้เข้าโดยบังเอิญ 

แต่ก่อนที่ภรรยาจะรู้เรื่องนี้ ตัวเขาเองก็อายเวลาที่จะไปซื้อเสื้อผ้าหรืออุปกรณ์แต่งหญิง บางทีก็ต้องบอกว่าซื้อให้น้องบ้าง ซื้อให้แฟนบ้าง แต่ปัจจุบันก็สามารถเข้าไปเลือกซื้อเองได้แล้ว และบางทีภรรยาก็ช่วยเลือกให้ด้วย

“ทีแรกก็ไม่ได้ตั้งใจให้รู้หรอกครับ แต่ว่าผมถ่ายรูปเก็บไว้ในโทรศัพท์ ปกติเราจะไม่ค่อยไปยุ่งกับโทรศัพท์ของอีกฝ่าย พอดีวันนั้นภรรยาผมเอาโทรศัพท์ผมไปถ่ายรูปอะไรสักอย่าง แล้วเค้าก็กดดูรูปที่ถ่าย เลยไปเจอรูปที่ผมถ่ายไว้ลงเว็บ ภรรยาผมนั่งหัวเราะคิกๆ ผมก็สงสัยเลยเดินไปดู เขาจำได้ ขนาดผมเบลอหน้าแล้วนะ” 

เหตุการณ์นั้นเองที่เป็นจุดเริ่มต้น ทางด้านภรรยาของคุณเบิ้มบอกว่ารสนิยมแบบนี้ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้ใคร และไม่ไปสำส่อนนอกบ้านก็พอแล้ว ในตอนแรกเธอก็เข้าใจเหมือนคนทั่วไปว่ามันคืออาการทางจิต แต่เมื่อสามีอธิบายให้ฟัง เธอก็เข้าใจ 

“หลังจากนั้นเราก็ใช้ชุดร่วมกัน เพราะตัวพอๆ กัน ผมชอบชุดไหนผมก็ซื้อ เธอชอบชุดไหนก็ซื้อ บางทีผมก็ขอให้ภรรยาช่วยแต่งหน้าให้” คุณเบิ้มเล่าอย่างอารมณ์ดี 

ถ้าแม้แต่คนใกล้ตัวยังไม่รู้สึกว่ารสนิยมของเขาเป็นปัญหา คนนอกอย่างเราก็อย่าไปตัดสินเลย 

ก่อนจะจบการสัมภาษณ์ในครั้งนี้ คุณเบิ้มกล่าวทิ้งท้ายเอาไว้ว่า “ผมไม่ใช่ผู้หญิงนะครับ ผมเป็นผู้ชาย แต่แค่ชอบแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าผู้หญิงเฉยๆครับ” 

 

ภาพจาก YouTube ช่อง VICE และ ZeSSIV

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook