จับตา สัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 เติมเชื้อการเมืองร้อน
นอกจากประเด็นถอดถอน อดีตประธานรัฐสภา ประธานวุฒิสภา และนายกรัฐมนตรี ที่จะมีในวันศุกร์ที่ 23 ม.ค.2558 ซึ่งจะทำให้บรรยากาศการเมืองร้อนแรงขึ้นแล้ว อีกประเด็นหนึ่งที่ต้องจับตามอง เพราะจะเป็นประเด็นที่เพิ่มความร้อนแรงทางการเมืองขึ้นมาอีกก็คือ ...กรณีการเดินหน้าเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21
หลังจากรัฐบาล คสช.ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แสดงท่าทีชัดเจนไม่รับฟัง ไม่สนใจมติของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่ลงมติด้วยเสียงส่วนใหญ่ 130 เสียงไม่เห็นด้วยต่อข้อเสนอคณะกรรมาธิการปฏิรูปพลังงาน สปช.เสียงข้างมาก ให้เดินหน้าสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21
ไม่ว่าจะเป็นท่าทีของตัวพล.อ.ประยุทธ์เองที่ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า "ตามกฎหมายกระทรวงพลังงานเป็นผู้ดูแลในการจัดหาแหล่งพลังงาน ซึ่งไม่ต้องขอตนด้วย เพราะเป็นหน้าที่ของกระทรวงพลังงานในการมีภารกิจดังกล่าว เมื่อมีการแจ้งให้ที่ประชุมรับทราบ ที่ประชุมก็ได้รับทราบ ตนได้บอกว่าให้ไปหารือในการชี้แจงทำความเข้าใจ เมื่อ สปช. ไม่เห็นด้วยก็ต้องไปดูข้อเสนอของคณะกรรมาธิการว่ามีวิธีการใดบ้างซึ่งกระทรวงพลังงานก็เดินหน้าไปตามอำนาจที่มีอยู่"
นอกจากนั้นยังสัมทับไปถึงกลุ่มประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับการเดินหน้าเปิดสัมปทานฯว่า "กระทรวงพลังงานเดินหน้าอยู่แล้ว ยังไงก็ต้องเดิน แต่ไม่ใช่เดินในวันนี้ พรุ่งนี้ เพราะจะมีการเปิดสัมปทานในเดือน ก.พ. ส่วนบางกลุ่มที่จะออกมาเรียกร้องยืนยันว่าออกมาไม่ได้ ไม่ให้ออก ไปหาเรื่องชี้แจง อย่าหาเรื่องออกมาเดินขบวนกันอีก"
หรือแม้แต่ท่าทีของมือกฎหมายคนสำคัญอย่าง นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีที่บอกว่า "ในเรื่องการเปิดสัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ 21ว่า กรณีดังกล่าว สปช.ไม่ได้คิดเอง แต่รัฐบาลเป็นคนให้คำถามไป เมื่อมีมติแล้วก็ส่งความเห็นให้แก่รัฐบาล ซึ่งอาจจะเลือกหรือไม่เลือกแนวทางที่ สปช.เสนอมาก็ได้ เนื่องจากเป็นอำนาจของรัฐบาล และการไม่เลือกตามแนวทางที่ สปช.เสนอก็ไม่ถือว่าเป็นความขัดแย้งอะไร"
ส่วนเจ้ากระทรวงอย่างนาย ณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นั้น ออกมาแถลงข่าวทันทีหลังสปช.มีมติไม่เห็นด้วยการเดินหน้าสัมปทานฯรอบ21 ว่ากระทรวงพลังจะเดินหน้าต่อ
การแสดงท่าที่ของรัฐบาลต่อเรื่องการเปิดสัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ 21 โดยไม่สนใจกระแสของภาคประชาชน ที่ไม่เห็นด้วยต่อการเดินหน้า สัมปทานเพราะต้องการให้มีการปฏิรูปในเรื่องพลังงานของประเทศ ต้องการให้มีการวางระบบการทำสัญญาที่จะให้เอกชนเข้ามาสำรวจและขุดเจาะ พลังงานให้เกิดความเป็นธรรม และ ให้รัฐได้ประโยชน์สูงสุด ต้องการให้ประชาชนที่ถือเป็นเจ้าของทรัพยากรได้ประโยชน์สูงสุด และยังไม่จำเป็นต้องรีบร้อนดำเนินการในเรื่องดังกล่าว
เพราะที่ผ่านมา กลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการเปิดสัมปทานในรูปแบบเดิมเห็นว่า การทำสัญญาสัมปทานเป็นการยกประโยชน์ให้กับเอกชน มากกว่า เป็นการยกสิทธิเด็ดขาดให้กับเอกชนในการจัดการทรัพยากรของชาติ รัฐได้เม็ดเงินจากสัมปทานไม่คุ้มค่า ประชาชนไม่ได้ประโยชน์เพราะต้องแบกรับค่าพลังงานที่แพงกว่าเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆที่มีแหล่งพลังงาน
การปฏิเสธความเห็นต่างของภาคประชาชนที่ไม่เห็นด้วย กับการเดินหน้าเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 และปฏิเสธมติของ สปช. ด้วยเหตุผลที่บอกว่า อำนาจการตัดสินใจเป็นของรัฐบาล จะฟังก็ได้ไม่ฟังก็ได้ เป็นการสะท้อนระบบคิดของอำนาจนิยม ขัดกับระบอบประชาธิปไตย อย่างชัดเจนที่สุด
จริงอยู่แม้ปัจจุบันการบริหารประเทศของรัฐบาลจะมาจากการใช้อำนาจทหาร ในการเข้าควบคุมอำนาจจากเหตุความขัดแย้งทางการเมือง และใช้อำนาจพิเศษในการบริหารประเทศ แต่ด้วยสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชนว่า ...จะเดินหน้าปฏิรูปประเทศ...เพื่อให้เป็นประชาธิปไตย จะคืนความสุขให้กับประชาชน ..ดังนั้นในช่วงที่ผ่านมา กลุ่มประชาชนส่วนใหญ่จึงยอมสงบนิ่ง ให้โอกาส รอ ด้วยความหวังว่าสิ่งเหล่านั้นจะเป็นไปตามสัญญา
และในเรื่องของ พลังงาน ถือเป็นเรื่องหนึ่งที่ประชาชนให้ความสำคัญ ติดตามต่อสู้มาตั้งแต่ในยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ดังนั้นการแสดงท่าทีของรัฐบาลในเรื่องพลังงานโดยไม่ยอมรับฟังความเห็นของประชาชน ไม่สนมติของ สภาปฏิรูปประเทศ สปช. จึงทำลายความน่าเชื่อถือ ความหวังของประชาชน และไม่สอดคล้องกับทิศทาง แนวทางที่ต้องการ ปฏิรูปประเทศให้เป็นประชาธิปไตยที่หลายฝ่ายคาดหวัง
และแม้ว่ารัฐบาลจะมาจากทหาร มีการใช้อำนาจพิเศษในการควบคุม แต่ในเรื่องที่เป็นประเด็นใหญ่เป็นที่สนใจติดตาม และเห็นว่าเป็นเรื่องผลประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติ การใช้อำนาจโดยไม่รับฟังเสียงสะท้อนเหล่านี้ ยอมสร้างความกระแสความพอใจเป็นอย่างมาก....และสิ่งเหล่านี้จะเป็นการเติมเชื้อความร้อนแรงทางการเมืองที่ต้องติดตามอีกประเด็น.....
โดย....เปลวไฟน้อย