ยิ่งลักษณ์ ลั่นบริสุทธิ์ ยันจะต่อสู้คดีจนถึงที่สุด
หลังจากที่สถานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติ ถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มติถอดถอน 190 ต่อ 18 เสียง ซึ่งส่งผลให้ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี นั้น
ล่าสุด ผู้สื่อข่าวรายงาน (23 ม.ค.) เมื่อเวลา 15.00 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Yingluck Shinawatra ว่า
เป็นไปตามความคาดหมาย ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้มีมติ ถอดถอนดิฉันออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี และอัยการสูงสุดได้สั่งฟ้องดิฉัน ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญา ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น ดิฉันขอแถลงดังนี้
ดิฉัน ขอยืนยัน และมั่นใจในความบริสุทธิ์ของดิฉัน และขอขอบคุณเสียงส่วนน้อย ที่ยังคงยึดมั่นในหลักการ และความเที่ยงธรรม ซึ่งในกระบวนการต่างๆ ได้ริดรอน และตัดสิทธิขั้นพื้นฐานของดิฉัน ในฐานะประชาชนคนไทยคนหนึ่งที่พึงได้รับ
ดิฉันขอยืนยันว่า โครงการรับจำนำข้าว เป็นโครงการที่ดี ไม่ได้สร้างความเสียหายแต่อย่างใด สำหรับตัวเลขความเสียหาย ที่พยายามจะยัดเยียดให้ดิฉันนั้น ก็เป็นเพราะความมีอคติต่อตัวดิฉัน และนำชาวนามาเป็นเครื่องมือ ในการทำลายล้างทางการเมือง
ดังที่ดิฉัน ได้เคยกล่าวถึงความเป็นประชาธิปไตยในประเทศไทย เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2556 ณ เมืองอูลัน บาตอ ประเทศมองโกเลียว่า "ดิฉันนั้นต้องการเห็น ความปรองดองเกิดขึ้นในประเทศไทย และประชาธิปไตยของไทย พัฒนาให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ จะเกิดขึ้นได้ ก็ด้วยหลักนิติธรรม และกระบวนการทางกฎหมายที่แข็งแรง มีขั้นตอนที่ชัดเจน โปร่งใส และเมื่อนั้น ทุกคนจะสามารถมั่นใจได้ว่า เขา จะได้รับการดูแลที่ยุติธรรม"
ดิฉันยังคงยืนยัน ในคำพูดดังกล่าว แม้ว่าวันนี้ ประชาธิปไตยไทยได้ตายไปแล้วพร้อมกับหลักนิติธรรม แต่ขบวนการทำลายล้าง ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ดังที่ดิฉันได้ประสบอยู่ขณะนี้
เป็นที่น่าเสียใจ และเป็นเรื่องที่ไม่อยากจะเชื่อว่า มีเหตุการณ์บังเอิญต่างๆมากมาย ตามที่ดิฉันได้แถลงปิดสำนวนไปเมื่อวานนี้ และเป็นการบังเอิญ ที่ไม่ใช่ความบังเอิญ อีกครั้งหนึ่ง คือก่อนเวลาที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จะเริ่มลงมติถอดถอน เพียง 1 ชั่วโมง อัยการสูงสุด ก็ได้แถลงสั่งฟ้องดิฉัน ในข้อหาละเว้นการปฎิบัติหน้าที่ ก่อให้เกิดการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว ทั้งๆ ที่ หัวหน้าคณะผู้แทนอัยการสูงสุด ยืนยันว่า ยังต้องพิจารณาข้อไม่สมบูรณ์ของคดีต่อไป
องค์กรอัยการ ซึ่งเป็นองค์กรที่สร้างความน่าเชื่อถือ ในกระบวนการยุติธรรมมายาวนาน กลับต้องถูก ตั้งข้อสงสัย ในประเด็นนี้ค่ะ
ทั้งนี้การปฏิบัติหน้าที่ของดิฉัน ในฐานะนายกรัฐมนตรี ตลอดระยะเวลา 2 ปี 9 เดือน 2 วัน นั้น ดิฉันตั้งใจทำงานด้วยความทุ่มเท ที่จะแก้ไขปัญหา ให้กับพี่น้องประชาชนทุกกลุ่ม อย่างไม่เลือกปฎิบัติ และดิฉันภูมิใจ ที่ช่วงหนึ่งในชีวิต ได้ทำให้พี่น้องชาวนา และคนยากจน ได้ลืมตา อ้าปาก และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
แม้ในวันนี้ ดิฉัน ไม่มีตำแหน่งอะไรเหลืออยู่แล้ว ยังคงเหลือแต่ คดีความ ที่ถูกยัดเยียดไว้ให้ ที่ต้องไปสู้คดีในชั้นศาลต่อไป
คำว่าความปรองดอง จะเกิดขึ้นได้ ต้องไม่ใช่การไล่ล่าคนใดคนหนึ่ง แต่หมายถึงความเป็นกลาง ที่ต้องอำนวยความยุติธรรมให้กับทุกฝ่าย เมื่อความเป็นธรรมเกิด ความยุติธรรมก็จะตามมา การยอมรับ ความสงบ ความสามัคคีก็จะมีขึ้นในสังคมไทย
เพราะเราเป็นคนไทยเหมือนกัน แทนที่เราจะหันหน้าเข้าหากัน แล้วร่วมกันทำให้ประเทศของเราเข้มแข็ง แต่กลับสร้างความจงเกลียดจงชังให้แก่กัน ไล่ล่าเพื่อให้ไม่มีที่ยืน สุดท้ายคนที่เสียหายก็คือประเทศของเรา
ดิฉันรันทดใจ ไม่ใช่เพราะดิฉันถูกกลั่นแกล้ง และประสบชะตากรรมที่ไม่เป็นธรรม แต่ดิฉันเสียใจแทนชาวนา และประชาชนคนไทยทั้งประเทศ ที่ต้องสูญเสียโอกาส ต้องกลับไปอยู่ในวังวน ของความยากจน มีหนี้สิน ถูกเอารัดเอาเปรียบ และสูญเสียความเป็นประชาธิปไตยขั้นพื้นฐาน ตลอดจน กฎหมายถูกบิดเบือน
สุดท้ายนี้ ดิฉันก็หวังว่า ผู้ที่เป็นฝ่ายอำนวยความยุติธรรมของประเทศ จะไม่ปล่อยให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ที่ไม่รักษากติกาประชาธิปไตย และไม่รักษา หลักนิติรัฐ นิติธรรม มาชี้นำใดใดอีก ดังที่มีนักวิชาการกล่าวว่า "ไม่มียิ่งลักษณ์ คนไทยยังอยู่กันได้ แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือ ถ้าไม่มีความยุติธรรมหลงเหลืออยู่ ในระบบการปกครองของไทยแล้ว คงไม่มีใครอยู่ได้"
อย่างไรก็ตาม ดิฉันขอยืนยันว่า ดิฉันจะต่อสู้จนถึงที่สุด เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของดิฉันไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไร และที่สำคัญ คือ ดิฉัน จะขอยืนหยัด อยู่เคียงข้างพี่น้องประชาชนคนไทย เราต้องร่วมกันนำความเจริญก้าวหน้า มาสู่ประเทศ ทำให้ระบอบประชาธิปไตยของเรากลับคืนมา และสร้างความเป็นธรรม ให้เกิดขึ้นในสังคมไทยอย่างแท้จริง
ทั้งนี้ พันเอกวินธัย สุวารี โฆษกคสช. ชี้แจงกรณีที่มีการยกเลิกการแถลงข่าวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกณัฐมนตรีว่า คสช.ไม่ได้สั่งห้าม อดีตนายกฯ แถลงข่าวที่โรงแรม SC Park แต่ในสถานการณ์นี้ ยังอยู่ในเงื่อนไขเดิมที่ว่า หากความเคลื่อนไหวใด ที่จะเป็นประเด็นทางการเมือง และอาจสุ่มเสี่ยงก่อให้เกิดความขัดแย้งหรือประเด็นทางการเมือง ก็ขอความร่วมมือ เพราะในสถานการณ์แบบนี้ ขอให้พิจารณาความเหมาะสมด้วยเท่านั้น