มองการเมืองหลัง สนช.เชือด "ยิ่งลักษณ์"

มองการเมืองหลัง สนช.เชือด "ยิ่งลักษณ์"

มองการเมืองหลัง สนช.เชือด "ยิ่งลักษณ์"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หลังการลงมติของ สนช.ถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ด้วยคะแนนท่วมท้น 190 คะแนน มากกว่าเกณฑ์ 3 ใน 5 หรือ 132 เสียง ส่งผลให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี ตามกฎหมาย

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ทำคำแถลงชี้แจงผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว จากเดิมที่จะแถลงข่าวแต่ถูก คสช.ขอร้องให้ยกเลิกด้วยเหตุเกรงว่าจะทำให้เกิดความวุ่นวายเกิดขึ้น โดยได้รวบรวมชี้แจงทั้งกรณีถูกถอดถอน และ ถูกอัยการสูงสุดส่งฟ้องคดีอาญาฯ ในเรื่องการละเว้นฯปล่อยให้มีการทุจริตในโครงการจำนำข้าวไปพร้อมกัน

สำหรับสาระสำคัญที่ถูกเขียนผ่านแถลงการณ์ พอจะสรุปได้ก็คือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยืนยันความบริสุทธิ์ของตัวเอง มองการดำเนินการของสนช.เป็นเรื่องการกลั่นแกล้งทางการเมือง ยืนยันโครงการรับจำนำข้าวที่เป็นมูลเหตุให้ถูกถอดถอนในครั้งนี้ เป็นโครงการที่ดีไม่มีความผิดพลาด ไม่เกิดความเสียหาย เป็นการช่วยเหลือชาวนาช่วยคนยากจน

น.ส.ยิ่งลักษณ์ มองว่าการการถอดถอน และ การฟ้องอาญาฯทำให้ประชาธิปไตยตายไปพร้อมการดำเนินการครั้งนี้ กล่าวหากระบวนการยุติธรรมไม่โปร่งใส ไม่ยึดหลักนิติธรรม และคุณธรรม ซึ่งจะทำให้แนวทางการสร้างความปรองดองขจัดความขัดแย้งไม่สามารถเกิดขึ้นได้

โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยืนยันจะอยู่ต่อสู้กับคดีความที่เกิดขึ้นจนถึงที่สุด จะต่อสู้เคียงข้างประชาชนเอาประชาธิปไตยกลับคืนมาให้ได้

จากผลของการลงมติถอดถอนและท่าทีผ่านการเขียนแถลงการณ์ของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ครั้งนี้ทำให้หลายคน ตั้งคำถามว่า จะเกิดอะไรขึ้นต่อไปข้างหน้า และคนไทยทั่วไปได้อะไรบ้างจากผลของมติครั้งนี้

จะเกิดความวุ่นวายความรุนแรงในลักษณะของการเมืองนอกสภาขึ้นมาอีกหรือไม่...?
อย่างที่ทราบก่อนมีการลงมติ บรรดาแกนนำกลุ่มแนวร่วมเพื่อประชาธิปไตยแห่งชาติ หรือ นปช. มีหลายคนออกมาให้ข่าวว่า หากถอดถอนจะเกิดความวุ่นวาย ซึ่งจากการประเมินการเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นเพียงการ ข่มขู่กดดัน สนช.เท่านั้น เพราะทางด้านหน่วยงานความมั่นคงมีการประเมินสถานการณ์และเกาะติดความเคลื่อนไหวบรรดาแกนนำอยู่ตลอด

และเมื่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมออกมาปรามเท่านั้น กระแสจากบรรดาแกนนำ นปช.ก็เปลี่ยนไป โดยย้ำว่า คนเสื้อแดงจำต้องอดทนให้ถึงที่สุด เพราะยังอยู่ใต้สถานการณ์ ที่มีกฎอัยการศึก

ดังนั้นเชื่อว่า การเคลื่อนไหวของกลุ่มเพื่อไทยและ นปช. และเครือข่ายสื่อรวมไปถึงนักวิชาการในปีกเดียวกัน จะไม่ออกมาเคลื่อนไหว ออกมาชุมนุมใดๆ แต่น่าจะใช้วิธีการก่อสงคราม ปลุกกระแสผ่านสื่อ ทั้งสื่อหลักและสื่อโซเซียลมีเดีย หรือ การเคลื่อนไหวในทางลับมากกว่า แต่ ด้วยบรรยากาศของการใช้อำนาจของรัฐบาลที่ใช้กฎหมายพิเศษอย่างกฎอัยการศึกอยู่ในปัจจุบัน การเคลื่อนไหวเหล่านี้ก็ไม่ง่ายนัก

ส่วนที่มีการตั้งประเด็นว่าคนไทยได้อะไรจากการถอดถอน ? มีบางคนถึงกับมองว่า การถอดถอนมีแต่พรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามกับอดีตนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์เท่านั้นที่ได้ประโยชน์ การมองการชี้ประเด็นในลักษณะนี้ ถือว่าเป็นมุมมองที่คับแคบ มองแต่เรื่องการช่วงชิงความได้เปรียบเสียเปรียบทางการเมืองเท่านั้น
ทั้งที่จริงในเรื่องนี้ น่าจะเป็นบรรทัดฐานในเรื่อง การออกนโยบาย การทำนโยบายของพรรคการเมืองในอนาคต ว่า ต่อไป การทำนโยบายต้องมีความรอบครอบและต้องรับผิดชอบหากนโยบายนั้นก่อให้เกิดความเสียหายกับประเทศชาติ ทำให้ต้องสูญเสียงบประมาณ ซึ่งเป็นเงินภาษีของประชาชน โดยต้องรับผิดทั้งทางการเมืองและทางอาญาด้วย

ส่วนประเด็นที่น่าสนใจและต้องขบคิดว่าจะหาทางออกอย่างไรหลังจากนี้ก็คือ...ประเทศไทยจะผ่านพ้นความขัดแย้งทางการเมืองทีมีมาก่อนหน้านี้ หรือ ไปสู่สังคมที่อยู่กันได้แม้มีความเห็นต่าง และต่อสู้ทางการเมืองไปตามระบอบได้หรือไม่....

จนถึงวันนี้ต้องยอมรับว่า เป็นเรื่องยากและยังต้องใช้เวลาอีกนาน เพราะจับท่าทีถ้อยแถลงผ่านแถลงการณ์ของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรแล้ว ยังคงยืนยันการกระทำของตัวเองว่าเป็นสิ่งถูกต้อง ไม่ได้ยอมรับว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นความผิดพลาด มองว่าถูกกลั่นแกล้ง ไม่ยอมรับกระบวนการยุติธรรม หากตัดสินว่าตัวเองผิด มองหนทางแห่งสันติ หรือ แนวทางปรองดองของสังคมคือ ต้องปล่อยให้ผ่านเลยไปเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

แน่นอนว่าในห่วงเวลานี้การเคลื่อนไหวแม้จะไม่สะดวกมากนัก แต่หาก หัวเรือใหญ่ อย่าง "ชินวัตร" ไม่ยอมแพ้ ด้วยกำลังของทุนและเครือข่ายที่พร้อมจะรอเวลา ด้วยความมั่นใจว่าจะสามารถกลับมามีอำนาจอีกครั้งเมื่อรัฐบาล คสช.ลงจากอำนาจเมื่อวางแนวทางตามโรดแมปแล้วเสร็จ ความขัดแย้งไม่มีทางที่จะสงบลงได้โดยง่าย

ความสงบในช่วงนี้จะเป็นเพียงชั่วคราว...เพื่อรอวันประทุอีกครั้ง นอกเสียจาก เหตุแห่งปัจจัยเปลี่ยนแปลงไป

โดย: เปลวไฟน้อย 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook