ปรองดองไม่ใช่เพียงคุยกัน แล้วบอกให้เลิกรา...
กระแสปรองดองกลับมาเป็นประเด็นร้อนทางสังคมอีกครั้ง หลังมีข้อเสนอของสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช.เปิดเจรจากับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และ คู่ขัดแย้งอื่นๆ เพื่อหาทางให้สังคมกลับไปสู่ความปรองดองในอนาคต
แต่วานนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ตอบปฏิเสธไปแล้ว โดยให้เหตุผลในทำนองที่ว่า ไม่สามารถทำได้เพราะเป็นข้าราชการ ขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณ มีคดีติดตัวอยู่ อาจจะผิดกฎหมาย และหากจะเข้าสู่การเจรจาก็ต้องให้ พ.ต.ท.ทักษิณ กลับมายอมรับผลของคดีความก่อน....กลับมาสู่กระบวนการของกฎหมายก่อน
การปฏิเสธของ พล.อ.ประยุทธ์ ทำให้ชัดเจนว่า จะไม่มีการประนีประนอม พร้อมเดินหน้าตามกระบวนการทางกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมต่อไป
จากท่าทีดังกล่าวทำให้บรรดาคอการเมืองมองว่า หนทางการสร้างความปรองดองเป็นไปได้ยาก เพราะต้นเหตุใหญ่แห่งความขัดแย้งทางการเมืองมี พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นตัวหลัก ยิ่งมีข่าวปรากฏชัดว่า การเดินหน้าดำเนินคดีกับ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นน้องสาว เป็นตัวแทนของ พ.ต.ท.ทักษิณ ทั้งทางอาญา และล่าสุดจะมีการฟ้องคดีแพ่งเรียกค่าเสียหายกรณีจำนำข้าวอีกหลายแสนล้านบาท
ทำให้หนทางปรองดองไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในระยะเวลาสั้น หรือ ปานกลางนี้ ทำให้มีการคาดการณและจับตากระแสความร้อนแรงทางการเมืองที่จะตามมาหลังจากนี้ เพราะตามหนทางนี้ ตระกูลชินวัตรไม่ได้ประโยชน์ใดๆ ดังนั้นอาจจะต้องมีการเดินเกมทางการเมืองกันอีกเมื่อจังหวะและโอกาสเปิด
อย่างไรก็ตาม ในอีกด้านหนึ่ง การโยนขอเสนอของสปช.ที่ต้องการให้หัวหน้าคสช.ไปเจรจากับอดีตนายกฯทักษิณ หากมีการเจรจากันจริง ก็ใช่ว่าจะมีคนเห็นด้วยทั้งหมด และจะเป็นการสร้างความไม่ไว้วางใจกับรัฐบาลปัจจุบันมากขึ้น จนอาจเป็นกระแสต่อต้านในวันข้างหน้าได้
แล้วสถานการณ์ของการเมืองไทย ไม่มีโอกาสที่จะกลับมาสู่ความสงบ สมานฉันท์ หรือหนทางแห่งการปรองดองของคนในชาติได้เลยหรือ.....?
ก็ต้องยอมรับว่ามี แต่ก็ยาก และต้องใช้เวลาในการสร้างความยอมรับ และสร้างแนวทางที่ถูกต้องให้เกิดขึ้น เพราะจะว่าไปแล้ว จากบทเรียนของหลายประเทศที่เกิดความขัดแย้งทางการเมืองที่ลงลึกอย่างเช่น แอฟริกา กว่าจะสามารถหาหนทางเพื่อนำไปสู่ความปรองดองได้ต้องใช้เวลานาน
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น สิ่งที่เชื่อกันว่า การปรองดองจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ...ผู้กระทำผิด....ต้องยอมรับว่าการกระทำของตนนั้นเป็นความผิด สำนึกในความผิดเสียก่อน...สังคมจึงพร้อมที่จะให้อภัย และนำหนทางแห่งการสร้างแนวทางอยู่รวมกันใหม่อย่างสันติได้
หากผู้กระทำผิด ไม่ยอมรับว่าสิ่งที่ได้กระทำลงไปเป็นความผิด โอกาสที่จะเกิดการปรองดองเป็นไปไม่ได้...เพราะต่อไปข้างหน้า ผู้กระทำผิดย่อมกระทำผิดขึ้นมาได้อีก...หากเห็นว่าตัวเองจะเสียสถานะ เสียประโยชน์ของตัวเอง...ด้วยเหตุว่า ตัวเองไม่เคยสำนึกเลยว่า....ในอดีตการกระทำใดๆ ของตัวเองเป็นความผิดเลย
ดังนั้น แนวทางที่เสนอให้มีการพูดคุยกันของสปช. แม้จะเป็นหนทางหนึ่งในการก้าวไปสู่การปรองดองได้ แต่โดยหลักการที่จะต้อง ให้ผู้กระทำผิดผ่านกระบวนการตามหลัก ตามกฎหมายตามกระบวนการยุติธรรม เพื่อจะได้สำนึกผิดแห่งผลของการกระทำ เป็นบทเรียนที่จะไม่กระทำอีกในอนาคตเป็นสิ่งจำเป็นยิ่ง การปรองดองไม่อาจเกิดขึ้นได้เพียงเพราะการพูดคุยกันแล้วบอกว่า....ที่ผ่านมาขอให้เลิกรากันไป...
...โดย เปลวไฟน้อย