จักรยาน : ลูกเมียน้อยในตำนานบนถนนเมืองไทย

จักรยาน : ลูกเมียน้อยในตำนานบนถนนเมืองไทย

จักรยาน : ลูกเมียน้อยในตำนานบนถนนเมืองไทย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ข่าวนักปั่นจักรยานชาวชิลีที่หวังทำลายสถิติโลก แต่กลับต้องมาจบชีวิตบนถนนเมืองไทย เหตุการณ์ลักษณะนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก และคงจะไม่ใช่ครั้งสุดท้าย เพราะลึกๆ แล้วทางแก้ปัญหามันไม่ได้อยู่ที่เลนจักรยาน หากแต่เป็น "ทัศนคติ" ที่ผู้ขับขี่รถยนต์มีต่อเพื่อนร่วมทาง และมันอาจจะเป็นมรดกทางความคิด นับตั้งแต่สยามประเทศเริ่มมีถนน

ย้อนกลับไปในยุคแรกมีรถถีบในสยาม เริ่มต้นด้วยการนำเข้าจักรยาน 200 คันในพระนคร เมื่อเวลาผ่านไป จักรยานก็เริ่มแพร่หลายในหมู่ชนชั้นนำ พ่อค้า และกลุ่มคนทั่วไปในที่สุด ดังประโยคที่ว่า "ฝรั่งทำ เจ๊กขาย ไทยถีบ" จักรยานกลายเป็นพาหนะหลักๆ ของชาวไทย ควบคู่ไปกับรถรางในสมัยนั้น

แล้วก็ถึงวันที่ชนชั้นนำในพระนครนำรถยนต์มาใช้บนท้องถนน มันกลายเป็นสัญลักษณ์ของความมั่งมี สะดวกสบาย และหน้าตาทางสังคม เฉกเช่นที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นความหมายของจักรยาน ท้องถนนที่เคยเต็มไปด้วยยานพาหนะสองล้อเริ่มถูกแทนที่ด้วยรถยนต์ส่วนบุคคล

เมื่อมีรถยนต์มากขึ้น ก็มีการตัดถนนสายใหม่ๆ ขึ้นมารองรับ จึงอาจกล่าวได้ว่ารถยนต์กับถนนคือสิ่งที่เกิดมาคู่กันแต่แรกเริ่ม ซึ่งก็อาจจะเป็นมรดกตกทอดทางความคิดผ่านยุคสมัยมาจนถึงปัจจุบัน ดังที่เราจะเห็นได้ว่าผู้ขับขี่รถยนต์มักจะอ้างความเป็นเจ้าของท้องถนนอยู่เสมอ แม้จะไม่ได้พูดออกมาตรงๆ แต่ก็พออ่านออกจากพฤติกรรม

ส่วนจักรยานก็กลายเป็นพาหนะเชยๆ ไปในที่สุด มันไม่ตอบโจทย์ของผู้คนในยุคใหม่ (ในสมัยนั้น) เดินทางได้ไม่ไกล ไม่สะดวก เพราะต้องใช้แรงปั่นจากสองขา หมดบารมีที่เคยเป็นของใช้โก้เก๋ของผู้มีอันจะกิน

วันเวลาผ่านไป มนุษยชาติเริ่มตระหนักว่ารถยนต์ไม่ใช่คำตอบ เพราะมันนำมาซึ่งปัญหาสิ่งแวดล้อม พลังงาน และที่สำคัญ ความสะดวกสบายที่ได้มาจากการเดินทางที่รวดเร็วขึ้นโดยแทบไม่ต้องเคลื่อนไหวร่างกาย กลายเป็นภัยคุกคามมนุษย์ในรูปแบบใหม่ นั่นก็คือความอ้วน และนำไปสู่อีกหลายๆ โรค

ปัจจัยเหล่านั้นเป็นใจให้กระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและพลังงาน รวมทั้งการใส่ใจสุขภาพ มาพบกันโดยไม่ได้นัดหมาย เมื่อนั้นเองที่คนไทยหวนระลึกถึง "จักรยาน" พาหนะที่ต้องใช้แรงกายในการขับเคลื่อน ไม่ต้องกังวลเรื่องราคาน้ำมัน และการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

ดูเหมือนว่าการกลับมาของจักรยานจะไม่ได้ราบรื่นเหมือนครั้งแรกมีรถถีบ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่พอเข้าใจได้ เพราะถนนในวันนี้มีทั้งรถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์ รถเมล์ รถแท็กซี่ ยังไม่นับซาเล้ง รถตุ๊กตุ๊ก และยานพาหนะต่อพ่วงอีกสารพัด ในขณะที่สมัยก่อนมีแค่รถรางกับรถลาก หนึ่งในธุรกิจยอดนิยมของชาวจีน อันเป็นที่มาของคำว่า "เจ๊กลากรถ"

เมื่อเป็นเช่นนี้ จักรยานในยุคใหม่จึงต้องมาพร้อมกับการจัดระเบียบ เพื่อให้ยานพาหนะทุกประเภทอยู่ด้วยกันได้อย่างสันติบนท้องถนนที่มีอยู่อย่างจำกัด อย่างน้อยก็ในทางทฤษฏี

ทว่าในทางปฏิบัติ จักรยานกลับมีสภาพไม่ต่างอะไรจากยานพาหนะแปลกหน้าบนท้องถนน พูดง่ายๆ คือจักรยานบนท้องถนนในวันนี้ก็เหมือนกับ "ลูกเมียน้อย" ที่มาขออาศัยอยู่ภายใต้ชายคาเดียวกับ "ลูกเมียหลวง" อย่างรถยนต์ แม้จะเกิดก่อน แต่ก็ใช่ว่าจะได้รับสิทธิเท่าเทียม เพราะบ้านหลังนี้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อรองรับความเจริญวัยของลูกเมียหลวง

มันอาจจะไม่มีข้อพิสูจน์ที่ชัดเจนว่ามันเป็นผลพวงจากประวัติศาสตร์ แต่ที่แน่ๆ ผู้ขับขี่รถยนต์หลายๆ คนต่างก็มองจักรยานเป็นของใหม่ที่เข้ามาแย่งชิงพื้นที่ท้องถนนอันจำกัด และที่ร้ายไปกว่านั้น พวกเขายังเชื่อว่าตัวเองเป็นเจ้าของถนนหนทางแต่เพียงผู้เดียว

การคุกคามนักปั่นในหลายๆ ครั้งมักถูกอ้างด้วยคำว่า "มองไม่เห็น" ตราบใดที่คนขับรถยนต์ไม่ได้ตาบอด คำว่า "มองไม่เห็น" คือข้ออ้างที่ไร้ความหมาย เนื่องจากเหตุผลที่แท้จริงคือ "ไม่อยู่ในสายตา" เพราะมีหัวใจที่มืดบอด

เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับเลนจักรยานหรือการจัดระเบียบ มันอยู่ที่มโนสำนึกล้วนๆ เพราะถนนของไทยไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง ตราบใดที่ยังสร้างสำนึกแห่งการแบ่งปันพื้นที่ให้กับเพื่อนร่วมทางไม่ได้ โศกนาฏกรรมนี้จะไม่ใช่ครั้งสุดท้ายแน่นอน ต่อให้มีเลนจักรยานครอบคลุมทั่วประเทศก็ตาม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook