ความจริง! การต่อสู้กับคดีสั่งปราบม็อบ นปช.
การที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่แจ้งข้อกล่าวหา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และ พระสุเทพฯ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ว่ามีพฤติการณ์ส่อกระทำต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ กรณีสลายการชุมนุมของ นปช.ระหว่างวันที่ 10 เมษายน ถึง 19 พฤษภาคม 2553 และเป็นเหตุ ให้ถอดถอนผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองออกจากตำแหน่งได้
โดยล่าสุด ทาง ป.ป.ช. จะแจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองมารับทราบข้อกล่าวหา และมาชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาในสัปดาห์หน้า
นับว่าเป็นเรื่องที่ดี ที่ ป.ป.ช.ตั้งข้อหาตามที่มีผู้ร้อง เพราะจะได้เปิดโอกาสให้มีการชี้แจงข้อเท็จจริง กันให้ชัดเจนอีกครั้งหนึ่ง เรื่องการกล่าวหานายอภิสิทธิ์ และพระสุเทพว่า เป็นผู้สั่งการให้สลายการชุมนุมของกลุ่มนปช. ที่จริงมีการฟ้องร้องต่อศาลอาญาไปด้วย ซึ่งศาลอาญา ได้วินิจฉัยไปแล้วว่า
นายอภิสิทธิ์ และ พระสุเทพ ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ และมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ทหารใช้อาวุธและกระสุนปืนจริง จนมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต แต่ก็เป็นผลสืบเนื่อง มาจากการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรี คดีอยู่ในอำนาจหน้าที่ของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่จะวินิจฉัย ศาลอาญาจึงไม่มีอำนาจ ซึ่งหาก ป.ป.ช. พิจารณาสำนวนคดีแล้วชี้มูลว่ามีความผิด ก็จะต้องส่งให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองวินิจฉัยต่อไป
สำหรับฟ้องร้องครั้งนั้นเป็นการกล่าวหาของกลุ่มพรรคเพื่อไทยและ นปช. ที่ฟ้องร้องกล่าวหานายอภิสิทธิ์ และ พระสุเทพ ผ่านกระบวนการ โดยมีอดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือ ดีเอสไอ ในยุค นายธาริต เพ็งดิษฐ์ เป็นอธิบดี เป็นผู้ขานรับ ทั้งๆที่ในกระบวนการต่างๆของการคลีคลายวิกฤตสถานการณ์การเมืองในขณะนั้น นายธาริต เป็นหนึ่งในคณะกรรมการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) อยู่ด้วย
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการพิจารณา ป.ป.ช.ซึ่งจะเกี่ยวพันกับการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วยนั้น เป็นอีกกรณีแยกต่างหาก จากการกล่าวหาในทางอาญา ซึ่งผลของคดี หากป.ป.ช.ไต่สวนรับฟังข้อกล่าวหา แล้วเห็นว่ามีความผิดตามข้อกล่าวหาก็ต้องส่งไปยัง สนช.เพื่อถอดถอนเหมือนกับกระบวนการกรณีการถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กรณีโครงการรับจำนำข้าวด้วย
สำหรับการไต่สวนรับฟังการแก้ข้อกล่าวหาในชั้นของ ป.ป.ช. เชื่อว่า คงใช้เวลาไม่นาน เพราะ ตามกระบวนการที่นายอภิสิทธิ์ที่ต้องต่อสู้คดีในทางอาญา อยู่แล้วนั้น มีการเตรียมพร้อมสำหรับการต่อสู้คดีอยู่พอสมควร และที่สำคัญก็คือ ข้อเท็จจริง ของสถานการณ์ที่เกิดในขณะนั้นจะเป็นตัวบอกเล่า และต่อสู้ข้อกล่าวหาต่างๆได้
และล่าสุดทางพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้ให้สัมภาษณ์สื่อว่า พร้อมจะเป็นพยานให้ตามที่นายอภิสิทธิได้กล่าวถึงว่าเป็นผู้หนึ่งที่ทราบข้อเท็จจริงดี
การต่อสู้ในเรื่องนี้ มีข้อสังเกตว่า นายอภิสิทธิ์ ค่อนข้างมั่นใจในการแก้ข้อกล่าวหาอยู่พอสมควร อาจด้วยความเชื่อมั่นต่อกระบวนการ และข้อเท็จจริง ของสถานการณ์ ที่เชื่อว่า หลายๆคนก็คงจำเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ดี ว่ามีการใช้อาวุธของใครอย่างไร เพราะสื่อเองได้เผยแพร่ ถ่ายภาพ บันทึกไว้จำนวนมาก ซึ่งคดีนี้จะออกมาในรูปแบบใดก็คงต้องติดตามกันต่อไป
แต่เชื่อได้ว่า หากผลออกมาไม่เป็นตามที่กลุ่มนปช. และพรรคเพื่อไทยต้องการ วาทกรรม สองมาตรฐาน ไม่เป็นธรรม จะถูกปลุกกระแสขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง แต่จะสร้างแรงกระเพื่อมได้มากน้อยแค่ไหนในสถานการณ์ในปัจจุบัน..เชื่อว่าคงไม่กระเพื่อมมากนัก แต่ การกระพือกระแสก็คงไม่ได้หวังผลในระยะสั้นที่ คสช.บริหารประเทศอยู่ในขณะนี้ แต่คงเป็นการปูกระแสระยะยาวสำหรับการต่อสู้ทางการเมืองในอนาคตมากกว่า
...โดย เปลวไฟน้อย