อ.เจษฎา เผยลูกไฟปริศนาตกจากฟ้า ที่แท้คือแสงจากดาวเทียม
จากเหตุการณ์ที่ทำให้คนฮือฮากับปรากฎการณ์เมื่อช่วงค่ำที่ผ่านมา (2 มี.ค.) ในโลกออนไลน์ต่างวิพากษ์วิจารณ์ถึงปรากฏการณ์ประหลาดแสงวูบวาบเป็นทางยาวคล้ายกับดาวตกโผล่เหนือท้องฟ้าเมืองไทย ซึ่งเป็นภาพที่ปรากฏให้เห็นเพียง 3-4 วินาทีเท่านั้น
หลังจากนั้นกระแสเริ่มเป็นที่ฮือฮา มีคนเห็นและไม่เห็น รวมทั้งเชื่อและไม่เชื่อ กระทั่งมีผู้โพสต์ภาพของลูกไฟดังกล่าวได้เป็นภาพจากกล้องหน้ารถ
ล่าสุดวันนี้ (3 มี.ค.) อ.เจษฎา เด่นดวงบริพัตร อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ภาพและข้อมูลถึงเหตุการณ์ลูกไฟปริศนาที่คนฮือฮา โดยระบุว่าแท้จริงแล้วเป็นแสงวาบจากดาวเทียม ซึ่งมีข้อความบางช่วงบางตอนดังนี้
"แสงสว่างบนฟ้า 2 ทุ่มเมิ่อคืน ไม่ใช่ดาวตก ไม่ใช่ยูเอฟโอ แต่เป็นแสงวาบจากดาวเทียมครับ"
แสงวาบนี้จริงๆ เรียกว่า "อิริเดียมแฟลร์" (Iridium flare) เป็นแสงของดวงอาทิตย์ที่สะท้อน "วาบ" จากดาวเทียมสื่อสารของสหรัฐอเมริกาที่ชื่อ "อิริเดียม" ซึ่งโคจรอยู่รอบโลก 66 ดวง เมื่อคืนเป็นของดวงที่ 30 ซึ่งสามารถคำนวณได้ล่วงหน้าว่าจะเกิดเมื่อไหร่
อิริเดียมแฟล์ มักจะเห็นเป็นแสงกะพริบ เคลื่อนที่เป็นเส้นตรง และค่อยๆ สว่างขึ้น แล้ววูบดับไปในเวลาเพียง 2-3 วินาที อิริเดียมแฟลร์ อาจมีความสว่างมากพอๆ กับความสว่างของดวงจันทร์ครึ่งดวงเลยทีเดียว
ขณะที่มันก็มักจะเปลี่ยนแปลงความสว่างได้อย่างรวดเร็ว จากที่มองไม่เห็นกลายเป็นสว่างมากในไม่กี่วินาที อย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์นี้จะมีให้เห็นอีกแค่ 10-20 ปีเพราะกดาวเทียมพวกนี้จะหมดอายุการใช้งาน
คำแถลงจากสมาคมดาราศาสตร์แห่งประเทศไทย
จันทร์, 2 มีนาคม
เวลาหัวค่ำ ผู้สังเกตในกรุงเทพฯ มีโอกาสเห็นการสว่างวาบของดาวเทียมอิริเดียม ซึ่งเกิดจากสายอากาศทำมุมสะท้อนแสงอาทิตย์ ดาวเทียมอิริเดียมมีหลายดวง ครั้งนี้เกิดจากดาวเทียมอิริเดียม 30 สว่างที่สุดในเวลาประมาณ 19:53 น. บนท้องฟ้าทิศใต้ มุมเงย 36° (ปรากฏการณ์นี้เห็นได้เฉพาะที่ การสังเกตในสถานที่อื่นนอกจากกรุงเทพฯ ค้นได้จาก www.heavens-above.com)
หลักๆ คือ iridium flare มันคำนวณเวลา สถานที่ และมุมเงยได้ครับ ซึ่งของเมื่อคืน (รวมถึงในคลิปนั้น) ก็ตรงพอดี ... แล้วลักษณะของมันนั้นจะเกิดสว่างขึ้นแล้วหายไป ขณะที่ถ้าเป็นดวงตก มาจะสว่างยาวลงไปจนถึงพื้นดินครับ ... ขณะเดียวกัน เท่าที่ทราบ ก็ไม่ได้มีรายงานทางดาราศาสตร์ ถึงการพบดาวตกแต่อย่างไรครับ