"ย่อยยับ" หรือ "ยั่งยืน" ทางสองแพร่งของเกาะตาชัย

"ย่อยยับ" หรือ "ยั่งยืน" ทางสองแพร่งของเกาะตาชัย

"ย่อยยับ" หรือ "ยั่งยืน" ทางสองแพร่งของเกาะตาชัย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

จากภาพชายหาดเกาะตาชัยในมุมสูง เผยให้เห็นสุสานปะการังใต้น้ำทะเลในวันที่คลื่นลมสงบ บอกให้เรารู้ว่าธรรมชาติกำลังถูกทำลายอย่างย่อยยับด้วยฝีมือของมนุษย์ และในไม่ช้านี้ เกาะตาชัยที่เคยเป็นหนึ่งในแหล่งทรัพยากรทางทะเลอันอุดมสมบูรณ์ อาจจะเหลือเพียงชื่อ และมีชีวิตอยู่ในภาพถ่ายให้คนรุ่นหลังได้ดูเท่านั้น

"เกาะตาชัย" เป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวผู้หลงใหลหาดทราย สายลม และแสงแดด ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ก่อนที่ภาพถ่ายมุมสูงจากช่างภาพชื่อดังเปิดเผยให้รู้ว่า การเปิดรับนักท่องเที่ยวนับพันคนต่อวันนั้น "มากเกินไป" สำหรับเกาะตาชัย อุทยานแห่งชาติที่รองรับนักท่องเที่ยวได้เพียง 60 คนต่อวัน ซึ่งเป็นข้อมูลตามแผนแม่บทที่จัดทำโดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

คุณค่าของเกาะตาชัยไม่ใช่เพียงความสวยงามของหาดทรายและปะการังน้ำตื้นเท่านั้น สำหรับผู้ที่ศึกษาด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เกาะตาชัยคือแหล่งศึกษาทางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่ง เต็มไปด้วยความหลากหลายของสัตว์ทะเล สัตว์บก และสัตว์หน้าดิน คงไม่แปลกนักหากคนเหล่านี้จะออกมาเรียกร้องให้สังคมหันมาใส่ใจกับปัญหาของเกาะตาชัย

หนึ่งในกลุ่มคนที่ออกมาเป็นปากเสียงให้กับธรรมชาติคือ "ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์" นักวิชาการด้านทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลที่ผลักดันทั้งในระดับนโยบายและลงพื้นที่ด้วยตัวเองมาตลอด

"เกาะตาชัย มีแนวปะการังน้ำตื้นยาว 2 - 3 กิโลเมตร เป็นแหล่งศึกษาวิจัยทรัพยากรชายฝั่งทะเลที่อุดมสมบูรณ์ เป้าหมายของอุทยานแห่งชาติ คือการเก็บธรรมชาติที่งดงามเอาไว้ให้กับคนรุ่นหลังได้ชื่นชม ดังนั้น ถ้าการท่องเที่ยวทำให้เกิดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม ก็ต้องเลือกสิ่งแวดล้อมไว้ก่อน" ดร.ธรณ์อธิบายเพื่อแสดงจุดยืน

สำหรับประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์อย่างประเทศไทย ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าทุกจุดมุ่งหมายของนักท่องเที่ยวคือแหล่งรายได้ คำถามคือ ทำไมเมืองท่องเที่ยวของเราต้องเดินมาถึงจุดที่ต้องเลือกระหว่าง "การท่องเที่ยว" กับ "สิ่งแวดล้อม" ทั้งๆ ที่เราสามารถทำให้การท่องเที่ยวกับการอนุรักษ์เป็นเรื่องเดียวกันได้

ดร.ธรณ์ ได้ให้ทัศนะในเรื่องนี้เอาไว้อย่างน่าสนใจว่า ปัญหาไม่ได้อยู่ที่การโปรโมทเกาะตาชัยเป็นสถานที่ท่องเที่ยว หากแต่อยู่ที่การจัดการของผู้เกี่ยวข้องในพื้นที่

"ผมไม่ได้ต่อต้านการท่องเที่ยว แต่เรียกร้องให้มีการจัดระเบียบทั้งหมด ไม่ใช่เกาะตาชัยที่เดียวด้วยนะ เพราะอุทยานแห่งชาติทางทะเลทั่วประเทศจะเป็นเหมือนกันหมด ผมเรียกร้องให้ทุกกิจกรรมที่เกิดขึ้นในพื้นที่อุทยานต้องสามารถเปิดเผยได้ มีความโปร่งใส เป็นระบบ ชัดเจน สอดคล้องกับแผนแม่บท ไม่ใช่เป็นอย่างทุกวันนี้ที่การจัดการทุกอย่างเละเทะไปหมด"

"การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์", "การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน" คือตัวอย่างของวาทกรรมร่วมสมัยที่มักจะถูกหยิบยกขึ้นมาพูดในเวทีระดับประเทศ หลายต่อหลายครั้งที่เราได้ยินแนวคิดแบบนี้จนชินชา และเราอาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันหมายถึงอะไร และตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมของมันคืออะไร

หลายๆ ตัวอย่างก่อนหน้านี้ล้วนแสดงให้เห็นความล้มเหลวในการจัดการระบบการท่องเที่ยว การสั่งสมความงามของธรรมชาติที่ใช้เวลายาวนานหลายชั่วอายุคน กลับถูกทำลายอย่างย่อยยับในเวลาไม่กี่ปี หลังจากที่มันกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม จนมีคนหลายกลุ่มเข้ามาตักตวงผลประโยชน์ ความงดงามที่ธรรมชาติบรรจงรังสรรค์ขึ้นกลายเป็นอดีตไปในที่สุด

ธรรมชาติฟ้องร้องเอาผิดใครไม่ได้เมื่อมันถูกเอารัดเอาเปรียบ ถึงแม้ว่าในทางทฤษฎี อุทยานแห่งชาติทุกแห่งจะมีแผนแม่บทเป็นเครื่องมือในการคุ้มครองดูแลให้มีความอุดมสมบูรณ์สืบไปชั่วลูกชั่วหลาน แต่ในทางปฏิบัติแผนแม่บทคือเศษกระดาษที่ไร้ความหมาย

ดร.ธรณ์ ได้อธิบายถึงความสำคัญของแผนแม่บทเอาไว้ว่า "ในแผนแม่บทจะมีรายละเอียดชัดเจนว่าบนเกาะควรจะมีคนไม่เกินกี่คน ซึ่งมันไม่ได้เกิดขึ้นมาลอยๆ แต่ผ่านการลงมือค้นคว้าวิจัย ศึกษาผลกระทบโดยนักวิชาการด้านทรัพยากรชายฝั่งทะเล แผนแม่บทปึกใหญ่มากนะครับ ไม่ได้มีสามแผ่น รายละเอียดมันเยอะ นักวิชาการทำกันมาเป็นปีๆ ถ้าไม่ทำตามแล้วจะมีแผนแม่บทไปทำไม"

ถึงจุดนี้ ไม่แน่ใจว่าเรายังทำให้การท่องเที่ยวกับการอนุรักษ์เป็นเรื่องเดียวกันได้หรือไม่ ถ้าเรายังโชคดีพอ มันคงไม่สายเกินไปหากจะกลับมาทบทวนกันอย่างจริงจังอีกครั้ง ว่าเรากำลังสร้างการท่องเที่ยวให้มีความยั่งยืนจริงหรือ? หรือมันเป็นเพียงแนวคิดที่ไม่มีวันเกิดขึ้นได้จริง?

อย่าลืมว่าในวันที่ธรรมชาติเอาคืน คนที่รับกรรมก็ไม่ใช่ใครที่ไหน หากแต่เป็นมนุษย์ตาดำๆ ที่เคยนิ่งดูดายมาก่อน และใช่ว่าเราจะไม่เคยมีบทเรียนกันมาก่อน

"การท่องเที่ยวจะนำรายได้มาให้เราได้นานแค่ไหนกัน ถ้าไม่มีทรัพยากร ในทางทฤษฏี เราพูดถึงการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน การก่อรายได้ในระยะยาวที่สามารถอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กันได้ แต่สิ่งที่ทำกันในวันนี้มันตรงกันข้าม ถ้าไม่มีทรัพยากร เราจะแข่งกับใครไม่ได้เลยในประชาคมอาเซียน" ดร.ธรณ์สรุปทิ้งท้าย

ความงดงามของธรรมชาติไม่ควรจะเป็นอดีตที่มีชีวิตอยู่แค่ในภาพถ่าย สำหรับวันนี้ที่แนวปะการังที่เคยอุดมสมบูรณ์ถูกทำลายไปมากกว่า 1 ใน 4 ลองถามตัวเองดูให้ดี เราจะทำได้แค่นับถอยหลังให้ถึงวันที่มันถูกทำลายจนหมดสิ้น แล้วรอฟังคำสั่งเสียจากธรรมชาติเท่านั้นหรือ?

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook