จะหารายได้เพิ่ม ขอทบทวนภาษีนิติบุคคล และ เงินนำส่งรสก.ดีไหม ?

จะหารายได้เพิ่ม ขอทบทวนภาษีนิติบุคคล และ เงินนำส่งรสก.ดีไหม ?

จะหารายได้เพิ่ม ขอทบทวนภาษีนิติบุคคล และ เงินนำส่งรสก.ดีไหม ?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ประเด็นนโยบาย ภาษีบ้าน หรือ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง กำลังเป็นประเด็นร้อน ที่ถูกจับตาและมีการวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมจำนวนมาก โดยกระแสคัดค้านไม่เห็นด้วยจากชนชั้นกลางค่อนข้างหนาหู รวมไปถึงบรรดาภาคธุรกิจที่ไม่ตอบรับนโยบายภาษีนี้ เนื่องจากเห็นว่าเป็นการใช้นโยบายที่ไม่ถูกจังหวะ ในขณะที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว จะส่งผลกระทบต่อรายได้ของประชาชนหรือเป็นภาระต่อประชาชน และอาจส่งผลต่อเศรษฐกิจซบเซาลงไปอีก

ในซีกการเมืองก็เช่นกัน ก่อนหน้านี้นักการเมืองอย่างอดีตรัฐมนตรีช่วยคลังของพรรคประชาธิปัตย์ นายพิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่า นโยบายภาษีที่ดินจะสร้างความเดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้าทีเดียว

ล่าสุดในซีกพรรคเพื่อไทย โดย นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องภาษีบ้านเช่นกัน โดยมุ่งเน้นไปในประเด็นว่าควรจัดเก็บภาษีเมื่อเกิดรายได้ เท่านั้น

พร้อมกับตอบโต้ประเด็นที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ออกมายืนยันว่าจำเป็นต้องปรับปรุงภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพราะรัฐต้องหารายได้เพิ่มเนื่องจาก รัฐบาลก่อนได้สร้างหนี้ไว้จำนวนมาก โดยนายกิตติรัตน์มองว่า เป็นการยกประเด็นมาแบบไม่มีความรู้.......

สิ่งที่น่าสนใจในเรื่องประเด็นภาษี คือรายได้ ที่ยกกันมาน่าสนใจอย่างยิ่ง ในมุมมองของรัฐแน่นอนว่า ฐานรายได้ของรัฐบาลแหล่งที่สำคัญก็คือ การจัดเก็บภาษีต่างๆ การเก็บค่าสัมปทานหรือค่าภาคหลวง และการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจ

หากจะยกประเด็นในเรื่องความจำเป็นต้องหารายได้เพิ่ม เพื่อนำเงินมาพัฒนาประเทศ ก็ถือเป็นความจำเป็น การยกประเด็นว่า รัฐบาลก่อนก่อหนี้ไว้มากจนรัฐบาลปัจจุบันไม่มีเม็ดเงินมาลงทุนก็น่าฟัง ...

ในประเด็นข้อโต้แย้งเรื่องควรจัดเก็บภาษีจากฐานของรายได้ เป็นเหตุผลที่เหมาะสมอย่างยิ่ง ที่รัฐบาลน่าจะนำไปพิจารณาเพื่อทบทวน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม

ทั้งนี้อย่างเสนอ ให้รัฐบาลคิดทบทวนด้วยว่า เหตุที่รายได้ของรัฐบาลไม่เพียงพอสำหรับการนำมาลงทุนพัฒนาประเทศ นอกจากภาระผูกพันที่ก่อมาโดยรัฐบาลก่อนๆหน้าแล้วยังมีปัจจัยอะไรอีกที่ทำให้รัฐบาลสูญเสียรายได้อย่างมีนัยสำคัญ

อย่างที่ยกตัวอย่างไปแล้วว่ารายได้หลักของรัฐบาลนอกจากภาษีแล้วยังมีเรื่องการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจเป็นแหล่งสำคัญอีกด้วย

ในประเด็นภาษี รัฐบาลควรหรือไม่ที่ต้องกลับมาทบทวน นโยบายภาษีในส่วนของภาษีนิติบุคคล เดิมภาษีนิติบุคคลมีอัตราอยู่ที่ 30% แต่ในรัฐบาลของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และต่อเนื่องมาในยุครัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ปรับลดภาษีนิติบุคคลลงไปจนปัจจุบัน เหลืออัตรา 20% เท่านั้น

ซึ่งในประเด็นนี้แม้หลักการที่อ้างในการลดภาษีเพราะต้องการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนจากต่างประเทศ และแข่งขันกับประเทศในภูมิภาคในการขู่เออีซี แต่ ก็ถูกตั้งข้อสังเกตในเชิงหลักการว่า อัตราภาษีนิติบุคคลไม่ได้เป็นปัจจัยเดียวที่ชักชวนการลงทุน ยังมีเรื่องทรัพยากรต่างๆที่พร้อมจะรองรับการลงทุนอีกมาก การนำอัตราภาษีนิติบุคคลไปเทียบกับสิงคโปร์ที่มีฐานภาษีต่ำ เป็นเรื่องไม่ถูกต้องเพราะ สิงคโปร์ไม่มีทรัพยากรทั้งที่เป็นต้นทุนการผลิตและทรัพยากรมนุษย์รองรับเท่ากับหลายๆประเทศ

การลดภาษีนิติบุคคลจะทำให้รัฐสูญรายได้ทันทีจำนวนมหาศาล แต่การลงทุนเพิ่มจะเกิดขึ้นหรือไม่ไม่อาจพิสูจน์ได้ ถึงวันนี้ คงจะเห็นผลแล้วว่าตรรกะ เรื่องลดภาษีนิติบุคคลลงแล้วจะสร้างฐานภาษีนิติบุคคลจากการลงทุนให้กว้างขึ้นเป็นจริงหรือไม่

วันนี้คงเห็นชัดเจนแล้วว่า นิติบุคคลที่มีกำไรมหาศาลในแต่ละปีได้ประโยชน์จากการลดภาษีนิติบุคคลไปมากน้อยเพียงใด...ถึงเวลาทบทวนเรื่องนี้หรือยัง

ในอีกประเด็นหนึ่งก็คือ การนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจ...กรณีตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดที่รัฐบาลต้องสูญรายได้ไปจำนวนมากจากการนำส่งรายได้เข้ารัฐของรัฐวิสาหกิจก็คือ...ปตท. เดิมปตท.เป็นรัฐวิสาหกิจที่รัฐถือหุ้น 100% แต่ถูกรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นำมาแปรรูปกระจายหุ้นลดสัดส่วนการถือหุ้นโดยกระทรวงการคลังอยู่เพียง 51% เท่านั้น ในขณะการกระจายหุ้นมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าท้ายสุดอยู่ในมือของคนไม่กี่ตระกูลเท่านั้น

ทราบหรือไม่ว่า รายได้และกำไรของปตท.ในแต่ละปี มีจำนวนนับหมื่นนับแสนล้านบาท จากเดิมที่ต้องนำส่งรายได้เข้าคลังเพราะเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมด แต่ปัจจุบัน เม็ดเงินกำไรเหล่านั้นเกือบครึ่งต้องแบ่งไปให้ผู้ถือหุ้นอื่นๆ อันเป็นผลมาจากการแปรรูป ปตท.สมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร

ดังนั้นเรื่องนี้ สมควรหรือไม่ที่รัฐบาลจะทบทวนในนโยบายรัฐวิสาหกิจ โดยเฉพาะกรณี ปตท. หากต้องการหารายได้เพื่อนำมาพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต.....?

...โดย เปลวไฟน้อย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook