ตัวเลขปริศนาคาใจ กรณีอุโมงค์ต้นไม้เมืองน่าน

ตัวเลขปริศนาคาใจ กรณีอุโมงค์ต้นไม้เมืองน่าน

ตัวเลขปริศนาคาใจ กรณีอุโมงค์ต้นไม้เมืองน่าน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หลังจากเกิดกระแสคัดค้านการตัดอุโมงค์ต้นไม้เมืองน่านเพื่อขยายถนนรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน โดยภาพรวมแล้วถือว่าสถานการณ์เป็นไปด้วยความสงบ เพราะจากภาพที่ปรากฏในสื่อ ทั้ง 2 ฝ่ายต่างก็มีวิธีแสดงจุดยืนที่มีลักษณะประนีประนอมมากกว่าจะเอาเป็นเอาตายกับจุดยืนของตัวเอง และล่าสุด แขวงการทางน่านที่ 2 ได้ส่งเทียบเชิญทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมเวทีหาทางออกร่วมกันอีกครั้งในวันพุธที่ 18 มีนาคมนี้

ประเด็นหลักของการพูดคุยในเวทีประชาพิจารณ์ คงหนีไม่พ้นเรื่องการอนุรักษ์และการพัฒนาความเจริญจะไปด้วยกันได้หรือไม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่จะไม่พูดถึงในบทความนี้ เพราะมันเป็นคำถามที่ตอบได้ไม่ยาก ตัวอย่างการพัฒนาที่ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์มีให้เห็นทั่วโลก บวกกับกระแสการเตรียมพร้อมรับมือภัยธรรมชาติ ยิ่งทำให้การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องแรกๆ ที่หน่วยงานภาครัฐของหลายๆ ประเทศจะนึกถึง

คำถามที่เหมาะสมจึงไม่ใช่ "ทำได้หรือไม่?" หากแต่เป็น "อยากจะทำหรือเปล่า?" ต่างหาก ซึ่งต้องให้เครดิตกับกรมทางหลวงที่จัดเวทีหาทางออกร่วมกันอีกครั้ง หลังจากที่หลายๆ ฝ่ายในสังคมเริ่มออกมาโวยวายเพื่อคัดค้านการตัดอุโมงค์ต้นไม้

ประเด็นที่น่าสนใจมากกว่า "ตัด หรือ ไม่ตัด" คือความโปร่งใสของข้อมูลที่หน่วยงานของกรมทางหลวงหยิบยกขึ้นมาชี้แจงผ่านสื่อมวลชนมากกว่า เพราะเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับข้อมูลที่ได้จากการลงพื้นที่ของฝ่ายนักอนุรักษ์แล้ว ต้องบอกว่าเป็นคนละเรื่องเดียวกัน ดังนี้

อุโมงค์ไม้สักความยาว 800 เมตร?

"800 เมตร" คือตัวเลขที่ นายประชาญ มะลิทอง ผู้อำนวยการแขวงการทางน่านที่ 2 ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างๆ เอาไว้ โดยระบุว่าเป็นความยาวของอุโมงค์ต้นไม้ที่กำลังเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง ณ ขณะนี้

จากการลงพื้นที่ร่วมกันระหว่างประชาคมจังหวัดน่านและนายช่างของแขวงการทางน่าน ในวันที่ 14 มีนาคมที่ผ่านมา ระบุว่า ความยาวของอุโมงค์ต้นไม้ที่กำลังเป็นประเด็นจะมีอยู่ทั้งหมด 2 ช่วง แบ่งออกเป็น อุโมงค์ต้นสัก (ผาสิงห์) ซึ่งเป็นช่วงที่ 1 มีความยาวทั้งสิ้น 2.5 กิโลเมตร และช่วงที่ 2 คืออุโมงค์ต้นจามจุรี สัก และประดู่ (ผาสิงห์) ระยะทาง 2.7 กิโลเมตร


แล้ว 800 เมตรมาจากไหน?

ถ้าจะพูดแบบเป็นกลาง อาจจะไม่มีข้อมูลจากฝ่ายไหนถูกหรือผิด หากแต่ต้องปรับมาตรฐานในการวัดให้ตรงกัน เพราะหากไม่ยืนอยู่บนข้อมูลชุดเดียวกัน ก็ยากที่จะหาข้อยุติได้

250 ต้นที่ได้ไปต่อ

ตลอดเส้นทางของโครงการขยายถนน 4 เลนบนเส้นทางหลวงหมายเลข 1080 เต็มไปด้วยต้นไม้นานาชนิด โดยเฉพาะต้นสักและประดู่ ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มไม้หวงห้าม โดยหลักการแล้ว การโค่นล้มควรจะเป็นทางเลือกสุดท้ายสำหรับต้นไม้ที่จัดอยู่ในกลุ่มไม้หวงห้าม

ส่วนทางเลือกอันดับต้นๆ ควรจะเป็น "การล้อมย้าย" หรือก็คือการขุดขึ้นมาปลูกไว้ในแปลงเพาะ เพื่อรอการขนย้ายไปปลูกในทีที่เหมาะสมต่อไป ด้วยวิธีการนี้ เราก็จะได้ทั้งต้นไม้และถนน เป็นทางออกที่ดีกับทุกฝ่าย อย่างไรก็ตาม มันเป็นได้แค่อุดมคติที่เกิดขึ้นได้ยาก โดยเฉพาะในกรณีอุโมงค์ต้นไม้เมืองน่าน

 

เพราะจากข้อมูลที่ ผอ. ประชาญ ให้มา ระบุว่ากรมทางหลวงจะทำการล้อมย้ายต้นสักจำนวนเพียง 250 ต้นเท่านั้น ถึงแม้ว่าในความเป็นจริงจะมีต้นสักจำนวนนับพันต้นตลอดโครงการขยายถนน โดยให้เหตุผลว่ากรมทางหลวงมีงบประมาณมีจำกัด

คำถามที่สำคัญคือทำไมจึงไม่สามารถเก็บต้นสักไว้ได้มากกว่านี้? ทั้งๆ ที่ 250 ต้น คิดเป็น 1 ใน 4 ของจำนวนต้นสักทั้งหมดในบริเวณนั้น และไม่มีคำตอบที่ชัดเจนมากไปกว่า "ไม่มีงบประมาณ" แน่ใจหรือว่านี่คือวิธีปฏิบัติที่ดีสำหรับการจัดการกับต้นไม้ที่อยู่ในกลุ่ม "ไม้หวงห้าม"?

ถ้าไม่มีงบแล้วเพิ่มได้ไหม?...ไม่มีสัญญาณตอบรับจากหมายเลขที่ท่านเรียก และความเงียบก็คงจะเป็นคำตอบว่าจะมีต้นสักเพียง 250 ต้นเท่านั้นที่ได้ไปต่อสำหรับกรณีนี้

ตัดแล้วไปไหน?

ชะตากรรมของต้นสักโชคร้ายที่ไม่ได้ไปต่อ จะเป็นความรับผิดชอบขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) ที่รับลูกต่อจากกรมทางหลวง เพื่อจัดการกับต้นไม้หวงห้ามที่เป็นส่วนเกินจากเงินงบประมาณ ซึ่งคำว่า "จัดการ" ในที่นี้ก็คือคำสุภาพของคำว่า "โค่นล้ม" นั่นเอง

จากการสอบถาม นายวีรชาติ ใจจันทร์ หัวหน้าสวนป่านครน่าน สาขาของ ออป. เขตแพร่ ได้ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้อยู่ในระหว่างการขอใบอนุญาตตัดไม้หวงห้ามในบริเวณดังกล่าว ซึ่งก็จะมีไม้สักและไม้ประดู่ โดยยังไม่สามารถระบุจำนวนได้ เนื่องจากอยู่ในช่วงการคัดเลือก

 

แม้ภาครัฐจะยังไม่มีข้อสรุปอย่างเป็นทางการว่าไม้หวงห้ามที่มีมูลค่าสูงเหล่านี้จะถูกโค่นล้มลงไปกี่ต้น แต่ที่แน่ๆ มีข้อมูลที่ได้มาจากการลงพื้นที่ของประชาคมจังหวัดน่านระบุว่า แค่ระยะทาง 1 กิโลเมตร ตั้งแต่หลักกิโลที่ 383 - 384 ก็มีต้นสัก 193 ต้น ประดู่ 102 ต้น

นอกจากนี้ นายวีรชาติ ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ไม้สักและประดู่ที่ถูกตัดเรียบร้อยแล้ว ทาง ออป. จะนำเข้าสู่ระบบการจัดจำหน่าย โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือขายให้กับข้าราชการและประชาชนในพื้นที่ และจัดการประมูลสำหรับคนนอกพื้นที่ เป็นอันจบกระบวนการในขอบเขตความรับผิดชอบของ ออป.

สาเหตุที่ต้องหยิบประเด็นเหล่านี้ขึ้นมาพูด ก็ไม่ได้มีเจตนาที่จะโจมตีหน่วยงานภาครัฐ หากแต่เห็นความสำคัญของการยืนอยู่บนข้อมูลชุดเดียวกัน ซึ่งจะทำให้หาทางออกร่วมกันได้ง่ายขึ้น และเมื่อมันเป็นการทำประชาพิจารณ์ การให้ข้อมูลที่ถูกต้องตรงตามความเป็นจริง จะช่วยให้เกิดความยุติธรรมกับทุกฝ่ายมากกว่าการบิดเบือน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook