"สุขุมพันธุ์" รับพลาด แต่คือพลาดทั้งประเทศ ปมรับมือน้ำท่วม ไม่คาดฝนจะตกหนักขนาดนี้
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ยอมรับน้ำท่วมเพราะฝนมามากกว่าที่คิด แต่สามารถรับมือได้ เว้นช่วงอโศกที่ไม่ได้พร่องน้ำคลองแสนแสบทำให้ใช้เวลานาน ยืนยัน อุโมงค์ยักษ์ยังทำงานได้ดี พร้อมขอให้เอกชนมอบพื้นที่ให้หลวงเพื่อบริหารจัดการ
(25 มี.ค.) หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยคณะผู้บริหารจัดการน้ำในพื้นที่กทม. แถลงข่าวกับสื่อมวลชน เพื่อชี้แจงกรณีน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่เมื่อวานนี้ ว่า สาเหตุเกิดจากฝนตกนอกฤดู และฝนตกหนักมาก ซึ่งมากถึง 60-70 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง โดยไม่ได้คาดคิดว่าจะตกมากขนาดนี้ ซึ่งกทม.ได้ระบายน้ำในถนนสายหลักได้ใน 1-2 ชั่วโมง เว้นช่วงอโศกที่ต้องใช้เวลาถึง 3 ชั่วโมง เนื่องจากปริมาณน้ำที่มาก บวกกับไม่ได้พร่องน้ำคลองแสนแสบไว้ เพราะต้องสำรองน้ำไว้ใช้ในเหตุการณ์สำคัญอย่างภัยแล้ง
โดย กทม. ยืนยันว่า จะไม่แก้ปัญหาด้วยวิธีพร่องน้ำรอเด็ดขาด จนกว่าจะมั่นใจว่าภัยแล้งผ่านไปแล้ว แต่จะหาวิธีอื่นแทน ส่วนเรื่องพื้นที่ในเขตอุโมงค์ยักษ์ บริเวณพระราม 9 มีน้ำท่วมขังรอระบายนั้น ยืนยันว่า ในเส้นทางรับผิดชอบของอุโมงค์ไม่มีการท่วมขัง ส่วนที่มีประชาชนนำภาพน้ำผุดกลางห้างสรรพสินค้า อยากเรียกร้องให้ผู้บริหารออกมาชี้แจงข้อเท็จจริง เพราะอาคารมีอายุกว่า 30 ปี และกำลังจะครบสัญญาจ้าง รวมทั้งเป็นพื้นที่ของเอกชนทำให้ไม่สามารถเข้าไปบริหารจัดการได้ จึงไม่ใช่ปัญหาของทาง กทม.
เช่นเดียวกับภาพน้ำท่วมที่พระราม 9 ซอย 7 ข้อเท็จจริงคือ พื้นที่นั้นเป็นของเอกชน และเจ้าของยินดีมอบให้ กทม. ซึ่ง กทม. พยายามเข้าไปแก้ไขปรับปรุงตลอดแต่ชาวบ้านไม่ยินยอม จึงอยากขอความร่วมมือเอกชน ไม่ว่าจะ ซอย หรือ อาคาร มอบพื้นที่ให้หลวงบริหารจัดการ
ทั้งนี้จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นยอมรับว่า เกิดจากความผิดพลาด แต่เป็นความผิดพลาดทั้งประเทศที่ไม่รู้ว่าฝนจะตกหนักขนาดนี้ โดยยืนยันว่าหลังเหตุการณ์ครั้งนี้ เจ้าหน้าที่จะมีควาพร้อมรับมือมากกว่านี้ จึงได้เร่งดำเนินการอุโมงค์ยักษ์ จุดที่ 2 ซึ่งอยู่ใต้คลองบางซื่อ ซึ่งการดำเนินการตรงเป้าหมาย และจะเปิดใช้บริการได้ในเดือนกันยายน ปี2559 ส่วนเรื่องฤดูฝน กทม. จะบูรณาการร่วมกับรัฐบาลในการแก้ปัญหา ต้องยอมรับเมืองเราเป็นเมืองน้ำถ้าไม่อยากมีจุดน้ำท่วมต้องไปอาศัยบนดอย
ส่วนที่มีคนถามว่า ตนไปอยู่ไหนในวันที่น้ำท่วมเมื่อวาน ขอชี้แจงว่า หากเกิดเหตุฝนตกหนักกระทันหัน ก็ไม่สามารถไปได้ แต่ถ้าเป็นน้ำขังรอระบายตามหมู่บ้าน ยืนยันจะเดินทางไป ทั้งนี้มองว่า หากยิ่งเดินทางไปที่พระราม 9 เหตุการณ์จะยิ่งหนัก เพราะรถจะติด เจ้าหน้าที่ต้องมาดูแล ส่วนตัวเป็นผู้บังคับบัญชามีหน้าที่บัญชาการ ไม่ใช่ไปลอกคลองเอง ไม่ใช่ไปสร้างภาพ หากจะว่าขอให้ว่าตนเอง แต่อย่าว่าคนกทม.
ด้านนายสัญญา ชีนิมิตร ปลัด กทม. ชี้แจงว่าในช่วงเดือน มีนาคม เป็นช่วงที่ กทม.ได้เตรียมรับมืออยู่แล้ว แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือเครื่องสูบน้ำที่มีอยู่เสื่อมประสิทธิภาพ ประจวบเหมาะกับเป็นช่วงที่ กทม.นำเครื่องสูบน้ำไปซ่อม ซึ่งเดิมทีก็ทำการซ่อมแซมอยู่เป็นประจำ มีสถานีสูบน้ำอยู่166 แห่ง รวม1กว่าพันกว่าเครื่อง ประตูระบาย 217 แห่งบ่อสูบ 180 แห่ง หากฝนตกไม่เกิน 60 มิลลิเมตรต่อชั่วโมงก็จะสามารถรับมือได้