คนภูเก็ตตะลึง! ลูกไฟบนท้องฟ้า ผู้เกี่ยวข้องแจงเป็นชิ้นส่วนจรวดนำส่งดาวเทียม
รายงานข่าวจากจังหวัดภูเก็ตแจ้งว่า เมื่อช่วงค่ำวานนี้ (28 มีนาคม) มีประชาชนและนักท่องเที่ยวจำนวนหนึ่ง พบเห็นปรากฏการณ์ลูกไฟขนาดใหญ่ ตกทะเลด้านทิศตะวันตกของเกาะภูเก็ต และประชาชนแจ้งศูนย์ไข่มุกว่ามีดวงไฟขนาดใหญ่ตกลงในทะเล และคิดว่าเครื่องบินตก อย่างไรก็ดี จากการตรวจสอบ เจ้าหน้าที่ท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ตแจ้งว่าไม่มีปัญหาเครื่องบินตกแต่อย่างใด จึงคาดว่าน่าจะเป็นชิ้นส่วนจรวดนำส่งดาวเทียม ที่มีการแจ้งล่วงหน้าว่าจะตกในเขตทะเลใกล้จังหวัดพังงาในระยะนี้
นายศิลปชัย เชาวลิต ช่างภาพประจำนิตยสาร Phuket Bulletin ซึ่งมีภารกิจในการถ่ายทำพระอาทิตย์ตก ณ เขาหน้ายักษ์ อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา เปิดเผยว่า ตนเองถ่ายภาพพระอาทิตย์ในขณะที่พระอาทิตย์ตก เมื่อเวลา 18.37 น. เวลาผ่านไปประมาณ 15 นาที ก็เกิดปรากฏการณ์ดวงไฟตก ตอนแรกตนรู้สึกตกใจและมึนงง ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น แต่นึกขึ้นได้จึงถ่ายเก็บเอาไว้ก่อนดีกว่า โดยใช้โทรศัพท์มือถือถ่ายเป็นคลิปวิดิโอ ซึ่งตอนมันตกแรกๆ จะวิ่งเร็วมาก ตกเป็นทางซิกแซกฟันปลา มีแสงสว่างมาก เนื่องจากพระอาทิตย์ตกไปแล้ว ตอนถ่ายนั้นมันเป็นแค่แสงสว่างที่ยังค้างอยู่
รายงานข่าวแจ้งว่า ก่อนหน้านี้สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ GISTDA ระบุว่า องค์การวิจัยอวกาศอินเดีย (ISRO) ได้ประกาศแจ้งกำหนดการส่งดาวเทียมสำรวจดาวอังคารดวงแรกของประเทศขึ้นสู่อวกาศ โดยใช้จรวดนำส่ง PSLV-C27 จากศูนย์อวกาศสตีศธวัน (Satish Dhawan Space Centre SHAR) บนเกาะศรีหริโกฎา สาธารณรัฐอินเดีย ในระหว่างวันที่ 9 มีนาคม - 8 เมษายน 2558 แต่อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงวันที่ได้ตามสภาพอากาศและปัจจัยอื่นๆ โดยวิถีการนำส่งดาวเทียมดวงนี้ จะพาดผ่านน่านฟ้าจากมหาสมุทรอินเดียไปยังมหาสมุทรแปซิฟิก
นอกจากนี้ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ยังจัดทำแผนที่ โดยใช้ข้อมูลที่ได้รับจากรัฐบาลอินเดีย ซึ่งแสดงถึงวิถีพาดผ่าน อ่าวเบงกอล ทะเลอันดามัน และภาคใต้ของประเทศไทย บริเวณจังหวัดพังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง โดยอาจจะมีชิ้นส่วนจากจรวดนำส่งตกลงมายังพื้นโลกจำนวน 7 ชิ้น และคาดว่าชิ้นส่วนชิ้นที่ 6 จะตกใกล้ประเทศไทยมากที่สุด ซึ่งจะตกในทะเลอันดามัน ห่างจากชายฝั่งจังหวัดพังงาประมาณ 260 กิโลเมตร บริเวณเขตเศรษฐกิจจำเพาะของสาธารณรัฐอินเดีย
ดังนั้น จึงขอให้เรือและอากาศยานหลีกเลี่ยงการเข้าไปในพื้นที่ดังกล่าวระหว่างวันที่ 9 มีนาคม - 8 เมษายน 2558 แต่สำหรับพื้นที่บนบกนั้นยังไม่มีความจำเป็นต้องเตรียมการใดๆ เป็นพิเศษ เนื่องจากคาดว่าจะไม่ได้รับผลกระทบใดๆ โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จะติดตามและประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของรัฐบาลอินเดียถึงเวลาการปล่อยจรวดที่แน่นอน รวมถึงรายละเอียดต่างๆ ต่อไป
(ขอบคุณคลิปวิดิโอจาก คุณศิลปชัย เชาวลิต)