อำนาจ ความชอบธรรม และเวลา
การยกเลิกกฎอัยการศึก และประกาศใช้ ม.44 ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มีฐานะเป็นหัวหน้า คสช.ด้วยนั้น เป็นประเด็นร้อนที่มีการติดตามกันมาตลอดสัปดาห์ มีความเห็นออกมามากมายต่อการ นำมาตรา 44 มาใช้ โดยเฉพาะซีกการเมือง ที่แสดงความกังวลอย่างชัดเจนว่า ม.44 จะกระทบกับตัวเอง หรือ กลุ่มตัวเอง
ด้วยความที่อำนาจตามม.44 เป็นอำนาจที่กว้างขวาง ครอบคลุมและเบ็ดเสร็จเด็ดขาด จนมีบางคนยกไปเทียบกับอำนาจตาม ม.17 ในสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในอดีต ซึ่งมีการใช้อำนาจตาม ม.17 จนเป็นที่ขยาดหวาดกลัวกับผู้คนในสังคมมาแล้ว
นอกจากนี้ในซีกของนักวิชาการ ในสายสิทธิมนุษยชน ต่างก็แสดงความกังวลใจเช่นกันว่า การใช้ม.44 จะเกินเลยจนกระทบต่อสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง เช่นเดียวกับรัฐบาลต่างประเทศอย่างเช่นสหรัฐอเมริกา ก็ได้แสดงความกังวลต่อเรื่องดังกล่าวโดยชัดแจ้งผ่าน การแถลงการณ์ของกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งถือเป็นการแสดงออกอย่างเป็นทางการ
อย่างไรก็ตามในอีกด้านหนึ่งมุมหนึ่ง ก็มีความเห็นในทางสนับสนุนการใช้อำนาจ ตาม ม.44 ของนายกรัฐมนตรีในฐานะ หัวหน้าคสช.ด้วยเช่นกัน ด้วยความเชื่อมั่นว่า เป็นการใช้อำนาจที่ดีกว่า กฎอัยการศึก และ เชื่อมั่นว่านายกรัฐมนตรีจะใช้อำนาจตาม ม.44 อย่างสร้างสรรค์ เพื่อสร้างความสงบความมั่นคง เพื่อการเดินหน้าประเทศจะก้าวไปอย่างราบรื่น
อย่างเช่น การแสดงออกของกลุ่มนักธุรกิจโดย นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) ให้ความเห็นในเรื่องดังกล่าวว่า
"การยกเลิกกฎอัยการศึกเป็นสิ่งที่ดี เพราะหากยังมีอยู่ก็จะเป็นอุปสรรคต่อทั้งการท่องเที่ยวและการลงทุน ทั้งนี้เห็นว่า มาตรา 44 มีอยู่เดิมแล้ว ไม่ใช่ว่ารัฐบาลยกเลิกกฎอัยการศึกแล้วไปออกมาตราใหม่ๆมา สำหรับภาคเอกชน มาตรา44 ไม่มีส่วนที่ทำให้เป็นกังวล และคิดว่าหากนายกรัฐมนตรีนำมาตรา44มาใช้ในลักษณะที่เป็นประโยชน์กับเศรษฐกิจโดยรวมก็จะเป็นผลดี เพราะจะสามารถขับเคลื่อนสิ่งต่างๆได้เร็วขึ้น"
ขณะที่นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานหอการค้าไทยได้แสดงความเห็นว่า "จากการสำรวจของหอการค้าไทย และหอการค้าต่างประเทศ เห็นว่าภาคเอกชนตอบรับมาตรา44ดี และรู้สึกสบายใจขึ้น ทั้งนี้มาตรา44ขึ้นอยู่กับประกาศที่ออกมา และอยู่ที่วิธีการใช้ว่าใช้อย่างสร้างสรรค์หรือไม่ โดยทั่วไปคาดว่าการลงทุนจะดีขึ้น และสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนมากขึ้น"
สิ่งที่เกิดขึ้นบอกได้ว่า มีทั้งกลุ่มคนที่เห็นด้วยและ ไม่เห็นด้วย ก็ต้องยอมรับว่าในอดีตที่ผ่านมาสังคมไทยได้เรียนรู้ ได้บทเรียน ผ่านประสบการณ์ของสถานการณ์ การใช้อำนาจอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์มาแล้ว ทำให้ผู้คนที่ศึกษา มีบทเรียนต่างหวาดกลัวการใช้อำนาจโดยไม่มีการคานอำนาจ ต่างเกรงว่าจะเป็นการใช้อำนาจจนหลงในอำนาจ
ไม่ต้องพูดถึงกลุ่มคนที่มีความเห็นทางการเมืองที่ตรงข้ามกับรัฐบาลในขณะนี้ กลุ่มนี้ยอมกังวลใจอย่างยิ่ง เพราะนั้นหมายถึงพวกเขาหวาดเกรงแม้กระทั้งว่าจะไม่สามารถแสดงความคิดเห็นในทางการบ้านการเมืองได้ หากเห็นแย้งกับรัฐบาลในปัจจุบัน
และโดยสถานการณ์แล้วก็ต้องยอมรับว่า ในช่วงการบริหารงานของรัฐบาลคสช. ก็ยังมีกลุ่มการเมืองหรือกลุ่มที่เห็นแย้งและมีการเคลื่อนไหวในลักษณะของการเตรียมใช้ความรุนแรงอยู่ด้วย ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้ย่อมจะกังวลและหวาดกลัวต่อการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดครั้งนี้อย่างแน่นอน
อย่างไรก็ตามในส่วนของนายกรัฐมนตรีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาเองนั้น ได้กล่าวยืนยันถึงการใช้อำนาจตามม.44 ว่า จะเป็นการใช้อำนาจที่สร้างสรรค์ เพื่อคืนความสุขให้กับสังคม และจะเดินหน้าไปสู่ประชาธิปไตยในอนาคตตามโรดแมป ที่ได้วางไว้
ดังนั้นในสถานการณ์ของสังคมไทย ภายใต้การบริหารโดยมี ม.44 เป็นเครื่องมือสำคัญ จึงรอการพิสูจน์ รอความเป็นจริง ของการใช้อำนาจอย่างสร้างสรรค์ ว่าจะเป็นจริงได้มากน้อยเพียงใด เพราะอดีตที่ผ่านมา การใช้อำนาจใดก็ตาม หากไม่ชอบธรรมไม่เป็นธรรมจริงแล้ว อำนาจย่อมเสื่อมลง ผู้คนในสังคมจะไม่ยอมรับอำนาจเหล่านั้นเอง.......
...เปลวไฟน้อย