คนปั่นจักรยานก็มีชีวิต และมีสิทธิที่เท่าเทียม

คนปั่นจักรยานก็มีชีวิต และมีสิทธิที่เท่าเทียม

คนปั่นจักรยานก็มีชีวิต และมีสิทธิที่เท่าเทียม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ข่าวความสูญเสียจากอุบัติเหตุรถยนต์ชนนักปั่นจักรยาน จนเสียชีวิตและบาดเจ็บหลายรายในช่วงวันหยุดยาวที่ผ่านมา เป็นข่าวโด่งดังและมีเหตุการณ์เกิดขึ้นต่อเนื่อง จนทำให้สังคมเกิดความคิดเห็นที่แตกต่างกันว่า ...จักรยานควรปั่นบนท้องถนนหรือไม่..????

มีกระแสในโลกออนไลน์ที่แสดงความเห็น ไม่เห็นด้วยกับการที่ผู้ปั่นจักรยานมาใช้ถนนร่วมกับยานพาหนะชนิดอื่น...มีการแสดงความเห็นหลากหลาย บ้างยกความเห็นของตัวเองบอกว่า ไม่ควรที่จักรยานขึ้นมาปั่นบนถนนหลวง? เป็นสิ่งเกะกะ? เป็นพวกที่ไม่จ่ายภาษีเหมือนกับรถยนต์แต่ขึ้นมาใช้ถนนไม่สมควร? เป็นพวกกร่าง..?

มีบ้างที่ความเห็นเลยเถิดจนถึงขึ้นแสดงความเห็นว่าหากตัวเองมีประกันชั้น1จะชนจักรยานให้หมด...จนเป็นเหตุให้กลุ่มปั่นจักรยานไม่พอใจและเป็นวิวาทะกันในโลกออนไลน์ จนกระทั้งคนที่แสดงความเห็นที่แสดงถึงการขู่จะทำร้ายจักรยาน ต้องถูกร้องเรียนจนต้องถูกให้ออกจากงานไปในที่สุด...

จนถึงวันนี้ความเห็นที่ขัดแย้งว่า...จักรยานควรขึ้นมาปั่นบนถนนหรือไม่...?ยังคงเป็นประเด็นวิวาทะกันในสังคมออนไลน์ และ ออกมาถึงสื่อกระแสหลักบางสำนัก...

คำถามที่เกิดขึ้นนี้...สะท้อนแง่มุมแง่คิดที่น่าสนใจหลายมุม....

คำถามว่าจักรยานมีสิทธิใช้ถนนหรือไม่...แสดงให้เห็นทัศนะมุมมองของคนที่ตั้งคำถามว่า เป็นคนที่มีความเห็นความคิดคับแคบ...มองแต่ตัวเองเป็นใหญ่ สะท้องถึงการแสดงการใช้อำนาจที่เห็นแก่ตัวอย่างชัดเจน

ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจร่วมกันเสียก่อนว่า ถนนหนทางคือทางสาธารณะ ที่ทุกคนมีสิทธิใช้ได้อย่างเท่าเทียมกัน....ถนนหนทางเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานที่รัฐจัดให้เพื่อความสะดวกในการเดินทาง
การสร้างถนนหนทางนำมาจากงบประมาณซึ่งมาจากภาษีที่จัดเก็บจากทุกคน ทั้งภาษีทางตรงและภาษีทางอ้อม

ไม่เคยมีถนนสายไหนในประเทศไทยที่สร้างขึ้นมาจากการจัดเก็บภาษีป้ายรถยนต์เพียงลำพัง....งบประมาณที่รัฐบาลตั้งงบมาจากภาษีของทุกคน....ดังนั้น คนที่อ้างว่าจักรยานไม่มีสิทธิใช้ถนนเพราะไม่เสียภาษีเหมือนรถยนต์ ...จงเข้าใจเสียใหม่...

คนที่ปั่นจักรยานเกือบทุกคนเป็นคนที่มีรายได้และเสียภาษีให้รัฐเหมือนกับคนที่ใช้รถยนต์ทุกคน...และที่สำคัญเชื่อว่า คนปั่นจักรยานส่วนใหญ่ก็มีรถยนต์ส่วนตัวใช้เป็นส่วนมาก นอกเหนือจากใช้จักรยานเป็นพาหนะสำหรับชีวิตประจำวันและ เพื่อการออกกำลังกาย

สำหรับคนที่ใช้รถยนต์และรังเกียจจักรยานอ้างว่าไม่เสียภาษีไม่มีสิทธิใช้ถนน จงเข้าใจเสียอีกด้วยว่า ภาษีรถยนต์หรือภาษีป้ายรถยนต์นั้น มีหลักการอย่างไร? ภาษีป้ายรถยนต์เป็นภาษีสรรพสามิต ซึ่งหลักของภาษี สรรพสามิตก็คือ เป็นภาษีที่เก็บด้วยวัตถุประสงค์ทางสังคมและสิ่งแวดล้อม

การใช้รถยนต์ ต้องใช้พลังงานจากน้ำมัน เมื่อใช้แล้วทำให้เกิดปัญหามลพิษจากการเผาไหม้ จึงจำเป็นต้องเก็บภาษีเพื่อมาดูแลรักษาแก้ไขปัญหา ที่เกิดขึ้น ...ภาษีรถยนต์จึงไม่ได้นำมาสร้างถนนให้กับคนที่ใช้รถยนต์ใช้จำพวกเดียว....

การแสดงความรังเกียจจักรยานบนท้องถนน เป็นการยึดเอาแต่ประโยชน์ตัวเองเป็นหลัก เห็นว่าเป็นพาหนะที่เล็ก น่ารำคาญเกะกะขวางการสัญจร อยากจะเบียดขับพวกนี้ออกไปให้พ้นถนนนั้น คนขับรถยนต์จงตรองใหม่

หากรถยนต์ประเภทที่ใหญ่กว่า เช่นรถบรรทุก รถทัวร์ รถพวง ใช้ทัศนะคติมองรถยนต์นั่งมองมอเตอร์ไซค์ เหมือนกับ ที่รถยนต์นั่งมอง จักรยาน อะไรจะเกิดขึ้น ....?

จริงๆแล้วปัญหาของการใช้ถนนเพื่อความปลอดภัย เป็นสำนึกรวมของคนใช้ถนนทุกคน แม้แต่กระทั้งคนเดินเท้าก็มีสิทธิใช้ถนน ในบางพื้นที่ที่ไม่มีสะพานข้ามถนน เขาจะทำอย่างไรหากจักรยาน รถยนต์ต่างๆเห็นว่าเขาไม่ควรเดินข้ามถนน...?

ถึงวันนี้เราต้องสร้างสำนึกร่วมกันของการใช้ถนน ซึ่งเป็นทางสัญจรสาธารณะอย่างเท่าเทียมกัน และเอื้อเฟื้อต่อกัน คนปั่นจักรยานก็ต้องใช้ถนนด้วยความระมัดระวัง อยู่ในช่องทางซ้ายและไม่ปั่นกันเป็นกลุ่มใหญ่จนปิดกั้นช่องจราจร กีดขวาง การจราจรของรถยนต์

คนใช้รถยนต์ก็ต้องระมัดระวังและมองคนใช้จักรยานว่าเขามีสิทธิที่จะใช้ถนนร่วมกัน ในความเป็นจริงของเมืองไทยที่พยายามรณรงค์ และ เป็นถึงขึ้นนโยบายให้มีการทำช่องทางจักรยานทั่วประเทศแต่ขณะนี้ยังไม่เป็นจริง สำนึกของการใช้ถนนร่วมกัน เคารพสิทธิซึ่งกันและกันเป็นสิ่งที่ต้องสร้างโดยเร็ว เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาจนเกิดความสูญเสียอย่างที่เกิดขึ้นมาอีกเลย........

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook