"แม้ไร้ขีดบนบ่า"แต่หัวใจ "บ่เปลี่ยนแปลง" อดีต "แม่หลวงกุ้ง" สวยที่สุดในประเทศ
เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ เธอสร้างความ "ฮือฮา" ไปทั่วประเทศ กับฉายา "ผู้ใหญ่บ้านที่สวยที่สุดในประเทศไทย"
ในวันนั้น เมื่อข่าวของเธอแพร่สะพัดไปทั่วประเทศ โดยเฉพาะในโลกออนไลน์ที่ชาวเน็ตต่างนำรูปและประวัติส่วนตัวไปแชร์ต่อๆ กัน จึงทำให้ "กุ้ง" สุพัตรวี อยู่แพทย์ ในวัย 35 ปี กลายเป็น "คนดัง" ในชั่วข้ามคืน
"กุ้งไม่เคยเป็นนางงามหรืออะไร ส่วนใครจะบอกว่าเป็นผู้ใหญ่บ้านที่สวยที่สุดในประเทศ ก็ไม่เคยคิดถึงจุดนี้ เพิ่งทราบว่ามีการแชร์ภาพไปทั่วประเทศ ตอนแรกก็ตกใจกับเรื่องที่เกิดขึ้น และรู้สึกแปลก เหมือนกัน มีคนมาทักทายเวลาไปไหนมาไหนจำนวนมาก แต่ตอนนี้เริ่มชิน อาจจะเพราะไม่ค่อยมีคนเห็นผู้ใหญ่บ้านอายุยังน้อย จึงแปลกตาก็เป็นได้ แต่ถึงอย่างนั้น ก็อยากให้มองกุ้งในความสามารถเรื่องงานมากกว่าเรื่องความสวยความงาม" ผู้ใหญ่บ้านคนสวยเปิดใจกับสื่อมวลชน ในวันที่เธอยังอยู่ในตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านหมู่ 6 ต.หนองหอย อ.เมือง จ.เชียงใหม่
ต่อมาเมื่อปลายเดือนเมษายน "แม่หลวงกุ้ง" ก็ยื่นใบลาออก จบชีวิตข้าราชการด้วยอายุงานประมาณ 2 ปี ด้วยปัญหาที่เธอ "ไม่ขอกล่าวถึง"
หากกระแสข่าวก็สะพัดออกมาว่ามาจากปัญหา"การเมืองท้องถิ่น"
วันนี้ เธอ "ปล่อย" คำว่า "แม่หลวง" และ "วาง" เครื่องหมายขีดประดับยศ "บ่าผู้ใหญ่บ้าน" ไม่ยี่หระต่อยศถาบรรดาศักดิ์กลับมาเป็น "ชาวบ้านธรรมดา" ที่อดีตแม่หลวงคนงาม บอกว่า...
"ก่อนหน้าที่จะออกหรือออกแล้ว บ่ได้มีผลกับสภาพจิตใจ เพราะไม่ได้รู้สึกไม่ดีที่ไม่มีตำแหน่ง ไม่ได้รู้สึกแย่ที่ไม่ได้มีขีดบนบ่า ซึ่งกุ้งก็ขอขอบพระคุณ พี่ๆ น้องๆ ทุกท่าน สำหรับกำลังใจที่เข้มแข็ง ไม่ว่าจะมีขีดบนบ่าหรือไม่ งานอาสาต่างๆ กุ้งจะขอทำต่อไป เครื่องแบบก็เป็นเพียงแค่เครื่องแต่งกาย แต่ใจที่ไม่ปรุงแต่งต่างหาก คือ สิ่งสำคัญ" สุพัตรวี เผยความรู้สึกหลังลาออกจากตำแหน่งมาได้เกือบ 2 อาทิตย์
ที่ระบุว่า "บ่ได้มีผลต่อจิตใจ" เพราะจุดเริ่มต้นของการลงสมัครเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้าน แรงบันดาลใจ "บ่ได้" หวังลาภยศสรรเสริญ หากมาจาก "ใจอาสา" ที่อยากทำงานให้หมู่บ้านที่เธออยู่เจริญ
"กุ้งอยู่บ้าน กุ้งว่าคงไม่มีงานไหนมีความสุขที่สุด ถ้าเราได้ทำงานด้วย อยู่ในบ้านด้วย และงานที่ทำเหมือนสนับสนุนให้บ้านเราเจริญขึ้นๆ ทำให้สังคมน่าอยู่ขึ้น พัฒนาให้หมู่บ้านเราให้เป็นสังคมที่ดี และไม่คิดว่าผู้ใหญ่บ้านคือนักการเมือง แต่เล็งเห็นว่า การเป็นผู้ใหญ่บ้านไม่ได้หมายถึงการประกอบอาชีพ แต่เป็นอาสาสมัครอย่างหนึ่ง กุ้งถึงได้ลงไปทำ มองว่าเป็นเรื่องอาสาสมัคร ไม่ได้มองว่าเป็นอาชีพ ไม่ได้มองว่าเป็น นักการเมือง เป็นข้าราชการ
เพราะถ้าอยากจะร่ำรวย อยากมีเงินทองใช้ ไม่มีใครอยากเป็นผู้ใหญ่บ้านกันหรอก ไปทำอย่างอื่นก็ได้ ซึ่งกำนันผู้ใหญ่บ้านไม่ได้ประกอบให้มันร่ำมันรวย แต่เป็นอาชีพของอาสาสมัคร เขาถึงไม่เรียกว่าเงินเดือน แต่เขาเรียกว่าค่าตอบแทน"
และอีกหนึ่งความตั้งใจที่ทำให้ยอมเสียสละชีวิตส่วนตัวเพื่อส่วนรวมได้เพราะเธอซาบซึ้งถึงคำว่าผู้ให้มีความสุขกว่าผู้รับ
"กุ้งได้แบบอย่างการเป็นผู้ให้มาจากลุงไพบูลย์กิจแก้วคนในหมู่บ้านคนหนึ่งที่เป็นคนที่มีหัวใจจิตอาสาเสียสละทำงานเพื่อสังคมมาตลอด ไม่ว่าบ้านไหนจะขอให้ช่วยเหลืออะไร แกก็ช่วยอยู่ตลอด และช่วยโดยบ่หวังผลตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้น"
"ตอนแรกก่อนที่กุ้งจะเข้าใจคำว่าการให้ กุ้งก็มองว่าการคอยช่วยเหลือคนอื่นมัน "บ่ใช่เรื่อง" จนกระทั่งกุ้งได้รับการช่วยเหลือ กุ้งถึงได้รู้ว่าการเป็นผู้รับมันสบายใจแบบนี้เอง และจากเป็นผู้รับ ลุงไพบูลย์ก็สอนให้เป็นผู้ให้ ซึ่งทำให้กุ้งรู้ว่าการเป็นผู้ให้นั้นยิ่งใหญ่กว่า"
ด้วยความตั้งใจอันมุ่งมั่น เธอจึงลงสมัครเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้าน แม้จะขาดทุนทรัพย์ แต่หัวใจนั้นเต็มร้อย
"การหาเสียงของกุ้ง ตลกดี กุ้งไม่มีงบหาเสียงเป็นของตัวเอง ไม่มีงบใบปลิว สิ่งที่ได้คือ พี่ๆ น้องๆ บางท่าน ระดมเงินกันแล้วนำมาให้ ซึ่งเจ้าของเงินกุ้งก็ไม่รู้ว่าเป็นพี่ๆ ท่านไหนบ้าง เปิ้ลก็หาๆ มาให้มาทำ อยู่ๆ ก็มีรถขยายเสียงเป็นของเรา งบหาเสียงของกุ้ง มีแค่รองเท้าผ้าใบ 1 คู่ เป้สำหรับใส่ใบปลิวหาเสียง 1 อัน หน้าร้อนก็มีหมวกมีร่ม หาเสียงอยู่ประมาณ 10 วัน ซึ่งกุ้งไม่มีทีมหาเสียง ไม่มีอะไรเลย"
เธอไม่คาดหวัง แต่ทำให้ดีที่สุด "พูดตรงๆ บ่คึดว่าจะได้ เพราะบ่มีความพร้อมด้านวุฒิการศึกษา วัยวุฒิก็น้อย และมีคำพูดหลายๆ คำว่า เป็นผู้หญิงไม่เหมาะกับแบบนี้ น่าจะอายุมากกว่านี้ ประสบการณ์ก็ไม่มี"
แต่สุดท้าย เธอได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้ใหญ่บ้านคนที่ 4 ของบ้านหมู่ 6 ต.หนองหอย อ.เมือง จ.เชียงใหม่ และเป็นผู้ใหญ่บ้านหญิงคนที่ 3 ของหมู่บ้านนี้
"ความรู้สึกแรกที่รู้ว่าได้คือทั้งเกรงใจและดีใจ เราได้รับเลือกมา เราจะทำอย่างไรให้คนที่กากบาทให้ "บ่ผิดหวัง" หรือจะทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์และมีผลเสียน้อยที่สุด"
แม้วันนี้ จะลาออกจากตำแหน่งแล้ว หากนั่นไม่ได้ทำลายความตั้งใจที่ทำเป็นจิตอาสาทำงานช่วยเหลือสังคม
"กุ้งกลับมาใช้ชีวิตปกติ ทำงานฟรีแลนซ์ติดต่อประสานงานซึ่งเป็นงานเดิมที่เคยทำ เพียงแต่ไม่ต้องมารับโทรศัพท์ตลอด 24 ชั่วโมงเหมือนเมื่อก่อน และการทำงานอาสาของกุ้งก็ไม่จบลงแค่ขีดบนบ่า งานอาสามันใช้ใจทำ ไม่ได้ทำเพราะขีดหรือทำเพราะหน้าที่ การเสียสละให้คนอื่น ไม่ใช่หน้าที่ แต่อยู่ในใจ และงานที่กุ้งทำมาตลอดคืองานอาสาสมัครสาธารณสุข อสม. แม้เราจะมีหน้าที่เล็กๆ น้อยๆ แต่สิ่งน้อยๆ แต่ถ้าทำเยอะๆ มันก็มีพลัง และให้ประโยชน์มหาศาล"
เห็นหน้าหวานๆ แบบนี้ ใครจะรู้ว่า สาวกุ้งเป็น "สิงห์นักบิด" เหมือนกัน พาหนะคู่ใจของเธอคือ "ฮอนด้า ซีบี 300 เอฟ"
"กุ้งชอบมอเตอร์ไซค์ ไม่ได้เป็นสาวห้าวแต่เป็นความชอบล้วนๆ เหมือนปลามีหางไว้ว่ายน้ำ มันมีอิสระที่จะว่ายน้ำของมัน เหมือนนกอิสระที่จะได้บิน ความสุขของกุ้งก็หมายถึงได้มีอิสระทำในสิ่งที่ชอบ เสน่ห์ของมอเตอร์ไซค์ กุ้งมองว่า จุดหมายไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่ความสำคัญคือความสุขที่เกิดขึ้นระหว่างการเดินทางต่างหาก คุณไม่จำเป็นต้องมีเบนซ์คันใหญ่ ไม่จำเป็นต้องมีเงินเติมน้ำมันหลายพัน ไม่จำเป็นต้องขึ้นเครื่องบินเพื่อไปกับสายการบินใด แค่มีเป้ 1 ใบ มีเงินพอติดตัวนิดหน่อย เราก็ไปกันได้แล้ว (ยิ้ม)"
วันนี้ แม้ชีวิตจะไร้เครื่องแบบ แต่หัวใจแห่งความเป็น "ผู้ให้" ยังคงอยู่ "บ่เปลี่ยนแปลง"
อัลบั้มภาพ 4 ภาพ