"ภาษีพระ" สั่นสะเทือนวงการผ้าเหลือง ปฏิรูปใหญ่ศาสนา?
กลายเป็นประเด็นร้อนๆ ในวงการผ้าเหลือง เมื่อเกิดแนวความคิดการออกกฎหมายเก็บภาษีพระและตรวจสอบทรัพย์สินของวัด ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี โดยประเด็นนี้ทำให้เกิดกระแสต่อต้านจากคณะพระสังฆาธิการทั่วประเทศ พร้อมแนบแบบตอบรับแสดงความคิดเห็นถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อคัดค้าน
กรณีดังกล่าวเริ่มต้นจากการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 เมษายนที่ผ่านมา ซึ่งทางณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา (สปช.) ซึ่งนำโดย นายไพบูลย์ นิติตะวัน ได้เสนอให้การปฏิรูปพระพุทธศาสนา 4 ด้าน ประกอบด้วย
1. ให้มีการจัดการทรัพย์สินของวัดและพระภิกษุ เช่น จัดเก็บภาษีพระภิกษุที่มีรายได้มากกว่า 20,000 บาทขึ้นไป หรือ การเปิดเช่าหรือทำวัตถุมงคลในงานเทศกาลของวัด จะต้องเสียภาษี เป็นต้น
2. เสนอให้แก้กฎหมาย มส. ฉบับที่ 24 (พ.ศ.2541) ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระสังฆาธิการ
3. ปฏิบัติตามพุทธบัญญัติ ห้ามมีการบิดเบือนหรือแอบอ้างพระธรรมวินัย รวมทั้งออกกฎหมายลงโทษพระภิกษุอย่างรุนแรง
4. ปฏิรูปการศึกษาของคณะสงฆ์ให้ทันเหตุการณ์
ต่อมา พระเมธีธรรมาจารย์ (ประสาร จนฺทสาโร) รองอธิการบดีฝ่ายประชาสัมพันธ์และเผยแผ่ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) ที่ปรึกษาสมาคมนักวิชาการเพื่อพระพุทธศาสนา (สนพ.) ทำหนังสือถึงเจ้าคณะพระสังฆาธิการทั่วประเทศ จำนวน 33,902 วัด เพื่อปลุกเจ้าคณะพระสังฆาธิการให้ลุกขึ้นมาต่อต้าน
ทั้งนี้ พระเมธีธรรมาจารย์ เปิดเผยว่า แนวทางของ สปช. ที่จะปฏิรูปพระพุทธศาสนา มีลักษณะเป็นการจาบจ้วงดูหมิ่นพระสงฆ์ทั่วประเทศอย่างรุนแรง เป็นประเด็นใหญ่ที่อาจจะทำให้พุทธศาสนาของประเทศไทยล่มสลาย หากทาง สปช. ต้องการพัฒนาคณะสงฆ์จริง ควรจะสนับสนุนเรื่องการศึกษาของสงฆ์จะเป็นประโยชน์กว่า
ประเด็นการจัดการทรัพย์ของวัดและพระภิกษุ ดูเหมือนจะถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก นอกจากจะมีการเก็บภาษีพระภิกษุที่มีรายได้เกิน 20,000 บาท แล้ว ยังจะมีข้อกำหนดให้เจ้าอาวาสวัด มีวาระดำรงตำแหน่งจำกัด ลดลงเหลือเพียง 5 ปี หลายฝ่ายมองว่าพระสงฆ์เป็นสมณเพศ ไม่มีลาภสักการะ การย้ายไปดำรงตำแหน่งที่วัดอื่น อาจเกิดปัญหาเรื่องความศรัทธาของผู้คนต่างถิ่น อาจถึงขั้นประท้วงขับไล่รุนแรง
อย่างไรก็ตาม ทางคณะสงฆ์ที่ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายนี้ ส่วนใหญ่เล็งเห็นว่า ปัจจุบันค่าสาธารณูปโภคต่างๆ ทางวัดก็ต้องรับผิดชอบ หากค่าใช้จ่ายไม่เพียงพอ วัดต่างจังหวัดหลายแห่งยังมีพระจำวัดเพียงไม่กี่รูป เกรงว่าหากกฎหมายนี้เป็นรูปร่างจะทำให้ชาวพุทธไม่เลื่อมใสหรืออยากบวชเรียน ซึ่งเท่ากับว่ารัฐบาลไม่สนับสนุนส่งเสริมพระพุทธศาสนา
ขอบคุณเนื้อหาข่าวจาก มติชนออนไลน์