กรมควบคุมโรคพร้อมติดตามผู้กลับจากปท.เสี่ยงไวรัสเมอร์ส-โควี

กรมควบคุมโรคพร้อมติดตามผู้กลับจากปท.เสี่ยงไวรัสเมอร์ส-โควี

กรมควบคุมโรคพร้อมติดตามผู้กลับจากปท.เสี่ยงไวรัสเมอร์ส-โควี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

อธิบดีกรมควบคุมโรค เผย เตรียมยันติดตาม เฝ้าระวัง ผู้กลับจากประเทศเสี่ยงไวรัสเมอร์ส-โควี พร้อมให้คำปรึกษา ขอปฏิบัติตามคำแนะนำเคร่งครัด

นายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยถึงการดำเนินงานเฝ้าระวัง ป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ 2012 หรือ "เมอร์ส-โควี" ว่าประเทศไทยได้มีการเตรียมความพร้อมเนื่องจากประชาชนมีการเดินทางไป-มา ประเทศแถบตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นพื้นที่พบการระบาดของโรค โดยกรมควบคุมโรค ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางระบบเฝ้าระวังและการคัดกรองผู้ป่วย มีการให้ความรู้ คำแนะนำประชาชน รวมทั้งระบบการติดตามเฝ้าระวัง ผู้เดินทางกลับจากประเทศตะวันออกกลางเป็นเวลา 14 วัน หากประชาชนมีไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก หรือมีอาการไข้สูง หอบเหนื่อยหายใจลำบากขอให้ไปพบแพทย์ทันที พร้อมแจ้งประวัติการเดินทางไปต่างประเทศด้วย หรือโทรปรึกษาสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือที่เว็บไซต์สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ กรมควบคุมโรค (http://beid.ddc.moph.go.th)

นายแพทย์โสภณ กล่าวว่า โรคนี้ พบในคนครั้งแรกเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2555 ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศในแถบตะวันออกกลาง ติดต่อผ่านการแพร่กระจายผ่านละอองฝอยน้ำมูก น้ำลาย จากการไอ จาม ผู้ที่จะเดินทางไปยังประเทศที่มีความเสี่ยง ขณะนี้องค์การอนามัยโลกยังไม่มีข้อห้ามในการเดินทาง แต่ขอให้เคร่งครัด การรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล โดยเฉพาะผู้ป่วยเบาหวาน โรคไตวาย หรือผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ ควรระวังเป็นพิเศษ ควรปฏิบัติตัว ดังนี้ 1.หลีกเลี่ยงสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยระบบทางเดินหายใจหรือผู้ที่มีอาการไอหรือจาม 2.ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่ 3.หลีกเลี่ยงการเข้าไปสัมผัสกับฟาร์มสัตว์หรือสัตว์ป่าต่าง ๆ หรือดื่มนมอูฐดิบไม่ผ่านการฆ่าเชื้อ ซึ่งอาจเป็นแหล่งรังโรคได้ 4.ถ้ามีอาการไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ หลีกเลี่ยงคลุกคลีกับบุคคลอื่น และรีบไปพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข

รายงานองค์การอนามัยโลก เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2558 พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ 2012 จำนวน 1,172 ราย เสียชีวิต 442 ราย จาก 25 ประเทศ โดยในเอเชียปีนี้พบที่เกาหลีใต้และจีน สำหรับประเทศไทยขณะนี้ยังไม่พบรายงานผู้ป่วยยืนยันโรคนี้


แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook