ยกเลิกค่าแรง 300 บาท โจทย์ยากของรัฐบาล คสช.
เป็นกระแสที่ต้องจับตาให้ดีหลังจาก คณะกรรมการค่าจ้าง หรือ บอร์ดค่าจ้าง ออกมาเปิดเผยแนวทางการปรับค่าจ้างใหม่ โดนมีสาระสำคัญ คือ จะยกเลิกนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ ซึ่งเป็นนโยบายที่เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยมีแนวทางที่ศึกษาไว้ 5 รูปแบบ
เรื่องนี้ในฝ่ายของภาคธุรกิจ ในส่วนของผู้ประกอบการธุรกิจออกมาขานรับทันที โดยเหตุผลหลักก็คือ เห็นว่า การปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาททั้งประเทศ ที่เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เป็นการใช้นโยบายทางการเมืองที่ไม่สอดรับกับพื้นฐานทางเศรษฐกิจ เป็นการเพิ่มภาระให้กับนายจ้าง เป็นการขึ้นค่าจ้างแบบก้าวกระโดด ทำให้ผู้ประกอบการบางประเภทกิจการที่ต้องใช้แรงงานเข้มข้นแบกรับภาระไม่ไหว
นอกจากนี้ยังทำให้ผู้ประกอบการต่างประเทศไม่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย หันไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านที่มีค่าแรงต่ำกว่าแทน และการขึ้นค่าจ้างในครั้งนั้นเป็นการขึ้นค่าจ้างที่เกินกว่าอัตราเงินเฟ้อมาก
แต่ในส่วนของฝ่ายลูกจ้าง ต้องบอกว่า เรื่องนี้ได้สร้างความหวั่นไหวความกังวลให้กับลูกจ้างทั้งประเทศที่กินค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาททันที
ดังนั้น หากรัฐบาลจะเดินหน้าปรับนโยบายค่าจ้างใหม่ตามที่บอร์ดค่าจ้างได้ศึกษามา ยอมส่งผลกระทบกับพวกเขาทันที และสิ่งนี้จะส่งผลเป็นกระแสที่ลดความนิยมรัฐบาล คสช.ลงไปทันที ส่วนจะถึงขึ้นมีการเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านนโยบายนี้หรือไม่ น่าจับตายิ่ง.....?
แน่นอนว่าในการเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านนั้นในยุคปัจจุบัน ที่อยู่ภายใต้สถานการณ์พิเศษ ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะอำนาจเต็มของรัฐบาลค่อนข้างเข้มแข็ง มีเครื่องมือไม่ว่าอำนาจตาม ม.44 ที่ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีใช้อำนาจในการบริหารได้ หรือมีกฎหมายพิเศษ อย่างเช่น กฎอัยการศึก ที่รัฐบาลทหารสามารถประกาศใช้ในการควบคุมสถานการณ์ได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดก็ตาม แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องปากท้อง ของแรงงานทั่วประเทศ การลดรายได้ของเขาลงไปทันทีทันใดย่อมทำให้เขาเดือดร้อนและอาจมีการต่อต้านขึ้นมาส่วนจะขยายวงกว้าง หรือยังไม่อาจคาดเดาได้
การยกเลิกค่าจ้างขึ้นต่ำครั้งนี้ จึงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะปัจจุบันต้องยอมรับว่า ค่าครองชีพค่อนข้างสูง ซึ่งเป็นผลกระทบมาจากนโยบายการขึ้นค่าแรง 300 บาทนั้นเอง การจะลดค่าจ้างลง ทำให้รายได้ของเขาลดลงทันที แต่รัฐบาลมีความชัดเจน หรือมีแนวทางที่ทำให้ค่าครองชีพลดลงหรือไม่...? รัฐบาลทำให้ราคาข้าวแกงลดลงหรือไม่ ค่าข้าวของเครื่องใช้ลดลงหรือไม่ ค่าเดินทางลดลงหรือไม่...? เพื่อเป็นการลดภาระของพวกเขาลง
หากรัฐบาลลดค่าแรงลง ก็ต้องลดค่าครองชีพของพวกเขาลงให้ได้ จึงเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย ผู้ประกอบการยินดีหรือไม่ที่จะประกาศลดราคาสินค้าลงทั้งที่เป็นวัตถุดิบและสำเร็จรูป ในอดีตที่ผ่านมา เรื่องจะให้ผู้ประกอบการลดราคาสินค้าลงเป็นเรื่องที่ยากมากๆ ดังนั้นรัฐบาลสามารถยืนยันได้หรือไม่ว่า หากยกเลิกค่าแรงขั้นต่ำลง และ ราคาสินค้าจะลดลง....
ประเด็นค่าแรงขั้นต่ำ ต้องยอมรับว่า เป็นเรืองที่ผิดพลาดของรัฐบาลในอดีต แต่คนที่ได้ประโยชน์คือ ภาคแรงงาน ที่ปรกติเขาคือฐานส่วนใหญ่ ดังนั้น การพลิกนโยบายแรงงานครั้งนี้ คงต้องใช้ความสามารถในการดำเนินการอย่างยิ่งยวดเพราะผลกระทบจะขยายวงกว้างและต้องคิดมากกว่า ใช้อำนาจของรัฐบาล ไปดำเนินนโยบายโดยไม่มีแนวทางต่างๆ รองรับ
เรื่องการปรับค่าแรงจึงเป็นเรื่องน่าติดตามอย่างยิ่ง ว่ารัฐบาลจะสามารถบริหารให้เกิดประโยชน์ต่อภาพรวมได้อย่างไร....ต้องจับตากันต่อไป... เพราะเรื่องนี้สำคัญต่อการบริหารของรัฐบาลที่ยึดหลักว่า จะคืนความสุขให้กับประชาชนคนไทยว่า จะสามารถทำได้จริงหรือไม่....?
...เปลวไฟน้อย