ความเห็นของคนขายหวย เมื่อต้องขายในราคา 80 บาท
ตั้งแต่ "รัฐบาลบิ๊กตู่" ขึ้นมากุมอำนาจพร้อมกับนโยบายคืนความสุข "ราคาหวย" คือเรื่องแรกๆ ที่ถูกหยิบขึ้นมาพูด และครั้งนี้ก็เป็นครั้งที่ 2 ที่รัฐบาลกำหนดให้ "ขายลอตเตอรี่ในราคา 80 บาท" หลังจากได้รับความร่วมมือในครั้งแรกไปได้ไม่กี่วัน
ราคาไข่ไก่ เคยเป็นดัชนีชี้วัดความสามารถของรัฐบาล แต่สำหรับรัฐบาลบิ๊กตู่ วัดกันที่ราคาหวย!
หวยราคา 80 บาท ทำให้คนซื้อยิ้มหน้าบาน ในขณะเดียวกัน คนขายหวยในยุครัฐบาลคสช.อาจจะดูเกร็งๆ มากกว่าที่ผ่านมา
เพราะล่าสุด มีคนถูกจับเพราะตั้งราคาขายเกินกำหนดไปแล้ว จะเรียกว่าเชือดไก่ให้ลิงดูก็คงไม่ผิด
จะได้ผลหรือไม่ก็คงต้องติดตามกันต่อไป แต่ที่แน่ๆ Sanook! News มีความคิดเห็นของ "คนขายหวย" มานำเสนอ พวกเขาได้รับผลกระทบอย่างไร ปรับตัวอย่างไร และอยากเรียกร้องอะไร มาติดตามไปพร้อมๆ กัน
ท.ทหารตรวจ (แผง) หวย
ต้องยอมรับว่านโยบาย หวย 80 บาท ในรอบนี้ดูจะเอาจริงเอาจังมากกว่าครั้งแรก เพราะแผงหวยหลายๆ รายมีโอกาสได้ต้อนรับทหารแต่งชุดเต็มยศที่มาเยี่ยมมาเยือนพร้อมกับคำถาม
นางเกษรินทร์ เจ้าของแผงหวยบริเวณสถานีรถไฟใต้ดินสุทธิสาร เล่าว่า มีทหารมาเยี่ยม 3 รอบแล้ว นับตั้งแต่มีประกาศเรื่องนี้
"เขาก็มาดีนะ ถามว่าขายเท่าไร เลขดังขายเท่าไร รับมาเท่าไร เราก็บอกว่ารับมาที่ 73 บาท ได้กำไร 7 บาท" เจ้าของแผงหวยเล่า
ป้าเกษรินทร์ ยังบอกอีกว่า แผงหวยในบริเวณนี้ได้รับการปฏิบัติแบบเดียวกันทั้งหมด และคิดว่าคราวนี้น่าจะคงราคาขายไว้ที่ 80 บาทได้นาน เพราะไม่เคยเห็นการเอาจริงเอาจังขนาดนี้
อย่างไรก็ตาม การกำหนดราคาจากฝั่งรัฐบาลไม่ใช่ตัวชี้ขาดผลกำไร เพราะสำหรับแผงหวยทั่วๆ ไป มันขึ้นอยู่กับราคาที่ซื้อมาจากเอเย่นต์มากกว่า
"เมื่อก่อนขายใบ 110 บาท แต่ตอนนั้นก็รับมาจากยี่ปั๊ว 97 บาท เราก็ได้ 13 บาท บางคนอาจจะรับจากยี่ปั๊วมาได้ถูกกว่านี้ แต่ก็ต่างกันบาทสองบาท"
ส่วนผู้ค้าอีกรายหนึ่งที่ขอไม่เปิดเผยหน้าตาและชื่อแซ่ บอกกับทีมข่าว Sanook! News ว่า ก่อนหน้านี้รับมาจากเอเย่นต์ในราคาเฉลี่ยใบละ 102 บาท เมื่อนำมาขาย 110 บาท ก็ได้กำไร 8 บาท
"ยี่ปั๊วขายมาเท่าไรเราก็ต้องซื้อเท่านั้น แล้วก็มาขายบวกกำไรเข้าไป" ทั้งคู่ให้ความเห็นตรงกัน
แต่ถ้าจะถามว่ากำไรเท่านี้พอไหม? ทั้งคู่ตอบว่า "ไม่พอ" เพราะภาระทางบ้านและการใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ ที่ค่าครองชีพมีแต่สูงขึ้นๆ ทุกวัน
"สวยไสย" ทำไมจึงแพง?
สำหรับคอหวย เป็นที่รู้กันดีว่าเลขสวย เลขดัง จะมีราคาแพงกว่าเลขทั่วๆ ไป ซึ่งก็ดูจะเป็นศาสตร์ในการกำหนดราคาที่มีความเฉพาะตัวสูงมาก
ใครจะไปเชื่อว่าไสยศาสตร์ก็กำหนดอุปสงค์อุปทานได้!
ในยุคหวย 110 บาท เลขสวยๆ จะแพงยิ่งขึ้นไปอีก แต่ในตอนนี้ หวยทุกใบราคาเท่ากันที่ 80 บาท
ใช่ว่าส่วนต่างในจุดนี้จะสร้างกำไรให้คนขายหวยเสมอไป เพราะการไปรับมาจากเอเย่นต์ จะได้ทั้งเลขเสียและเลขสวย ซึ่งแพงมาตั้งแต่เอเย่นต์แล้ว ไม่ได้มาแพงที่แผงหวย
เจ้าของแผงหวยนิรนามบอกกับเราว่า "รับหวยมาจากเอเย่นต์เป็นเล่ม เล่มละ 100 ใบ มันก็มีเลขไม่ดียัดมาบ้าง แต่ก็ถือว่าช่วยเอเย่นต์ระบายของ คือมันต้องพึ่งพาอาศัยกัน ทีนี้เราก็ต้องขายเลขสวยๆ แพงหน่อย เอามาเผื่อใบที่เลขไม่ดี เพราะถ้ามันขายไม่ได้ เราก็คืนไม่ได้ ต้องเก็บไว้ลุ้นเอง"
และเมื่อต้องขาย 80 บาททุกใบ เจ้าของแผงหวยก็ได้แต่หวังว่าเลข "สวยไสย" จะไม่ถูกใช้เป็นกลไกในการปั่นราคาต้นทุนจากเอเย่นต์
"ขายหวย" อาชีพเสริมของอาชีพเสริม?
เจ้าของแผงหวยทั้ง 2 คนพูดตรงกันว่า โดยภาพรวมแล้ว "หวย" คือธุรกิจที่ลงทุนสูง แต่ข้อดีคือ มันจะถูกซื้อจนเกลี้ยงแผงก่อนเวลาหวยออก
"รับมา 1,000 ใบเราก็ขาย 15 วัน มันก็ขายได้จนหมดแหละนะ แต่มันฉิวเฉียด บ่ายสามโมงเป๊ะก่อนหวยออกนั่นแหละถึงจะหมด กำไรน้อยลงก็เรื่องนึง อีกเรื่องคือหมุนเงินไม่ทัน" ป้าเกษรินทร์เล่า
ที่จะลืมไปไม่ได้ เราคงต้องยอมรับว่าแผงหวยขนาดไม่ถึง 2 ตารางเมตรนี้คือแหล่งที่มาของรายได้เลี้ยงอีกหลายปากท้อง
ถึงแม้ว่าหวยจะถูกขายกันอย่างเป็นล่ำเป็นสันในบ้านเรา แต่ด้วยนโยบายจาก รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ มันควรจะเป็นแค่อาชีพเสริมเท่านั้น คำถามคือการขายหวยเป็นอาชีพเสริมนั้นเป็นไปได้ในทุกกรณีหรือไม่?
สำหรับคนที่ทำมันเป็นอาชีพเสริมจริงๆ อาจจะไม่เดือดร้อน แต่อย่าลืมว่า "หวย" เป็นแหล่งรายได้หลักของคนบางกลุ่ม หนึ่งในนั้นคือเจ้าของแผงหวยนิรนามที่กำลังคุยกับเราอยู่
"โอ้ย อาชีพเสริมอะไรล่ะ หากินกับหวยมานานแล้ว ถ้าเป็นคนต่างจังหวัด มีอาชีพทำนา พอหมดฤดูทำนาก็มาขายหวย ของเขาก็เป็นอาชีพเสริม มีบ้านมีที่ทางอยู่ต่างจังหวัด แต่เราเป็นคนกรุงเทพ ไม่ได้มีที่ดินทำกินอะไร"
ทางออกของผู้ค้ารายนี้ก็คือการตั้งแผงขายเสื้อผ้าผู้หญิงขึ้นมาข้างๆ แผงหวย (วิธีแก้ปัญหาแบบไทยๆ) เพื่อหารายได้เสริมขึ้นมาชดเชยกำไรจากการขายหวยที่ลดลง
เช่นเดียวกันกับ ป้าเกษรินทร์ ที่ตั้งแผงขายขนมปังขึ้นมาใกล้ๆ กับแผงหวย เท่ากับว่าทำธุรกิจ 2 อย่างไปพร้อมๆ กัน เพื่อหารายได้ให้มากขึ้น
"วิ่งขาย 2 ร้านมันก็ยากหน่อย แต่ก็ต้องปรับตัวกันไป แล้วรัฐบาลก็บอกอีกว่าห้ามขายของบนทางเท้า แล้วจะอยู่ยังไง ถ้าเราจะไปเช่าที่ขายมันก็แพง เราก็สู้ไม่ไหว" ป้าบอก
น่าสนใจว่ารายได้เสริมใหม่ๆ ของผู้ค้าเหล่านี้จะกลายเป็นการสร้างปัญหาใหม่ๆ ขึ้นมาหรือไม่ เพราะการทวงคืนทางเท้าก็เป็นหนึ่งในนโยบายของรัฐบาล คสช. เหมือนกัน
...และถ้าสุดท้ายแล้วมันกลายเป็นการแก้ปัญหาที่สร้าง (อีก) ปัญหาขึ้นมา จะเรียกมันว่าการคืนความสุขได้หรือไม่? ก็ยังเป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไป
อยากได้โควตาหวยต้องรอสามแสนคิว!
"ถ้าเรียกร้องได้ก็ไม่อยากเรียกร้องเรื่องราคาขาย แต่อยากได้โควตาเองเพราะเราขายจริงๆ เคยไปขอแล้วแต่ต้องรอคิวที่สามแสน" เจ้าของแผงหวยนิรนามเล่า
โดยทั่วไปแล้ว สนง.สลากกินแบ่งฯ จะมีโควตาในการรับหวยไปขายต่อ จากคำบอกเล่าของผู้ค้าหวยนิรนามรายนี้ พบว่าคนที่ได้โควตาหลายๆ รายก็ไม่ได้ขายหวย แต่ "ขายสิทธิ์" ?
"อย่างเราขายเอง ขายจริง แต่ไม่มีโควตาเลย ส่วนคนที่มีโควตาไม่ขายเอง แต่มอบฉันทะให้เอเย่นต์ เรียกว่าขายเป็นเงินก้อนเลยล่ะ แล้วให้เอเย่นไปเบิกเอง"
แล้วเอเย่นต์เหล่านั้นก็นำมาขายต่อกับบรรดาผู้ค้ารายย่อยที่ไม่ได้รับโควตา ในราคาที่เราได้ทราบกันไปแล้วข้างต้น
"ก็น่าจะมีการสำรวจว่าใครเป็นคนขายตัวจริง อยู่ตรงจุดไหน คนได้โควตาไม่ได้มาขายเอง เราก็คิดว่ามันไม่แฟร์เลยนะแบบนี้ แล้วคนที่ขายเองอย่างเราต้องรอสามแสนคิว แบบนี้มันไม่ถูกต้อง" คนขายหวยนิรนามพูดทิ้งท้าย