คลิปว่อน เด็กกล่อง มั่วร้านเกม คลั่ง-ร้องไห้-ด่าลั่น
กลุ่มเด็กวัย8ขวบ เร่ขอเงินบริจาค ตามสะพานลอย พม.รุดดู-เยียวยา
สังคมสลดคลิป"เด็กกล่อง"คลั่งเกมว่อนเมือง เผยมีคนบังเอิญถ่ายคลิปกลุ่มเด็กชายวัย 6-8 ขวบติดเกมงอมแงมจนก้าวร้าว บางคนคลุ้มคลั่งร้องไห้โฮเวลาที่เล่นแพ้ บางคนก้าวร้าวด่าทอถึงขั้นลงมือทำร้ายเพื่อน ส่วนที่เรียกว่า"เด็กกล่อง"เพราะเวลาเงินหมดจะถือกล่องไปยืนรับบริจาคเงินตามห้าง นั่งขอทานตามสะพานลอย กระทรวงพัฒนาสังคมฯ ส่งจนท.ไปตามหาเด็กเพื่อเยียวยา กระทั่งเจอเด็กกล่องที่ปรากฏในคลิป อยู่ในร้านเกมที่ห้างเซ็นจูรี่ เด็กยอมรับนั่งขอทานหาเงินมาเล่นเกมทุกวัน ก่อนตามจนเจอแม่เด็กก็รู้ปัญหา ระบุทั้งตีทั้งสอนแล้วแต่ลูกไม่เชื่อฟัง จนท.ให้ทำประวัติทั้งแม่-ลูก ก่อนแนะวิธีการแก้ปัญหา โดยจะส่งจนท.ติดตามผลเป็นระยะ หลังปิดเทอมจะพาเด็กไปอบรมที่กระทรวงปรับพฤติกรรมใหม่
เมื่อวันที่ 29 ม.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีคลิปกลุ่มเด็กชายวัยแค่ 6-8 ขวบคลั่งเกมเผยแพร่อยู่ในอินเตอร์เน็ต โดยพฤติกรรมของเด็กกลุ่มนี้จะมีอารมณ์ค่อนข้างรุนแรงมากเวลาเล่นเกมประเภทไฟเตอร์ หรือเกมต่อสู้ บางคนถึงขั้นจะร้องไห้ฟูมฟายเวลาที่เล่นเกมแพ้ หรือไม่ก็มีพฤติกรรมก้าวร้าว ตะโกนด่าทอและสบถด้วยถ้อยคำหยาบคายตลอดเวลา บางครั้งก็ทะเลาะกันเองถึงขั้นลงมือลงไม้ทำร้ายกัน โดยเด็กกลุ่มดังกล่าวเล่นเกมที่ร้านเกมแห่งหนึ่งในห้างเซ็นจูรี่ ย่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ กทม. ซึ่งมีคนบังเอิญไปพบเห็น และได้บันทึกคลิปเหตุการณ์เด็กคลั่งเกมไว้ก่อนมีการนำมาเผยแพร่ตามลิงก์ http://www.youtube.com/watch?v=O2DzC4EmGA8 และ http://www.youtube.com/watch?v=c_2_zzPZ1oM&feature=related
นอกจากนี้ยังมีคนมาโพสถึงพฤติกรรมเด็กกลุ่มดังกล่าวว่า เด็กชายกลุ่มนี้จะมีอยู่ประมาณ 3-4 คน อายุระหว่าง 6-8 ขวบ เรียกกันว่า "เด็กกล่อง" คนผ่านห้างเซ็นจูรี่จะรู้จักเด็กกล่องกลุ่มนี้เป็นอย่างดี เพราะจะถือกล่องกระดาษมีข้อความว่า "ขอเงินไปเรียนหนังสือ, ซื้ออุปกรณ์การเรียน, ไม่มีทุนการศึกษา, ไม่มีข้าวกิน ฯลฯ" ยืนขอรับเงินบริจาคอยู่ตามบันไดเลื่อนภายในห้องเซ็นจูรี่ และที่สะพานลอยตรงอนุสาวรีย์ชัยฯ เมื่อได้เงินมาแล้วก็จะเอาเงินไปเล่นเกมอย่างบ้าคลั่ง เล่นได้ครั้งละหลายชั่วโมง และจะมีพฤติกรรมคลั่งเกมให้เห็นเป็นประจำ
เด็กกล่องบางคนพกการ์ดเล่นเกมใบละ 250 บาทติดตัวไว้ถึง 4-5 ใบ หรือไม่ก็พกเหรียญสิบบาทติดตัวหลายร้อยบาท บางรายชอบเล่นเกมคนเดียว พอมีลูกค้าคนอื่นจะหยอดเล่นด้วยก็จะงอแงไม่ยอมให้เล่นด้วย บางทีก็ใช้มือปิดช่องใส่เหรียญไว้ตลอดเวลา ป้องกันไม่ให้คนมาเล่นเกมด้วย บางคนยอมให้ลูกค้าคนอื่นเล่นด้วย แต่ถ้าเด็กกล่องเล่นแพ้ก็จะร้องไห้โวยวายเอะอะเสียงดังลั่น จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางว่าเด็กกลุ่มนี้อาจติดเกมงอมแงมจนมีพฤติกรรมคลุ้มคลั่งก้าวร้าวอย่างที่ปรากฏในคลิป อาจต้องเข้ารับการดูแลและเยียวยาจากผู้เชี่ยวชาญอย่างใกล้ชิด
วันเดียวกัน นายศุภฤกษ์ หงษ์ภักดี ผู้อำนวยการศูนย์ประชาบดี กระทรวงพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ซึ่งได้รับร้องเรียนถึงพฤติกรรมเด็กกล่องเช่นเดียวกัน ได้สั่งการให้นายเชวง ดีด่านค้อ และนายวัชรินทร์ พันธ์พงษ์ นักสังคมสงเคราะห์ เดินทางไปตรวจสอบที่ห้างเซ็นจูรี่ พบเด็กชายอายุประมาณ 8 ขวบ มีรูปร่างลักษณะตรงตามที่ปรากฏในคลิป กำลังนั่งเล่นเกม อยู่ในชุดนักเรียนอย่างเมามัน เจ้าหน้าที่นักสังคมสงเคราะห์ จึงนำตัวออกมาพูดคุย ซึ่งเด็กตกใจ เกิดอาการเกร็งจะร้องไห้ ทราบชื่อด.ช.เอ (นามสมมติ) อายุ 8 ขวบ นักเรียนอยู่ชั้นป. 2/1 โรงเรียนวัดแห่งหนึ่ง ย่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
ด.ช.เอให้การว่า มีแม่ทำงานเป็นผู้ช่วยคนไข้ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ชื่อนางน้อย (นามสมมติ) อายุ 44 ปี โดยมีพี่น้อง 2 คน ตนเป็นลูกคนเล็ก หลังเลิกเรียนไม่อยากกลับบ้าน จึงเข้ามาเล่นเกมทุกวัน และก่อนจะเข้ามาเล่นเกมจะนำกล่องหรือแก้วน้ำไปนั่งขอทานบนสะพานลอย เมื่อได้เงินมาก็จะเอาเงินมาเล่นเกมจนเงินหมด บางครั้งก็จะนั่งรถเมล์ไปเล่นเกมที่ร้านเกมย่านประตูน้ำ ย่านพระราม 2 ย่านสมุทรปราการ ย่านหมอชิต เล่นอยู่เป็นประจำทุกวันจนติด หากกลับบ้านดึกก็ถูกแม่ตี ทำให้ไม่อยากกลับบ้าน
นายเชวงกล่าวว่า หลังจากสอบถามด.ช.เอแล้ว ตนได้ติดต่อสอบถามไปยังนางน้อย แม่ของด.ช.เอ ซึ่งนางน้อยระบุว่ารู้พฤติกรรมของลูกชายที่ติดเล่นเกม และก็รู้ว่าไปขอทาน ซึ่งนางน้อยตีลูกจนเอือมระอา ตอนแรกด.ช.เอก็รับปากว่าจะไม่ทำอีก แต่พอวันรุ่งขึ้นก็ไปนั่งขอทานแล้วไปเล่นเกมอีก พอกลับบ้านก็จะเปิดกระเป๋าให้ดูว่าไปทำอะไรมา นางน้อยระบุว่าลูกชายจะกลับบ้านดึกๆ จะรอให้แม่นอนหลับแล้วค่อยเข้าบ้าน ตนเช่าบ้านอยู่หลังวัดมะกอกกับลูกสองคนและสามีใหม่ ส่วนพ่อของเด็กได้เลิกรากันไปแล้ว
นายเชวงกล่าวว่า ตนได้แจ้งให้นางน้อยทราบถึงวิธีการแก้ปัญหาเบื้องต้น จากนั้นได้ทำประวัติแม่และเด็กไว้ในเบื้องต้น โดยแม่ของเด็กขอรับลูกกลับไปเลี้ยงดูและอบรม สั่งสอน โดยมีเจ้าหน้าที่ของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ติดตามผล ซึ่งนางน้อยจะพาเด็กไปอบรมพูดคุยด้วยตัวเอง เท่าที่สังเกตด.ช.เอก็เป็นเด็กที่ฉลาด พูดจาตอบโต้ได้ดี เด็กอาจจะติดเกม และมีสภาพแวดล้อมต่างๆ ทำให้เด็กก้าวร้าวได้ ตนได้เสนอไปว่าหากเด็กสอบเสร็จก็จะขออนุญาตแม่ของเด็กพาด.ช.เอไประบายพฤติกรรมที่กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อปรับพฤติกรรม ปรับความคิดของเด็ก หลังจากนั้นได้มอบด.ช.เอให้กับแม่พากลับบ้านไป