การวิพากษ์วิจารณ์ที่ขาดสติ....?
"ปกติครับ พวกทำงานสื่อ โง่ปกติ โง่บริสุทธิ์ พวกนิเทศศาสตร์ พวกสมองโง่โดยธรรมชาติ" ไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นความคิดของคนระดับรองอธิการบดี มหาวิทยาลัย. ที่มีทัศนคติต่อ สื่อ ต่อวิชาชีพ และต่อหลักสูตรวิชาชีพในลักษณะดังกล่าว
แม้ว่าภายหลังจะมีการวิพากษ์วิจารณ์แนวคิด ของรองอธิการบดี จนต้องออกมาแสดงความเห็น ขอโทษการโพสต์ข้อความดังกล่าว โดยระบุหลายข้อความ ว่าขอโทษกับเรื่องที่เกิดขึ้น ที่ทำไปนั้น เพียงเพราะขาดสติ เช่น "ขอโทษอย่างสูง ชาวนิเทศศาสตร์ทั่วประเทศ จากใจจริง อารมณ์ชั่ววูบ จริงๆ"
เรื่องความคิดที่ ด่าสื่อ โง่ โง่บริสุทธิ์ โง่โดยธรรมชาติของรองอธิการบดีฯ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจาก เหตุที่มีการนำเสนอของสถานีโทรทัศน์ช่องหนึ่ง ที่นำเสนอข่าวผิดพลาด และมีการแชร์ผ่านทางเฟซบุ๊ก กระทั่ง นายยะผาด วิวัฒน์พงษ์ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม เข้าไปแสดงความเห็นโจมตีสื่ออย่างรุนแรง ด้วยข้อความดังกล่าว
ในประเด็นการวิพากษ์วิจารณ์สื่อ ถือเป็นเรื่องปรกติ เพราะสื่อถูกยกและให้ความไว้วางใจจากสังคม เป็นผู้ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบ การกระทำต่างๆในสังคม ไม่ว่าการใช้อำนาจบริหารประเทศ ความผิดปรกติของสังคม ในทุกมิติ เพื่อให้สังคมเป็นไปอย่างปรกติและมีแนวทางที่ถูกต้อง เพื่อผลประโยชน์โดยรวมของสังคม
ในอดีตการทำหน้าที่ของสื่อ ถูกอบรมสั่งสอนจากรุ่นสู่รุ่น ให้ยึดหลัก ยึดผลประโยชน์ของสังคมมาโดยตลอด การทำงานต้องมีหลักมีจรรยาบรรณ ทำหน้าที่ต่อสู้กับความไม่ถูกต้อง แม้กระทั้งในยุคที่บ้านเมืองปกครองด้วยระบอบอำนาจนิยม ระบอบเผด็จการ แต่สื่อก็ทำหน้าที่อย่างเข้มแข็ง เรียกร้องความถูกต้อง ความเป็นธรรมโดยไม่เกรงกลัวต่ออำนาจอันไม่ชอบธรรมต่างๆมาโดยตลอด
ในปัจจุบัน สื่อ ในสังคมไทยเกิดขึ้นมากมาย หลากหลาย ตามเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป และสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป การสื่อสาร ถือเป็นเครื่องมือสำคัญทั้งในระดับองค์กร และยังมีสถานะเป็นอาชีพ เป็นธุรกิจ อีกด้วย
แน่นอนว่า การทำหน้าที่ของสื่อ ในยุคปัจจุบันจึงมีความหลากหลาย และด้วยการแข่งขันกันในเชิงธุรกิจ จำนวนสื่อที่มากมายก่ายกอง การนำเสนอข่าวสารจึงมีการแข่งขันกันค่อนข้างสูง ข่าวสารที่คาดว่าประชาชนจะให้ความสนใจจึงถูกนำมาเสนอเรียกความนิยมกัน จนบางครั้งขาดความละเอียดรอบคอบ ความผิดพลาดจึงเกิดขึ้นได้ง่าย
และในยุคที่โลกของโซเชียลมีเดีย อยู่ใกล้ชิดเพียงปลายนิ้ว ใครๆก็อาจเป็นข่าวขึ้นมาได้ มีความรวดเร็วในการส่งต่อ ทำให้ความผิดพลาดยิ่งเกิดขึ้นได้ง่ายยิ่งขึ้นหากไม่มีการตรวจสอบอย่างรอบคอบ
ดังนั้น การวิพากษ์วิจารณ์ สื่อ จึงเป็นเรื่องปรกติ และถือเป็นสิ่งที่สังคมต้องช่วยกันตรวจสอบ เพื่อไม่ให้สื่อทำหน้าที่เกินเลยจึงเป็นสิ่งจำเป็น แต่ การวิพากษ์วิจารณ์ก็ควรตั้งอยู่บนเหตุผล ข้อเท็จจริงของการทำหน้าที่สื่อ ว่าผิดพลาดอย่างไร ...
การวิพากษ์วิจารณ์ สื่อ โดยกล่าวหาว่า "สื่อ โง่ปกติ โง่บริสุทธิ์ พวกนิเทศศาสตร์ พวกสมองโง่โดยธรรมชาติ" จึงไม่ใช่เรื่องปรกติ เป็นทัศนคติ ที่ดูถูกเหยียดหยาม จนถึงระดับเหยียดหยามฐานะความเป็นมนุษย์ ลงไปเลย
และการวิจารณ์ในลักษณะอย่างนี้ เป็นสิ่งที่ไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ของ คนระดับ อาจารย์มีดีกรีถึงขึ้นรองอธิการบดีมหาวิทยาลัย เป็นการวิจารณ์ที่ขาดสติ ขาดความรับผิดชอบ บกพร่องทั้งวัยวุฒิ คุณวุฒิ ไม่สมกับฐานะความเป็นครูบาอาจารย์
การออกมาเขียนข้อความ ขอโทษ โดยอ้างอารมณ์ชั่ววูบ ขาดสติ ยิ่งสะท้อน ความบกพร่องของตัวเองอย่างไม่ต้องสงสัยใดๆ ทำให้คนสงสัยว่า ท่านยังมีความเหมาะสมในฐานะครูบาอาจารย์อยู่อีกหรือไม่.....?