ระวังตัดรากแก้ว สสส.-ไทยพีบีเอส จะเข้าทางการเมืองและบริษัทข้ามชาติ
กำลังเป็นที่จับตาว่าจะออกมาในรูปแบบใด สำหรับข้อเสนอของรองนายกรัฐมนตรี ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ต่อกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญแก้ไข ร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 190 และมาตรา 204 วรรค 2 เกี่ยวกับการใช้งบประมาณให้เป็นตามวินัยการเงินการคลัง โดยเปลี่ยนจากเงินอุดหนุนมาใช้ระบบงบประมาณปกติ ให้กับกองทุนสนับสนุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส) และกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ
เพราะในประเด็นดังกล่าวเมื่อมีข้อเสนอออกมา ก็มีเสียงคัดค้านและสนับสนุนออกมาพอสมควร สำหรับประเด็นที่มีการเสนอให้ยกเลือกการอุดหนุนโดยตรง มาเป็นใช้ระบบงบประมาณปกติ ทั้งนี้ เมื่อกลับไปตรวจสอบข่าวในเรื่องดังกล่าว ต้องยอมรับว่า เป็นกระแสขึ้นมาตั้งแต่ปีก่อน ในยุค น.ส.ดาวน้อย สุทธินิภาพันธ์ ที่รักษาการ ผอ.โรงงานยาสูบได้มีกระแสขึ้นมาว่า
"จะเสนอคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เปลี่ยนวิธีการจ่ายเงินอุดหนุนให้กับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย หรือสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส จากการจ่ายตรงมาเป็นการจัดสรรผ่านระบบงบประมาณเพื่อความโปร่งใสในการใช้จ่ายเงิน"
โดยน.ส.ดาวน้อยให้เหตุผลอีกว่า โรงงานยาสูบเห็นว่าขณะนี้เริ่มมีหลายหน่วยงานต้องการใช้เงินจากยาสูบ และเริ่มขอกันมามากขึ้น จึงต้องการให้กระทรวงการคลังช่วยดูแลการจ่ายเงิน แทนการหักเป็นเปอร์เซ็นต์จากภาษีสรรพสามิตเหมือนที่ทำอยู่ทุกวันนี้ เพราะโรงงานยาสูบเกิดความแคลงใจในด้านความโปร่งใสของการใช้เงิน เพื่อให้มีระบบการตรวจสอบมากขึ้น และอยากให้เข้าระบบการของบประมาณแบบหน่วยงานราชการ หรือกระทรวงการคลังจะหาแนวทางการจัดสรรเงินให้กองทุนดังกล่าวเองก็ได้..... (มติชน 2014-09-11)
จะเห็นได้ว่า มีการปูกระแสในเรื่องดังกล่าวมาเกือบ 1 ปีเต็มเพื่อเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว โดยประเด็นที่ต้องมองกันให้ชัดเจนก็คือ
โรงงานยาสูบ และ รองนายกรัฐมนตรี อ้าง การเปลี่ยนวิธีให้เงินอุดหนุน ซึ่งดึงมาจากการเก็บภาษีเพิ่มขึ้นจากบุหรี่ และสุรา มาเป็นให้จัดสรรผ่านงบประมาณแทน เพราะต้องการให้มีการตรวจสอบที่โปร่งใส และเป็นการรักษาวินัยทางการเงินการคลังในอนาคต
ในขณะกลุ่มที่คัดค้าน การแก้ไขวิธีการอุดหนุนโต้แย้งว่า ในเรื่องการตรวจสอบการใช้งบฯไม่ว่า สสส. และ ไทยพีบีเอส ต่างมีสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเข้ามาตรวจสอบการใช้จ่ายโดยละเอียดอยู่แล้ว และ ยังต้องไปรายงานต่อสภาอีกด้วย
การเสนอยกเลิกเงินอุดหนุนตรงที่เก็บเพิ่มจากเหล้า บุหรี่ จะเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อบริษัทข้ามชาติให้ได้ประโยชน์ในการเข้ามาทำตลาดให้สินค้าที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพขายได้มากยิ่งขึ้น ทั้งๆที่ สสส.พยายามนำเงินเหล่านั้นมารณรงค์ให้คนเลิกเหล้า เลิกบุหรี่ได้จำนวนมากทำให้รัฐประหยัดงบฯในส่วนที่ต้องนำมาดูแลปัญหาสุขภาพจากการดื่มสุรา และสูบบุหรี่ได้ปีได้ละหลายล้านบาท
ในขณะการดำเนินงานของ สื่อสาธารณะ อย่าง ไทยพีบีเอส หากไม่ได้รับเงินอุดหนุน หรือต้องผ่านกระบวนการของบประมาณจะเปิดโอกาสให้ฝ่ายการเมืองที่เข้ามาบริหารในขณะนั้นเข้ามาแทรกแซงการทำงานของสื่อได้
ทั้งนี้มีหลายฝ่ายที่ออกมาให้ความเห็นในประเด็นดังกล่าว โดยย้ำถึงประสิทธิภาพของการทำงานของหน่วยงานที่ได้รับเงินอุดหนุนว่า มีการดำเนินงานมีประสิทธิภาพสมกับเงินอุดหนุนจำนวนมากหรือไม่...
ต้องยอมรับว่า ในบางจุดในการดำเนินงานของ สสส.และ ไทยพีบีเอส ต่างมีจุดให้เกิดความสงสัยในบางช่วงบางครั้ง ว่ามีประสิทธิภาพจริงหรือไม่ แต่โดยภาพรวม เชื่อว่า หลักการสำคัญขององค์กรทั้งสอง ไม่ว่า สสส. และ ไทยพีบีเอส.. ถือว่ามีความสำคัญยิ่ง ที่ต้องรักษาและร่วมกันผลักดันให้องค์กรทั้งสองทำหน้าที่อย่างเข้มแข็งต่อไป
อะไรที่เป็นอุปสรรคควรขจัดเพื่อเปิดทางให้องค์กรทั้งทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์แบบ การป้องกันไม่ให้การเมืองเข้ามาแทรกแซง ครอบงำสื่อเหมือนช่วงหนึ่งในอดีต ไม่ควรให้เกิดขึ้นอีก และ องค์กรทั้งสองก็ต้องแสดงจุดยืนที่ชัดเจนว่าจะดำเนินการตามเป้าหมายให้ได้โดยไม่หวั่นไหว
ดังนั้น ส่วนตัวแล้วไม่เห็นด้วยกับการจะดึงเงินกลับไปและให้ขอตั้งงบประมาณ เพราะนั้นเปิดให้การเมืองแทรกแซงได้ง่ายยิ่ง หากจะแก้ไขปัญหาความโปร่งใสการใช้งบ ก็วางระบบเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดความโปร่งใสจะดีกว่า และที่สำคัญอย่าให้มีการลดทอนอำนาจขององค์กร ที่ต่อกรกับบรรษัทข้ามชาติ ที่ขายสินค้าทำลายล้าง ทำลายสุขภาพฯ โดยเด็ดขาด