เปิดใจ ตำรวจติดหนี้ ถูกฟ้องล้มละลาย

เปิดใจ ตำรวจติดหนี้ ถูกฟ้องล้มละลาย

เปิดใจ ตำรวจติดหนี้ ถูกฟ้องล้มละลาย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หลังมีตำรวจในสังกัดกองบัญชาตำรวจภูธรภาค 4 ถูกคดีฟ้องร้องล้มละลายและโดนคำสั่งให้ออกจากราชการจำนวน 5 นายนั้น วันนี้ตำรวจที่ถูกฟ้องล้มละลาย เปิดใจและจะขอความเป็นธรรมจากผู้บังคับบัญชา

วันนี้ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดอุดรธานี เดินทางไปที่ สภ.เมืองอุดรธานี พบกับ ดาบตำรวจคนหนึ่ง ซึ่งเป็น 1 ใน 5 ตำรวจที่มีคำสั่งให้ออกจากราชการ หลังจากศาลมีคำสั่งเป็นบุคคลล้มละลาย จากการกู้เงินของธนาคารออมสิน เดินทางมา เพื่อเซ็นรับทราบคำสั่งให้ออกจากราชการ

โดยดาบตำรวจคนดังกล่าว เปิดเผยว่า เมื่อวานเดินทางไปที่บังคับคดีที่ กทม. กับเพื่อนตำรวจอีกคนที่ล้มละลาย เพื่อยื่นเรื่องขอประนอมหนี้ หลังล้มละลาย โดยแสดงเจตนาจะชำระหนี้เต็มคือคนละ 1,200,000 บาท แต่จะเป็นการชำระก่อน 50% และที่เหลือหักจากเงินบำนาญ 30% ก็จะเหลือเงินเพื่อใช้จ่าย 70% หรือราว 23,000 บาทต่อเดือน

หวังว่าจะได้รับกรุณาจากศาล เพิกถอนคำสั่งล้มละลาย คาดกว่าอีกประมาณเดือนเศษน่าจะรู้เรื่อง และวันจันทร์จะยื่นเรื่องอุทธรณ์คำสั่ง ผู้บังคับบัญชาให้ออกจากราชการ เพราะเราไม่ได้รับความเป็นธรรม รวมไปถึงการเตรียมฟ้องร้องกับศาลปกครอง เพื่อให้กลับเข้ามารับราชการอีกครั้ง

ขณะที่ ดาบตำรวจอีกคนหนึ่ง สังกัด สภ.เมืองอุดรธานี ที่อยู่ในกลุ่มตำรวจล้มละลาย และจะต้องถูกออกจากราชการ แต่ศาลยังไม่มีคำสั่งให้ล้มละลาย เปิดเผยว่า ราว 4-5 ปีก่อนกู้เงินจากธนาคารออมสินมาใช้หนี้สินและปรับปรุงบ้าน 1 ล้านบาท

โดยมีเพื่อนตำรวจค้ำประกันกลุ่ม 3 คน และกู้คนละ 1 ล้านเช่นกัน ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ผ่อนชำระเดือนละ 9,200 บาท แต่มีเพียงคนเดียวมีปัญหาไม่ผ่อน จึงส่งผลให้ธนาคารฟ้องแพ่ง รวมทั้งการฟ้องล้มละลาย จึงไปปรึกษากับธนาคารฯ

และเดินทางไปกรมบังคับคดีที่ กทม.ได้รับคำแนะนำให้ไปหาหยิบยืมเงินมาได้ 350,000 บาท เอาไปวางไว้กับธนาคาร เพื่อขอเลิกค้ำเพื่อนตำรวจคนนั้น ขณะนี้รอส่วนกลางตัดสินใจ ขณะที่เพื่อนตำรวจอีกคนที่ผ่อนชำระอยู่ ไม่ได้ไปเดินเรื่องต่อ ทำให้ศาลมีคำสั่งล้มละลาย

พล.ต.ต.ชัยญัติ สายถิ่น ผบก.ภ.จว.อุดรธานี เปิดเผยว่า ในภาค 4 ตำรวจอุดรมีหนี้สินมากที่สุดใน 12 จังหวัด ได้มอบหมายให้ พ.ต.อ.สมเกียรติ เกิดจงรักษ์ รอง ผบก.ภ.จว.อุดรธานี เป็นประธานแก้ไขปัญหา ทำให้ปัญหาลดลงไปมาก ทั้งกลุ่มที่เริ่มขาดผ่อน, กลุ่มขาดผ่อนมานาน และกลุ่มถูกฟ้อง ซึ่งก็ต้องแก้ไขกันต่อไป

เมื่อศาลมีคำสั่งให้ตำรวจเป็นหนี้ล้มละลาย ทำให้ตำรวจนายนั้นขาดคุณสมบัติ จึงต้องมีคำสั่งให้ออกจากราชการ แต่หากตำรวจนายใดไปแก้ไขหนี้สิน จนศาลถอนคำสั่งล้มละลาย หากจะกลับเข้ารับราชการ เป็นอำนาจของ สนง.ตำรวจแห่งชาติ

พลตำรวจเอกสมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยถึงปัญหาหนี้สินข้าราชการตำรวจในพื้นที่ภาค 4 ที่พบ 5 นาย ถูกฟ้องล้มละลายและต้องออกจากราชการ ว่า ได้รับรายงานจาก ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 4 แล้ว เบื้องต้นพบ เป็นหนี้ธนาคารออมสิน และหนี้กู้ยืมใช้ส่วนตัว

นอกจากคดีสิ้นสุด 5 นาย ยังมีข้าราชการตำรวจที่เป็นหนี้อีกกว่า 10,000 ราย อยู่ในข่ายถูกดำเนินคดี 2,000 ราย และเข้าข่ายถูกฟ้องล้มละลาย 600 ราย ส่วนการสำรวจทั่วประเทศพบว่า ในแต่ละกองบัญชาการตำรวจภูธรพบว่า มีตำรวจกู้ยืมเงินภาคละ 20,000 คน และมีตำรวจที่เป็นหนี้สินอยู่ในข่ายถูกฟ้องล้มละลายอีกกว่า 2,000 ราย ตามระเบียบข้าราชการ เมื่อถูกฟ้องล้มละลายจะต้องออกจากราชการ ในส่วนของ 5 นาย ถือว่าคดีสิ้นสุดแล้ว อีก 600 นายอยู่ในขั้นตอนถูกฟ้องล้มละลาย

พลตำรวจเอกสมยศ กล่าวต่อว่า การกู้ยืมของตำรวจแต่ละนาย พบว่า กู้ยืมเงินเป็นหลักล้าน และปัญหาเหล่านี้มีมาตั้งแต่อดีต เกิดจากการทำสัญญาร่วมลงนามกู้ยืมกับธนาคารออมสินให้ตำรวจกู้ยืมและค้ำประกันระหว่างข้าราชการตำรวจด้วยกัน ทั้งที่ปกติกู้เงินจากสหกรณ์ตำรวจอยู่ แล้วทำให้เกิดการกู้ยืมซ้ำซ้อนจนไม่สามารถหาเงินมาผ่อนชำระได้

ที่ผ่านมาสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้เจ้าหหน้าที่สวัสดิการเข้าเจรจาไกล่เกลี่ยกับสถาบันการเงินแล้ว แต่ธนาคารไม่สามาถรถลดหย่อนหนี้สินหรือลดหย่อนใดๆ ให้ได้ เนื่องจากต้องเป็นไปตามระเบียบข้อบังคับของสถาบันการเงิน.-สำนักข่าวไทย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook