เราปล่อยให้ค้าปลีก ค้าส่งมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร..?
(ภาพประกอบจาก INN)
ในขณะที่ประเทศกำลังเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจซบเซา ทั้งจากปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก ทำให้ภาคธุรกิจและทุกภาคส่วนต้องปรับตัวรับมือกับภาวะเศรษฐกิจลงขาแบบนี้ มีปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจ เชิงโครงสร้าง ที่น่าสนใจน่าติดตามอย่างยิ่งก็คือ
"ยักษ์ใหญ่ของธุรกิจค้าส่งอย่าง แม็คโคร ได้ผุดโมเดลธุรกิจใหม่ เรียกว่า "แม็คโคร ฟู้ดเซอร์วิส" ซึ่งเป็นการย่อส่วน ห้างค้าส่งขนาดใหญ่ลงให้เหลือขนาดพื้นที่ 600 ตารางเมตร พร้อมปรับขนาดสินค้าลง อย่างเช่นน้ำดื่มแพ็คละ 6 ขวดเหลือเพียง 4 ขวด สินค้าถุงบรรจุ 5-6 กิโลกรัม ก็ปรับให้เล็กลงเป็น 1-2 กิโลกรัม เพื่อให้ลูกค้าสามารถซื้อได้ง่ายขึ้น และเร็ว ๆ นี้จะมีสินค้ากลุ่มผักสดและผลไม้เข้ามาเพิ่ม
นอกจากนี้ยังเปิดสาขาย่อยภายใต้แบรนด์ "สยามโฟรเซ่น" เพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าในกลุ่มอาหารแช่แข็งโดยเฉพาะ โดยใช้พื้นที่ขายประมาณ 150-200 ตร.ม. ในทำเลย่านตลาดสดที่เข้าถึงได้ง่าย เพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มผู้ประกอบการร้านอาหาร ภัตตาคารขนาดกลางถึงเล็ก อีกด้วย " (ข้อมูลจากประชาชาติธุรกิจ 10 ส.ค.58)
การขยายธุรกิจ ออกโมเดลธุรกิจใหม่เพื่อปรับตัว ถือเป็นเรื่องปกติทางธุรกิจ แต่ในกรณีนี้มีข้อมูลที่น่าสนใจว่า แม็คโคร หรือ สยามแม็คโคร ฯ เป็นหนึ่งในกิจการของกลุ่ม ซีพี กรุ๊ป โดยในปี 2556 "บมจ.ซีพี ออลล์" (CPALL) ของ "เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์" ตัดสินใจทุ่มเม็ดเงิน 188,880 แสนล้านบาทเพื่อซื้อหุ้น "บมจ.สยาม แม็คโคร" (MAKRO) บริษัท สยามแม็คโครโฮลดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท โอเอชที จำกัด ซึ่งเป็นที่ฮือฮา และถือเป็นดีลที่มีการซื้อขายสูงสุดในประวัติศาสตร์ของไทยดีลหนึ่ง
ปรากฏการณ์ครั้งนั้นทำให้เป็นที่จับตาและมีการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับระบบการค้า การขายของไทยว่า ทุกอย่างไม่ว่าระบบการค้าส่งและการค้าปลีกยักษ์ใหญ่กำลังอยู่ในมือของกลุ่มธุรกิจของกลุ่มทุนเดียวกัน จะเป็นการครองอำนาจในตลาดทั้งระบบหรือไม่
เพราะอย่างที่ทราบกัน ร้านค้าปลีกที่มีสาขามากที่สุดในประเทศ มีสาขานับหมื่นสาขาครอบคลุมทุกจังหวัดทุกพื้นที่ของประเทศอยู่ในกกลุ่มของ ซีพี เมื่อมีการซื้อหุ้นของแม็คโคร ซึ่งเป็นกลุ่มค้าส่งขนาดใหญ่ เข้ามา เท่ากับเป็นการคลอบคลุมกิจการการค้าทั้งระบบ ทั้งค้าปลีกและค้าส่งไว้ในมือกลุ่มทุนเดียวกัน
และไม่ต้องสงสัย ว่ากลุ่มสินค้าและบริการที่มีมากมายคลอบคลุมมากที่สุด มีตั้งตั้งแต่สินค้าขั้นต้น ที่เป็นวัตถุดิบ ยันสินค้าสำเร็จรูป อยู่ในกลุ่มของซีพีแทบทั้งสิ้น
การเปิดโมเดลธุรกิจของ แม็คโคร กลุ่มค้าปลีกขนาดใหญ่ที่เป็นหนึ่งในเครือข่ายธุรกิจของกลุ่มซีพี ด้วยการแตกย่อยสาขา บุกตลาดเจาะกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ในทุกพื้นที่ ย่อมทำให้การคลอบคลุมของธุรกิจในกลุ่มซีพี คลอบคลุมตลาดเกือบทุกพื้นที่ ทุกตลาด เรียกได้ว่า ทุกการค้าอยู่ในมือของกลุ่มธุรกิจที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในปัจจุบัน
นับจากนี้ไปจึงน่าจับตาว่า ธุรกิจรายเล็กรายน้อย หรือร้านค้าโชว์ห่วยในประเทศไทย จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรต่อไปในอนาคต ที่ผ่านมาอย่างที่ทราบกันว่า ร้านโชว์ห่วยมีการล้มหายตายจากไปจำนวนมาก หรือต้องดิ้นรนอย่างหนักเพื่อรับกับการแข่งขันจากร้านค้าปลีกสะดวกซื้อ ที่ขยายสาขาบุกตลาดในแถบทุกพื้นที่
เมื่อร้านค้าส่งจากกลุ่มทุนขนาดใหญ่ขยับ แตกย่อยสาขาเจาะพื้นที่ เจาะกลุ่มธุรกิจมากขึ้น กลุ่มทุนท้องถิ่นทุนย่อย ทุนเล็กทุนน้อยจะรับมืออย่างไร....?
แต่ที่สำคัญ คือ ในขณะที่เรากำลังปฏิรูปประเทศในทุกๆ ด้าน มีการพูดถึงการค้าที่เป็นธรรม มีการพูดถึงกฎหมายเกี่ยวกับอำนาจเหนือตลาด เราปล่อยให้ระบบเศรษฐกิจ ระบบการค้าการขายของไทยมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร.....?
โดย...เปลวไฟน้อย