อย่าเพิ่มหนี้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอีกเลย ?

อย่าเพิ่มหนี้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอีกเลย ?

อย่าเพิ่มหนี้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอีกเลย ?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

น่าสนใจครับ ว่า กระทรวงการคลังโดย กรมสรรพสามิต จะปรับหลักเกณฑ์ โครงการรถยนต์คันแรก หรือไม่ ? ตามรายงานข่าวล่าสุด เห็นว่ารัฐมนตรีคลังคนใหม่ ลงมาเล่นเอง เร่งให้กรมสรรพสามิตสรุปเรื่อง ต้องการให้มีการปรับหลักเกณฑ์ ในส่วนของ เงื่อนไขการครอบครองรถตามโครงการ เดิม ผู้ใช้สิทธิต้องถือไว้จำนวน 5 ปีห้ามขายเปลี่ยนมือ จึงจะได้รับสิทธิคืนภาษีสูงสุด 1 แสนบาท

สำหรับเหตุผลตามรายงานข่าว ซึ่งอ้างแหล่งข่าวในวงการอุตสาหกรรมยานยนต์ เปิดเผยถึงความพยายามในการปรับเงื่อนไข ก็เพราะต้องการ กระตุ้นยอดขายรถยนต์ใหม่ เนื่องจากปีนี้ ยอดขายรถยนต์ในประเทศตกต่ำมากและมียอดขายเพียง 7 แสนคัน จากปกติเคยขายได้ 1 ล้านคัน

หากลดถือครองเหลือ 3 ปี จะมีรถยนต์ 6-7 แสนคันได้รับประโยชน์ และทำให้ผู้ที่ถือครองขายรถเก่ามาซื้อรถยนต์ใหม่ประมาณ 10% หรืออีก 6-7 หมื่นคัน จะช่วยกระตุ้นยอดขายรถยนต์ในประเทศช่วงปลายปีนี้ได้มาก

อย่างไรก็ตาม ในชั้นนี้ทางกรมสรรพสามิต ขอศึกษาผลดีผลเสียก่อนจะสรุปให้กับรัฐมนตรีคลังพิจารณาอีกครั้ง แต่พอเปิดประเด็นนี้ขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากมีความพยายามมาก่อนหน้าเกี่ยวกับการปลดล็อคเงื่อนไขเวลาโครงการ โดยข้ออ้างเพื่อกระตุ้นกำลังซื้อในประเทศ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ คำถามในหลายประเด็นจึงเกิดขึ้น

หาก รัฐมนตรีคลัง ต้องการปลดล็อค เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อ รถยนต์จริง จะส่งผลอย่างไร...แน่นอนว่า การเร่งกำลังซื้อในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ จะส่งผลต่อตัวเลข จีดีพี ได้ชัดเจน เพราะ สินค้ารถยนต์เป็นสินค้าที่มีมูลค่าสูง ต่อหน่วย ราคาไม่ต่ำกว่า 4 แสนบาท ซึ่งคำประกาศของหัวหน้าทีมเศรษฐกิจที่บอกว่าอย่าไปสนใจตัวเลข จีดีพีมาก ก็ไม่เป็นความจริง การผลักดันกำลังซื้อจากภาครถยนต์ส่งผลต่อ จีดีพีแน่นอน...

แต่ สิ่งที่เกิดขึ้น ที่ต้องตั้งคำถามคือ การหนุนกำลังซื้อจากภาคนี้ โดยการลดเงื่อนไข ให้ขายปล่อยมือรถในโครงการได้เร็วขึ้นรัฐเสียอะไรหรือไม่ บางคนมองว่า ก็ไม่ได้เสียอะไรเพิ่ม เพราะ ภาษีก็คืนไปแล้ว ตามเงื่อนไขคือ ต้องครอบครอง 1 ปีจึงได้คืนภาษี การลดเงื่อนไข ครอบครอง 5 ปี มาเป็น 3 ปี จึงขายเปลี่ยนมือได้ไม่เห็นจะเสียหายตรงไหนเพิ่ม เพียงแต่ทำให้เกิดความคล่องตัวในการขายเปลี่ยนมือเกิดขึ้นเท่านั้น

แน่นอนหากมองตัวเม็ดเงินที่จะสูญเสียเพิ่มจากการลดเงื่อนไข ไม่ได้สูญเสียเพิ่ม แต่ถามว่าเป็นธรรมและเหมาะสมหรือไม่ เป็นการวางแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนหรือไม่

การออกมาตรการ อัดฉีดเงินผ่านกองทุนหมูบ้าน ปล่อยกู้โดยไม่มีดอกเบี้ย ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากทีดีอาร์ไอ ว่าไม่เหมาะสมเพราะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการเพิ่มหนี้ให้ประชาชนซึ่งจะสร้างปัญหาในอนาคต ปัจจุบันหนี้ครัวเรือนเป็นตัวเลขที่น่ากังวล ธนาคารแห่งประเทศไทยเฝ้าระวังและเตือนสถาบันการเงินให้ระมัดระวังในเรื่องดังกล่าวมาโดยตลอด

การปลดล็อคเพื่อให้คนใช้สิทธิรถคันแรกสามารถขายเปลี่ยนมือ เพื่อซื้อรถคันใหม่ รุ่นใหม่ได้ หมายความว่า เขาเหล่านั้นก็จะสร้างหนี้เพิ่มขึ้นมาใหม่ในขณะที่หนี้เดิมยังไม่หมดไป ...

และถามว่าคุ้มค่าหรือไม่กับที่รัฐต้องสูญเสียเม็ดเงินจากภาษีที่ใช้ในโครงการรถยนต์คันแรกไปเกือบแสนล้านบาท ในการทำโครงการ เป็นเงินจำนวนมหาศาล เป็นเงินที่สามารถนำมาพัฒนาวางโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ สร้างรถไฟฟ้า เพื่อแก้ปัญหาจราจร เพิ่มประสิทธิภาพระบบขนส่งมวลชนไปอย่างน้อย สองเส้นทาง

ปัจจุบันจำนวนรถยนต์ที่ออกมาตามโครงการรถคันแรกได้สร้างปัญหาจราจร อย่างมาก ทำให้มีการใช้พลังงานอย่างฟุ่มเฟือย การออกโครงการรถยนต์คันแรกสร้างความเหลื่อมล้ำ ให้กับคนในสังคมอย่างมาก เพราะคนที่ได้ประโยชน์จากโครงการรถคันแรก มีเพียงจำนวนน้อย ในขณะคนจำนวนมากไม่ได้ประโยชน์ใดๆ จากโครงการเลย และยังต้องได้รับผลกระทบจากปัญหามลพิษ ปัญหาจราจรตามที่ยกมาข้างต้นอีกด้วย

ดังนั้น หากกระทรวงการคลังจะปรับเงื่อนไขเพื่ออำนวยประโยชน์ให้กับโครงการรถยนต์คันแรก เพื่อเพิ่มกำลังซื้อให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ กระตุ้นจีดีพี เพื่ออวดอ้างผลงาน ต้องตอบคำถาม คนที่ได้ได้ประโยชน์จากรถยนต์คันแรกทั้งหมดว่า เป็นธรรมกับพวกเขาอย่างไร..เขาได้ประโยชน์อะไรบ้าง.?

โดย...เปลวไฟน้อย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook