ปล่อยตัว "ประวิตร โรจนพฤกษ์" นักข่าวอาวุโส แล้ว หลังทหารคุมตัว ปรับทัศนคติ
(15 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวอาวุโสเครือเดอะเนชั่น ซึ่งถูกทหารควบคุมตัวตั้งแต่บ่ายวันอาทิตย์ (13 ก.ย.) ที่ผ่านมา โดยไม่ทราบสถานที่และระยะเวลาควบคุมตัว และไม่อนุญาตให้นำโทรศัพท์ติดตัวไปด้วย
โดยก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่ได้ติดต่อนายประวิตร เพื่อขอเชิญไปพบที่กองบัญชาการกองทัพภาคที่ 1 ถนนราชดำเนิน เวลา 15.30 น. ก่อนจะถูกนำตัวออกจากกองบัญชาการกองทัพภาคที่ 1 โดยไม่ทราบว่าถูกควบคุมตัวอยู่ที่ไหน
ล่าสุด เมื่อเวลาประมาณ 16.00 น. นายประวิตร ได้รับการปล่อยตัว ที่กองบัญชาการกองทัพภาคที่ 1 โดยเขากล่าวเพียงสั้นๆว่า "โอเค" ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ อย่างไรก็ตามเมื่อถามถึงการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ในระหว่างควบคุมตัว เขาตอบแต่เพียงว่าต่างไปจากครั้งแรกที่ถูกควบคุมตัว และครั้งนี้เขาไม่รู้ว่าถูกนำตัวไปควบคุมไว้ที่ใด
ทั้งนี้เมื่อถามถึงสาเหตุของการถูกควบคุม เขาตอบว่าตามเข้าใจของเขาน่าจะมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับบทความบางชิ้นที่วิพากษ์วิจารณ์หน่วยงานความมั่นคงซึ่งเขายืนยันได้ว่าเขาไม่ได้เป็นผู้เขียนและไม่ใช่ประเด็นที่เขาสนใจและอีกสาเหตุหนึ่งก็อาจเกี่ยวข้องกับข้อความที่เขาโพสต์ผ่านโซเชียลมีเดียบางข้อความ
อย่างไรก็ตามในส่วนการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์นั้นเขาตอบว่าในเบื้องต้นไม่มีการห้าม หรือขอให้เขายุติการแสดงความเห็นแต่อย่างใด จากนี้พร้อมกลับไปทำหน้าที่ผู้สื่อข่าวตามปกติ (อ้าง : บีบีซีไทย)
ก่อนหน้านี้ พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณีที่กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) เชิญ นายประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวอาวุโสหนังสือพิมพ์เนชั่นว่า ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของการนำเสนอข้อมูลที่ไม่เป็นไปตามแนวทางการรักษาความสงบเรียบร้อย ซึ่งในช่วงหลังเริ่มพบบ่อยครั้ง
โดยบางครั้งอาจมีเนื้อหาที่มีลักษณะเข้าข่ายไปพาดพิงบุคคลหรือองค์กรอื่น หรือในเนื้อหาที่อาจส่งผลให้สังคมสับสนเข้าใจผิดได้ โดยเฉพาะในบางสิ่งบางอย่างพบว่ายังไม่มีข้อพิสูจน์ใดๆที่ชัดเจน ซึ่งขณะนี้คงอยู่ในระหว่างการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ ส่วนจะใช้เวลาเท่าไรต้องขึ้นอยู่กับผลสอบสวน การให้ความร่วมมือ และหลักฐานที่เจ้าหน้าที่มีอยู่
พ.อ.วินธัย กล่าวต่อว่า ตนเชื่อว่าทุกขั้นตอนทางเจ้าหน้าที่ปฏิบัติด้วยความบริสุทธิ์ใจ และเป็นไปตามพยานหลักฐานที่พบอย่างมีเหตุมีผล ทั้งนี้เพื่อให้การนำเสนอข้อมูลต่างๆ ไม่นำไปสู่ความสับสนหรือเกิดความขัดแย้งของบุคคล กลุ่มหรือองค์กรต่างๆ ในสังคม
ทาง คสช.จำเป็นต้องขอความร่วมมือทุกส่วน อะไรที่สุ่มเสี่ยงต่อการทำให้เกิดความไม่เรียบร้อยขึ้นในสังคม ยังคงต้องระมัดระวังให้มาก เพื่อให้สังคมมีความเรียบร้อย และสนับสนุนกระบวนการเดินหน้าประเทศมีความต่อเนื่อง
ขณะที่ สมาคมนักข่าวฯ ได้มีการออกแถลงการณ์ก่อนหน้านี้ เรียกร้อง ให้รัฐบาล และ คสช. ให้รายละเอียดที่ชัดจันต่อประเด็นดังกล่าว เพราะทำให้กระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศ